“วันวสันตวิษุวัต” ช่วงเวลากลางวัน และ กลางคืนเท่ากัน ในวันที่ 20 มีนาคม 2568

Vernal Equinox cover

“วันวสันตวิษุวัต” ช่วงเวลากลางวัน และ กลางคืนเท่ากัน ในวันที่ 20 มีนาคม 2568

วันที่ 18 มีนาคม 2568 เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ข้อความระบุว่า…20 มีนาคม 2568 เป็นวันที่มีช่วงเวลากลางวัน และกลางคืนเท่ากัน ซึ่งเรียกว่า วันวสันตวิษุวัต (วะ-สัน-ตะ-วิ-สุ-วัด) (Vernal Equinox) คำว่า #วิษุวัต (Equinox) เป็นภาษาสันสกฤต หมายถึง #จุดราตรีเสมอภาค

จุดที่ดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลกพอดี ส่งผลให้เป็นวันที่มีช่วงเวลากลางวัน และกลางคืนยาวนานเท่ากัน สำหรับประเทศไทย ในวันนั้นดวงอาทิตย์จะขึ้น เวลาประมาณ 06:22 น. และจะตกลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 18:28 น. (เวลา ณ กรุงเทพมหานคร) นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ และประเทศทางซีกโลกใต้ย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง

ทั้งนี้ การนิยามเวลาดวงอาทิตย์ขึ้นและตกของปรากฏการณ์ดังกล่าว จะนับเมื่อเราเห็น “ขอบบน” ของดวงอาทิตย์สัมผัสกับเส้นขอบฟ้า กล่าวคือ เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น จะนับเวลาเมื่อขอบบนของดวงอาทิตย์สัมผัสกับขอบฟ้าทางทิศตะวันออก และเมื่อดวงอาทิตย์ตก จะนับเวลาเมื่อขอบบนของดวงอาทิตย์สัมผัสกับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก (หรือเมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าหมดทั้งดวงนั่นเอง) อาจทำให้ดูเหมือนเวลาการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ในวันดังกล่าวไม่เท่ากัน แต่ไม่ได้หมายความว่าวันดังกล่าวมีช่วงเวลากลางวันและกลางคืนยาวนานไม่เท่ากัน ซึ่งหากนับจากช่วงเวลาที่จุดกึ่งกลางดวงอาทิตย์เคลื่อนผ่านขอบฟ้า วันดังกล่าวนับว่าเป็นวันที่มีกลางวันและกลางคืนยาวนาน 12 ชั่วโมงเท่ากันพอดี

ฤดูกาลบนโลกนั้น เกิดจากการเอียงของแกนโลกที่ทำมุม 23.5 องศา กับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกได้รับแสงอาทิตย์ในปริมาณไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณหภูมิต่างกัน รวมถึงระยะเวลากลางวัน และกลางคืนก็ต่างกันด้วย เหตุนี้ทำให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลกนั่นเอง จะสังเกตได้ว่าในฤดูร้อนเวลากลางวันจะยาวกว่ากลางคืน ดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า แตกต่างกับฤดูหนาวเวลากลางคืนจะยาวนานกว่ากลางวัน ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว

สำหรับปรากฏการณ์ต่อไปที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ คือ “วันครีษมายัน” (Summer Solstice) ในวันที่ 21 มิถุนายน 2568 เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด ทำให้มีช่วงเวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี ส่งผลให้ประเทศทางซีกโลกเหนือย่างเข้าสู่ฤดูร้อน และประเทศทางซีกโลกใต้ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว

ขอบคุณข้อมูล/ภาพ : เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

About Author