กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เดินหน้าจัดต่อเนื่อง เวทีสัมมนา 4 ภาคฯ ปักหมุดอยุธยา

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เดินหน้าจัดต่อเนื่อง เวทีสัมมนา 4 ภาคฯ ปักหมุดอยุธยา สร้างเครือข่ายสื่อชุมชนภาคกลางให้เข้มแข็ง

ผ่านไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับเวทีสัมมนา 4 ภาค “ขับเคลื่อนเครือข่ายสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สู่ชุมชน สร้างสังคมเข้มแข็ง” ปีที่ 2 ครั้งที่ 1 ที่จังหวัดพิษณุโลก กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน เผยผลตอบรับเกินคาด มีเครือข่ายสื่อชุมชนระดับภูมิภาคในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง กว่า 50 เครือข่ายเข้าร่วมงาน ทั้งผู้ผลิตสื่อมืออาชีพ สื่อท้องถิ่น สื่อทางเลือกและหน่วยงานที่ใช้สื่อเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนปัญหาและพัฒนาสังคม เตรียมเดินหน้าจัดต่อเนื่องครั้งที่ 2 ในพื้นที่ภาคกลาง ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2567 ณ โรงแรมคลาสสิค คามิโอ อยุธยา

นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์  ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อสารมวลชน ประธานอนุกรรมการเกี่ยวกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการว่า “เป็นเวทีแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ร่วมกันระหว่างคนทำสื่อในหลากหลายรูปแบบ  ซึ่งเป็นผู้ที่ใช้สื่อขับเคลื่อนสังคมในมิติต่าง ๆ ทุกคน ทุกสื่อ คือเครือข่ายสำคัญในการขับเคลื่อนสังคม การจับมือรวมพลังกันจะสามารถขับเคลื่อนงานไปได้ด้วยดีและรวดเร็วขึ้น เครือข่ายสื่อชุมชนเปรียบเหมือนกิ่งก้านสาขาของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ คาดหวังเวทีสัมมนา 4 ภาคฯ จะสามารถขยายผล สร้างเครือข่ายสื่อทั่วทุกภูมิภาคของไทย เพื่อช่วยให้ประชาชนผู้รับสื่อมีความรู้เท่าทันสื่อ ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ”

เครือข่ายกลุ่มเป้าหมายของเวทีสัมมนา 4 ภาคฯ ได้แก่ ผู้ผลิตสื่อมืออาชีพ สื่อท้องถิ่น สื่อทางเลือกและหน่วยงานที่ใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนปัญหาและพัฒนาสังคม รวมถึงเครือข่ายด้านวัฒนธรรม  สิ่งแวดล้อม เครือข่ายเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน เครือข่ายคนพิการและผู้สูงวัย และกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ โดยงานนี้จัดทั้งหมด 4 ภูมิภาค 4 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือตอนล่างที่จังหวัดพิษณุโลก ภาคกลางที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนที่จังหวัดนครพนม และภาคใต้ตอนบนที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามลำดับ

อีกทั้งคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ยังได้เข้าร่วมงานดังกล่าวด้วย นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.สุนทรี ทับทิมไทย ชัยสัมฤทธิ์โชค ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคุ้มครองผู้บริโภค รองประธานคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งชี้แจ้งว่า กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีแนวทางสนับสนุนการทำงานของเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง คาดหวังการสร้างเครือข่ายครั้งนี้ จะนำไปสู่การผลิตสื่อเพื่อสังคมต่อไป

ภายในงาน มีบรรยายพิเศษ หัวข้อ “10 ปี กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงสู่เส้นทางอนาคต” บรรยายโดย ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และหัวข้อ “คิด เขียน ข้อเสนอโครงการฯ ขับเคลื่อนและพัฒนาเครือข่ายสื่อฯ ที่ยั่งยืน” บรรยายโดย ดร. ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

สำหรับเวทีเสวนา “แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ร่วมกันสร้างนิเวศสื่อปลอดภัยสู่สังคม” ในพื้นที่ภาคกลาง ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่เป็นกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จ หรือ Success Cases มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ประกอบไปด้วย วิทยากรทั้งหมด 4 ท่าน ได้แก่  

ผศ. ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม รองคณบดีวิชาการ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายประกาศ เปล่งพานิชย์ คณะทำงาน/เลขานุการ คณะทำงานบริหารและหน่วยเลขานุการกิจสมัชชาสุขภาพ จังหวัดปทุมธานี  คุณพวงเพชร สุพาวาณิชย์ ผู้รับทุนโครงการมะปรางหวานกับบ้านบินได้และโครงการมหัศจรรย์เมล็ดพันธุ์เหนือมิติ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์   และ นายอภินันท์ บัวหภักดี ช่างภาพสารคดี นักคิดและนักเขียนที่สนใจเรื่องชาติพันธุ์เป็นพิเศษ

นอกจากนั้น ภาคการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ นำโดยวิทยากรกระบวนการ คุณฐาณิชชา ลิ้มพานิช  กรรมการบริษัท ส่งเสริมพ่อแม่เพื่อสังคม จำกัด ภายใต้วัตถุประสงค์ “จะทำอย่างไรให้เกิดการขับเคลื่อนเครือข่ายสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ให้ทันสถานการณ์และยั่งยืนได้ในท้องถิ่น?” โดยมีบรรยายพิเศษและจับกลุ่มระดมความคิด ภายใต้หลักการ “Problem-based Design” ตั้งเป้าหมายจะแก้ปัญหาสังคมเรื่องใด หลักการและเหตุผลคืออะไร วัตถุประสงค์ เป้าหมายหรือความคาดหวัง กลุ่มเป้าหมายคือใคร แผนการดำเนินงาน (ขั้นตอน / สื่อและช่องทางการเผยแพร่ / ระยะเวลา/ สถานที่) งบประมาณ การติดตามและประเมินผลโครงการเป็นอย่างไร

สามารถติดตามรายละเอียดของงานเวทีสัมมนา 4 ภาค “ขับเคลื่อนเครือข่ายสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สู่ชุมชน สร้างสังคมเข้มแข็ง” ปีที่ 2 ได้ที่ เฟซบุ๊กเพจ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ https://www.thaimediafund.or.th/

About Author