หมอแอมป์เตือน! โรคอ้วน วิกฤตสุขภาพระดับโลก กรุงเทพฯ ครองแชมป์

หมอแอมป์เตือน! โรคอ้วน วิกฤตสุขภาพระดับโลก กรุงเทพฯ ครองแชมป์อ้วนสูงสุดในไทย
โรคอ้วน (Obesity) ไม่ใช่เพียงปัญหาความสวยงามหรือรูปร่าง แต่เป็นภัยเงียบที่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และมะเร็งบางชนิด อีกทั้งยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและภาระทางเศรษฐกิจของประเทศ

นายแพทย์ตนุพล วิรุฬหการุญ หรือ คุณหมอแอมป์ ประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก และนายกสมาคมแพทย์ฟื้นฟูสุขภาพและส่งเสริมการศึกษาโรคอ้วน กรุงเทพ (BARSO) เผยว่าโรคอ้วนเป็นปัญหาสาธารณสุขที่รุนแรง โดยเฉพาะในประเทศไทยที่อัตราความชุกของภาวะอ้วนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขปี 2566 ระบุว่า ประชากรไทยมีปัญหาน้ำหนักเกินและอ้วนถึง 48.35% โดยกรุงเทพมหานครมีอัตราความชุกสูงสุดถึง 56.4% รองลงมาคือภาคเหนือและภาคใต้

ในระดับโลก รายงานจาก The Lancet พบว่าปี 2022 มีประชากรมากกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากโรคอ้วน และคาดการณ์ว่าในปี 2035 ตัวเลขนี้จะเพิ่มเป็น 3.3 พันล้านคน หรือ 54% ของประชากรโลกปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคอ้วน





- การบริโภคอาหารที่ให้พลังงานสูงแต่ขาดคุณค่าทางโภชนาการ เช่น อาหารแปรรูปและน้ำตาลสูง
- พฤติกรรมเนือยนิ่ง (Sedentary lifestyle) การขาดการออกกำลังกาย
- ปัจจัยทางพันธุกรรมและกระบวนการเหนือพันธุกรรม (Epigenetics) ที่ส่งผลต่อการเผาผลาญและการสะสมไขมัน
- ความไม่สมดุลของฮอร์โมน เช่น ภาวะดื้อต่อเลปติน (Leptin Resistance) และการหลั่งเกรลิน (Ghrelin) มากผิดปกติ ทำให้รู้สึกหิวอยู่ตลอดเวลา
3 แนวทางแก้ไขด้วยหลัก Lifestyle Medicine - ปรับพฤติกรรมการกิน: เน้นอาหารที่มีใยอาหารสูง ลดน้ำตาลและไขมันทรานส์ เพิ่มโปรตีนที่มีประโยชน์
- เพิ่มกิจกรรมทางกาย: ขยับร่างกายให้มากขึ้น ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- จัดการความเครียดและนอนหลับให้เพียงพอ: เพราะความเครียดและการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอส่งผลต่อระดับฮอร์โมนความหิวและอิ่ม
เนื่องใน วันอ้วนโลก (World Obesity Day) วันที่ 4 มีนาคมของทุกปี คุณหมอแอมป์เชิญชวนให้ทุกคนร่วมมือกันแก้ปัญหาโรคอ้วน เริ่มต้นจากตัวเราและขยายไปสู่ครอบครัว ชุมชน และสังคม เพื่อสร้างสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน