ความเป็นมาและความสำคัญของ “วันวิสาขบูชา” ๒๕๖๖

วันวิสาขบูชา ๒๕๖๖ วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และเป็นวันหยุดราชการของไทย ซึ่งประวัติวันวิสาขบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน มาบรรจบกัน ในวันนี้พุทธศาสนิกชนจะไปทำบุญ ตักบาตร เวียนเทียนที่วัด และจะมีสักกี่คนที่ทราบความเป็นมาและความสำคัญของวันวิสาขบูชา

ความหมายของวันวิสาขบูชา

คำว่า วิสาขบูชา ย่อมาจากคำว่า “วิสาขปุรณมีบูชา” แปลว่า “การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ” ดังนั้น วิสาขบูชา จึงหมายถึง การบูชาในวันเพ็ญ เดือน ๖

การกำหนดวันวิสาขบูชา

 วันวิสาขบูชา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งมักจะตรงกับเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายน แต่ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือน ๘ สองหน ก็เลื่อนไปเป็นวันขึ้น ๑๔ ค่ำ กลางเดือน ๗ หรือราวเดือนมิถุนายน

อย่างไรก็ตาม ในบางปีของบางประเทศอาจกำหนด วันวิสาขบูชา ไม่ตรงกับของไทย เนื่องด้วยประเทศเหล่านั้นอยู่ในตำแหน่งที่ต่างไปจากประเทศไทย ทำให้วัน-เวลาคลาดเคลื่อนไปตามเวลาของประเทศนั้น ๆ

ประวัติวันวิสาขบูชาและความสำคัญของวันวิสาขบูชา

 วันวิสาขบูชา ถือเป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่เกิด ๓ เหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวียนมาบรรจบกันในวันเพ็ญ เดือน ๖ แม้จะมีช่วงระยะเวลาห่างกันนับเป็นเวลาหลายสิบปี ซึ่งเหตุการณ์อัศจรรย์ ๓ ประการ ได้แก่…

๑. วันวิสาขบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ

          เมื่อพระนางสิริมหามายา พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงพระครรภ์แก่จวนจะประสูติ พระนางแปรพระราชฐานไปประทับ ณ กรุงเทวทหะ เพื่อประสูติในตระกูลของพระนางตามประเพณีนิยมในสมัยนั้น ขณะเสด็จแวะพักผ่อนพระอิริยาบถใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินีวัน พระนางก็ได้ประสูติพระโอรส ณ ใต้ต้นสาละนั้น ซึ่งตรงกับวันเพ็ญ เดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี ครั้นพระกุมารประสูติได้ ๕ วัน ก็ได้รับการถวายพระนามว่า “สิทธัตถะ” แปลว่า “สมปรารถนา”

          เมื่อข่าวการประสูติแพร่ไปถึงอสิตดาบส ๔ ผู้อาศัยอยู่ในอาศรมเชิงเขาหิมาลัย และมีความคุ้นเคยกับพระเจ้าสุทโธทนะ ดาบสจึงเดินทางไปเข้าเฝ้า และเมื่อเห็นพระราชกุมารก็ทำนายได้ทันทีว่า นี่คือผู้จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงกล่าวพยากรณ์ว่า “พระราชกุมารนี้จักบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ เห็นแจ้งพระนิพพานอันบริสุทธิ์อย่างยิ่ง ทรงหวังประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก จะประกาศธรรมจักรพรหมจรรย์ของพระกุมารนี้จักแพร่หลาย” แล้วกราบลงแทบพระบาทของพระกุมาร พระเจ้าสุทโธทนะทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์นั้นทรงรู้สึกอัศจรรย์และเปี่ยมล้นด้วยปีติ ถึงกับทรุดพระองค์ลงอภิวาทพระราชกุมารตามอย่างดาบส

๒. วันวิสาขบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

          หลังจากออกผนวชได้ ๖ ปี จนเมื่อพระชนมายุ ๓๕ พรรษา เจ้าชายสิทธัตถะก็ทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในตอนเช้ามืดของวันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี ปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหารของอินเดีย

สิ่งที่ตรัสรู้ คือ อริยสัจ ๔ เป็นความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปที่ต้นมหาโพธิ์ และทรงเจริญสมาธิภาวนาจนจิตเป็นสมาธิได้ฌานที่ ๔ แล้วบำเพ็ญภาวนาต่อไปจนได้ฌาน ๓ คือ

          – ยามต้น : ทรงบรรลุ “ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ” คือ ทรงระลึกชาติในอดีตทั้งของตนเองและผู้อื่นได้
          – ยามสอง : ทรงบรรลุ “จุตูปปาตญาณ” คือ การรู้แจ้งการเกิดและดับของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ด้วยการมีตาทิพย์สามารถเห็นการจุติและอุบัติของวิญญาณทั้งหลาย
          – ยามสาม หรือยามสุดท้าย : ทรงบรรลุ “อาสวักขยญาณ” คือ รู้วิธีกำจัดกิเลสด้วย อริยสัจ ๔ (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในคืนวันเพ็ญ เดือน ๖ ซึ่งขณะนั้นพระพุทธองค์มีพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา

๓. วันวิสาขบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน (ดับสังขารไม่กลับมาเกิดสร้างชาติ สร้างภพอีกต่อไป)

          เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้และแสดงธรรมเป็นเวลานานถึง ๔๕ ปี จนมีพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ได้ประทับจำพรรษา ณ เวฬุคาม ใกล้เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ในระหว่างนั้นทรงพระประชวรอย่างหนัก ครั้นเมื่อถึงวันเพ็ญ เดือน ๖ พระพุทธองค์กับพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายก็ไปรับภัตตาหารบิณฑบาตที่บ้านนายจุนทะ ตามคำกราบทูลนิมนต์ พระองค์เสวยสูกรมัททวะที่นายจุนทะตั้งใจทำถวายก็เกิดอาพาธ แต่ทรงอดกลั้นมุ่งเสด็จไปยังเมืองกุสินารา ประทับ ณ ป่าสาละ เพื่อเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน

          เมื่อถึงยามสุดท้ายของคืนนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงประทานปัจฉิมโอวาทว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันว่าสังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด” หลังจากนั้นก็เสด็จเข้าดับขันธ์ปรินิพพานในราตรีเพ็ญ เดือน ๖ นั้น    

ประวัติความเป็นมาของวันวิสาขบูชาในประเทศไทย

          ปรากฏหลักฐานว่า วันวิสาขบูชา เริ่มต้นครั้งแรกในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี สันนิษฐานว่าได้รับแบบแผนมาจากลังกา นั่นคือเมื่อประมาณ พ.ศ. ๔๒๐ พระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา จากนั้นกษัตริย์ลังกาพระองค์อื่น ๆ ก็ปฏิบัติประเพณีวิสาขบูชานี้สืบทอดต่อกันมา

   ส่วนการเผยแผ่เข้ามาในประเทศไทยนั้น น่าจะเป็นเพราะประเทศไทยในสมัยกรุงสุโขทัยมีความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนากับประเทศลังกาอย่างใกล้ชิด เห็นได้จากมีพระสงฆ์จากลังกาหลายรูปเดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา และนำการประกอบพิธีวิสาขบูชาเข้ามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย

การประกอบพิธีในวันวิสาขบูชา  จะแบ่งออกเป็น ๓ พิธี ได้แก่

           ๑. พิธีหลวง คือ พระราชพิธีสำหรับพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ประกอบในวันวิสาขบูชา
           ๒. พิธีราษฎร์ คือ พิธีของประชาชนทั่วไป
           ๓. พิธีของพระสงฆ์ คือ พิธีที่พระสงฆ์ประกอบศาสนกิจ

กิจกรรมวันวิสาขบูชา ได้แก่

           ๑. ทำบุญใส่บาตร กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ญาติที่ล่วงลับและเจ้ากรรมนายเวร
           ๒. จัดสำรับคาว-หวานไปทำบุญถวายภัตตาหารที่วัด และปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา 
           ๓. ปล่อยนก ปล่อยปลา เพื่อสร้างบุญสร้างกุศล
           ๔. ร่วมเวียนเทียนรอบอุโบสถที่วัดในตอนค่ำ เพื่อรำลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
           ๕. ร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับวันสำคัญทางพุทธศาสนา
           ๖. จัดแสดงนิทรรศการ ประวัติ หรือเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับวันวิสาขบูชา ตามโรงเรียน หรือสถานที่ราชการต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้ และเป็นการร่วมรำลึกถึงความสำคัญของวันวิสาขบูชา
           ๗. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน วัด และสถานที่ราชการ
           ๘. บำเพ็ญสาธารณประโยชน์

    ดังนั้น วันวิสาขบูชาปีนี้ ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ทางองค์การสหประชาชาติ สำนักงานใหญ่ นครนิวยอร์ค ในสมัยการประชุมครั้งที่ ๕๔ ตามระเบียบวาระการประชุมที่ ๑๗๔ ในวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ ได้ประกาศรับรองให้ วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดสากลขององค์การสหประชาชาติ โดยมีประเทศต่าง ๆ ทั้งที่นับถือพระ พุทธศาสนาและมิได้นับถือพระพุทธศาสนาต่างพากันให้การรับรองสนับสนุนอย่างท่วมท้น และในเรื่องนี้ ก็ควรที่ประเทศซึ่งมิได้นับถือพระพุทธศาสนา จะได้รับประโยชน์ร่วมกัน จากวันหยุดอันสำคัญนี้ด้วย กล่าวคือ “การประกาศชวนเชิญให้มวลประชาชาติของตน หยุดการกระทำความชั่วทุกชนิด ให้ทุกคนหันมาสร้างสรรในสิ่งที่ดีงาม และจากข้อนี้ แม้แต่ทหารที่อยู่ในสมรภูมิสงคราม ก็ควรที่จะได้หยุดการเข่นฆ่า ทำลายล้างกันอย่างน้อยเป็นเวลา ๗ วันด้วย” หากประชาชาติทั่วโลกได้มาร่วมมือร่วมใจกันสร้างสันติภาพที่แท้จริงและถาวรให้เกิดขึ้นแก่โลกเรานี้โดยการยึดหลักธรรม ๕ ประการ คือ

          ๑. การไม่เบียดเบียนเข่นฆ่าซึ่งกันและกัน

          ๒. การไม่ประพฤติตนเป็นคนทุจริตคดโกงต่อบุคคลอื่นและต่อประเทศชาติบ้านเมือง

          ๓. การไม่ล่วงล้ำสิทธิเสรีภาพและอธิปไตยของกันและกัน

          ๔. มีความจริงใจในสนธิสัญญาและสัจวาจาต่าง ๆ ที่เคยให้ไว้แก่กันและกัน

          ๕.ไม่หลงไหลมัวเมาดื่มเสพย์ในสิ่งเสพติดให้โทษทั้งหลาย

ทั้งหมดนี้ ก็จะทำให้วัตถุประสงค์หลักที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดไว้ ๔ ประการ คือ

          ๑. เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์รุ่นต่อไป ให้ปลอดภัยจากสงคราม

          ๒.ให้มีสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ๑

          ๓. สร้างความยุติธรรมและความเคารพในพันธกรณีระหว่างชาติ

          ๔. เสริมสร้างความก้าวหน้าทางสังคม ตลอดถึงสร้างมาตรฐานของชีวิตให้ดีขึ้น

Cr_ข้อมูล http://www.larnbuddhism.com/puttaprawat/day/visaka.html

About Author