ขบวนพาเพรด “บางกอกไพรด์” ที่ กรุงเทพฯ มีกิจกรรมอะไรบ้าง?
สำหรับ ประเทศไทย ปีนี้ ได้จัดกิจกรรมร่วมเฉลิมฉลอง Pride Month ภายใต้ชื่องาน Bangkok Pride 2023 ใน วันอาทิตย์ที่ 4 มิ.ย.นี้ที่จะถึง โดยเริ่มตั้งขบวนเวลา 14.00 น. และเคลื่อนขบวนเวลา 16.00 น. โดย ไพรด์พาเหรด จะเริ่มจากแยกปทุมวันไปสิ้นสุดที่แยกราชประสงค์ (ถนนพระราม 1) ความยาว 1.5 กิโลเมตร เมื่อเดินขบวนเสร็จจะมีไฮไลต์อยู่ที่ Pride Stage ที่จะมีกิจกรรมมากมาย เช่น ถ้อยคำแถลงชุมชนเพศหลากหลาย ถ้อยแถลงกรุงเทพมหานคร การแสดงจากแดร็กควีน และมินิคอนเสิร์ตจากศิลปิน LGBTQ+
โดยจะขับเคลื่อน 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
- การรับรองเพศสภาพ (Gender Recognition)
- สมรสเท่าเทียม (Marriage Equality)
- สิทธิของ Sex Workers (Sex Work Rights) และ
- สวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับ LGBTQ+ (Equal Right to Health)
ส่วน รูปแบบขบวนพาเหรดในปีนี้จะประกอบด้วย 6 ขบวนตามสีในธงไพรด์ และนอกจากการขับเคลื่อนความเท่าเทียมในประเด็นต่าง ๆ แล้ว ความน่าสนใจในปีนี้คือ แต่ละขบวนจะมีดนตรีประจำขบวนเพื่อเป็นการสร้างสีสัน ซึ่งหัวขบวนจะนำโดยวงโยธวาทิตและ ขบวนธงไพรด์ ความยาว 144.8 เมตร (มาจากมาตรา 1448 ที่เนื้อหาว่าด้วยการสมรสเท่าเทียม) ถือเป็น “ธงไพรด์ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย” เย็บโดยคนในคอมมูนิตี้ LGBTQ+ สามารถแยกชิ้นได้เพื่อส่งต่อไปยังคอมมูนิตี้อื่น ๆ โดยคัดเลือก 6 แนวดนตรีที่ในประวัติศาสตร์เคยเป็นสัญลักษณ์ของความขบถ เช่น ฮิปฮอป หมอลำ ร็อก แจ๊ส หรือแม้แต่เพลงป็อปโดยศิลปินยุคปัจจุบันที่มีความขบถต่อกฎเกณฑ์ในสังคม
ขบวนสีม่วง แสดงถึงความเป็นชุมชนอันแข็งแกร่งของชาว LGBTQ+ ชูประเด็นการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ มาพร้อมกับแนวเพลงป็อป
ขบวนสีน้ำเงิน ว่าด้วยแนวคิด My Body my Choice ที่ต้องการรณรงค์ให้ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีเพื่อคืนสิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพให้กับพนักงานบริการทางเพศ รวมถึงสนับสนุนเซ็กซ์ทอยให้ถูกกฎหมาย สนับสนุนการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษา และรณรงค์สิทธิในเนื้อตัวร่างกายเพื่อยุติวัฒนธรรมการข่มขืนและความรุนแรงในครอบครัว ขบวนนี้จะเป็นแนวเพลงฮิปฮอป
ขบวนสีเขียว จะรณรงค์ให้สังคมเปิดกว้างและยอมรับความหลากหลายของคำนิยามของความสัมพันธ์และครอบครัว เพื่อนำไปสู่การรับรองสิทธิการก่อตั้งครอบครัวในกฎหมายสมรสเท่าเทียม สร้างสีสันด้วยแนวเพลงหมอลำ
ต่อด้วย ขบวนสีเหลือง กับแนวเพลงแจ๊ส บลูส์ เพื่อรณรงค์การปกป้องและคุ้มครองสิทธิของโลกและทรัพยากรธรรมชาติเพื่ออนาคตที่เท่าเทียมและเป็นธรรมสำหรับทุกคน
ขบวนสีส้ม มาพร้อมกับแนวเพลง K-POP T-POP และ J-POP จะพูดถึงสิทธิในการเข้าถึงการบริการทางการแพทย์สำหรับทุกเพศและเรียกร้องสวัสดิการการยืนยันเพศ (Gender-affirming Care) สำหรับบุคคลข้ามเพศ
ปิดท้ายด้วย ขบวนสีแดง กับแนวเพลงร็อก ที่มาพร้อมแนวคิดหลักเรื่องการยืนยันถึงสิทธิในการที่มีความปลอดภัยในชีวิต เสรีภาพในการแสวงหาความสงบสุขทางจิตวิญญาณของ LGBTQ+ และการเปิดกว้างทางศาสนาสำหรับทุกเพศ ผ่านการสนับสนุนและอำนวยความสงบสันติจากทุกภาคส่วน