บิ๊กซี ลงนาม MoU กับยูนิเซฟประเทศไทย ร่วมผลักดันและขับเคลื่อนการพัฒนาเ
มูลนิธิบีเจซีบิ๊กซีลงนาม MoU กับยูนิเซฟประเทศไทยร่วมผลักดันและขับเคลื่อนการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างมีคุณภาพทั่วถึงและเท่าเทียมในประเทศไทย
นายอัศวิน นางฐาปณี เตชะเจริญวิกุล รองประธานกรรมการ และกรรมการ เลขานุการ และเหรัญญิก มูลนิธิ บีเจซี บิ๊กซี ให้การต้อนรับ นางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทยและคณะ ในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่าง มูลนิธิ บีเจซี บิ๊กซี กับ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เพื่อสร้างหลักประกันให้เด็กทุกคนในประเทศไทยได้เริ่มต้นชีวิตอย่างมีคุณภาพ มีโอกาสเรียนรู้และได้รับโอกาสในการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ ในสภาพแวดล้อมที่เอาใจใส่และปลอดภัยทั้งในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน ณ ห้องออดิทอเรียม อาคารบิ๊กซี เฮ้าส์
นางฐาปณี เตชะเจริญวิกุล กรรมการ เลขานุการ และเหรัญญิกมูลนิธิบีเจซีบิ๊กซีกล่าวว่า “ปฐมวัยคือช่วงวัยตั้งแต่แรกเกิดจนอายุ 6 ปี มีบทบาทสำคัญในการกำหนดเส้นทางอนาคตของเด็ก เป็นช่วงเวลาแห่งการปูพื้นฐานในการพัฒนาทักษะทางร่างกาย สังคม อารมณ์และการคิดของเด็กรวมทั้งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการพัฒนาเด็กปฐมวัยมีความซับซ้อนและเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของสังคมไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลก มูลนิธิ บีเจซี บิ๊กซี เราตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาเด็กปฐมวัย และอีกทั้งเด็กปฐมวัยอีกจำนวนมากยังเผชิญความท้าทายมากมาย เช่น เด็กในครอบครัวยากจน และเด็กที่พ่อแม่มีการศึกษาไม่สูง โดยเฉพาะเด็กที่อาศัยอยู่ในชนบทและชายขอบ และเด็กพิการ มูลนิธิ บีเจซี บิ๊กซี เชื่อมั่นว่า การลงทุนเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างต่อเนื่องเป็นการลงทุนที่สำคัญอย่างยิ่ง และจะทำให้เกิดความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญกับการพัฒนาเด็กในช่วงวัยนี้ของประเทศไทยต่อไป”
“การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่าง มูลนิธิ บีเจซี บิ๊กซี และ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย “ด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย (ECD)” (Memorandum of Understanding between BJC BIG C Foundation and UNICEF Thailand on Early Childhood Development Programme) ถือเป็นการเริ่มต้นความร่วมมือเพื่อร่วมผลักดันและขับเคลื่อนการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่มีคุณภาพ ครอบคลุมและเท่าเทียมในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนภารกิจองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ในด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยและครอบครัวในประเทศไทย เพื่อให้มั่นใจว่ากลุ่มเด็กที่เปราะบางที่สุดจะสามารถเข้าถึงศักยภาพสูงสุดของตนได้ในอนาคต”
การสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2565 หรือ Thailand MICS 2022 (Multiple Indicators Cluster Survey) ซึ่งเป็นการสำรวจระดับประเทศที่ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างประชากรเด็กและสตรีที่ใหญ่ที่สุดพบว่า เด็กที่ไม่ได้รับการศึกษาปฐมวัยเพียงร้อยละ 67 เท่านั้นที่มีพัฒนาการเป็นไปตามเกณฑ์ ในขณะที่เด็กที่ได้รับการศึกษาปฐมวัยร้อยละ 81 มีพัฒนาการเป็นไปตามเกณฑ์ โดยเครื่องมือมาตรฐานที่ใช้กันทั่วโลกในการวัดตัวบ่งชี้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จะทำการประเมินเด็กใน 3 หัวข้อ ได้แก่ การเรียนรู้ ความเป็นอยู่ที่ดีทางจิตสังคม และสุขภาพ ทั้งนี้ พัฒนาการเป็นไปตามเกณฑ์หมายความว่าเด็กมีพัฒนาการที่ดีซึ่งจะช่วยให้พวกเขาพร้อมสำหรับการเรียนและพัฒนาตัวเองได้เต็มศักยภาพ นางคยองซอนคิมผู้แทนองค์การยูนิเซฟประจําประเทศไทยกล่าวว่า“การลงทุนเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยถือเป็นหนึ่งในการลงทุนที่ดีที่สุดที่สามารถทำได้ ซึ่งไม่เพียงแต่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตเด็ก ๆ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงอนาคตของประเทศไทยด้วย แม้ว่าการจัดหาการศึกษาปฐมวัยแก่เด็กอายุเกิน 3 ขวบ จะมีความก้าวหน้าไปมาก แต่เรายังมีช่องว่างในด้านความพร้อม ราคา และคุณภาพของบริการดูแลสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ ซึ่งสิ่งนี้ส่งผลกระทบในระยะยาว โดยนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 หรือ 3 จำนวน 6 ใน 10 คนมีปัญหาด้านการอ่าน ส่งผลให้ประสิทธิภาพการอ่านโดยรวมในประเทศไทยลดลง อีกทั้งคะแนนในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นยังย่ำอยู่กับที่ เราขอขอบคุณ มูลนิธิ บีเจซี บิ๊กซี ที่ได้ลงทุนเพื่ออนาคตที่สดใสของเด็ก ๆ”
“การแก้ปัญหาด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยไม่ใช่เรื่องง่ายต้องอาศัยสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชน พร้อมด้วยองค์ความรู้ที่ทันสมัย ตลอดจนความรู้และความเข้าใจจากผู้ปกครอง มูลนิธิ บีเจซี บิ๊กซึ จึงขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันการพัฒนาเด็กปฐมวัย เราเชื่อว่าทุกคนในสังคมอยากเห็นประเทศไทยขับเคลื่อนไปสู่อนาคตที่ดี เราพร้อมมอบโอกาสและเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมกันผลักดันการพัฒนาเด็กปฐมวัย สร้างหลักประกันให้เด็กทุกคนในประเทศไทยได้เริ่มต้นชีวิตอย่างมีคุณภาพและมีโอกาสเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ และช่วยให้พวกเขาวิ่งตามความฝันและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพพร้อมสร้างประโยชน์ให้กับสังคม การสนับสนุนเด็กปฐมวัยถือเป็นการลงทุนที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ” นายอัศวิน กล่าวสรุป