สุดล้ำ!! เปิดมิติใหม่ในแวดวงภาษาอาหรับ

ศูนย์ภาษาอาหรับกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ องค์กร Sheikh Hamad Award for Translation and International Understanding จัดสุดยอดงานสัมมนาต้อนรับปี 2025 ด้วยงาน “Sheikh Hamad Award in Thailand: สุดยอดนักแปลตำราภาษาอาหรับ” ในวันที่ 9 มกราคม 2025 ณ หอประชุมวิชาการนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกริก

.
ภายในงานสัมมนา ศาสตราจารย์ ดร.จรัญ มะลูลีม รองอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ กล่าวต้อนรับแขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมงาน และท่านยังได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานงานในครั้งนี้ ที่จัดขึ้นเพื่อให้ชาวไทยได้ทำความรู้จักกับองค์กร Sheikh Hamad Award for Translation and International Understanding ที่มาเยือนไทยในครั้งนี้ และเพื่อรวมนักแปลตำราภาษาอาหรับ ทำความรู้จักซึ่งกันและกัน แลกเปลี่ยนความรู้วิชาการ ตลอดจนการรวบรวมตำราแปลภาษาอาหรับเพื่อจัดแสดงภายในงาน แสดงศักยภาพของนักวิชาการ นักแปลตำราภาษาอาหรับชาวไทย ที่ไม่เป็นสองรองใครในระดับนานาชาติ

.
แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานโดยท่านกล่าวแสดงความยินดีที่แขกผู้มีเกียรติ บรรดานักแปลต่างให้ความสนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก และประทับใจเป็นอย่างมากที่ได้พบตำราแปลจากภาษาอาหรับเป็นจำนวนมากถูกจัดแสดงภายในงาน

.
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อับดุลเลาะ หนุ่มสุข ผู้แทนจุฬาราชมนตรี และผู้อำนวยการสถาบันวะซะฏียะฮ์เพื่อสันติภาพและการพัฒนา สำนักจุฬาราชมนตรี บรรยายพิเศษถึงบทบาทความสำคัญของงานแปลในการพัฒนา และความก้าวหน้าประชาชาติ Mr.Ali Saad Al-Muhannadi Charge d’Affaires of Embassy of the State of Qatar, Bangkok ปาฐกถาถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ และท่านยังได้กล่าวชื่นชมมหาวิทยาลัยเกริกที่ได้จัดงานที่มีคุณค่าเช่นนี้ขึ้น
การจัดงานในครั้งนี้นับเป็นมิติใหม่ของวงการภาษาอาหรับที่บรรดานักแปลตำราภาษาอาหรับจากทุกสารทิศ หลากหลายสถาบัน ได้มารวมตัวกัน ตำราภาษาอาหรับที่แปลเป็นไทยมากมายหลายร้อยเล่ม จากหลากหลายแขนงวิชา ถูกรวมไว้ในที่เดียวกัน ชีวประวัติของนักแปลทั้งรุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ถูกนำเสนอให้ได้รู้จักในงานครั้งนี้
การเสวนาวิชาการภายใต้หัวข้อหลัก “สถานะของภาษาอาหรับและการแปลสู่ภาษาต่าง ๆ ของโลก ระหว่างการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และปฏิสัมพันธ์ทางอารยธรรม โดยผู้ร่วมเสวนาได้แก่ผู้แทนจากกาต้าร์และผู้ทรงคุณวุฒิภาษาอาหรับในประเทศไทย
- “สะพานแห่งสันติภาพ: พันธกิจของ Sheikh Hamad Award for Translation and International Understanding ในการเชื่อมโยงการสื่อสารทางความคิด”
โดย ศาสตราจารย์ ดร.ฮะนาน อัลฟะยาด อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยกาต้าร์ และที่ปรึกษาสื่อสารองค์กร ของ Sheikh Hamad Award for Translation and International Understanding - “ประวัติความเป็นมาของการแปลภาษาอาหรับ และบทบาทในการกระตุ้นการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม”
โดย ดร. อิมตินาน อัซซอมาดี อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยจอร์แดน และคณะสื่อสารองค์กร ของ Sheikh Hamad Award for Translation and International Understanding
-“ความท้าทายและการปรับตัวที่บรรดานักแปลต้องเผชิญในยุคดิจิตอล”
โดย ดร. ปริญญา ประหยัดทรัพย์ ผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี และรองประธานที่ปรึกษาศูนย์ภาษาอาหรับกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก
-“ความเป็นจริงของการแปลภาษาอาหรับในประเทศไทย ความท้าทาย และอุปสรรคปัญหา”
โดย ดร. ทิวากร แย้มจังหวัด ผู้อำนวยการสถาบันอัลคิบละฮ์อคาเดมี่

.
อนึ่ง Sheikh Hamad Award for Translation and International Understanding เป็นองค์กรที่ส่งเสริม สนับสนุน การแปลตำราภาษาอาหรับในระดับนานาชาติ โดยที่ในทุก ๆ ปีจะมีการจัดประกวดผลงานแปลตำราภาษาอาหรับ และจัดพิธีมอบรางวัลอันยิ่งใหญ่ให้แก่นักแปลจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นจากภาษาอาหรับ สู่ภาษาอื่นๆ หรือจากภาษาอื่น ๆ สู่ภาษาอาหรับ โดยที่งานครั้งที่ 11 ประจำปี 2025 ภาษาไทยได้ถูกเลือกเป็นหนึ่งในภาษาสำหรับการประกวด และมีรางวัลรวมมูลค่ามากกว่า 3 ล้านบาท
ศูนย์ภาษาอาหรับกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ดูแล Sheikh Hamad Award for Translation and International Understanding ในการมาเยือนประเทศไทยครั้งนี้อย่างเป็นทางการ และทำหน้าที่สำคัญในการเป็นสะพานเชื่อมโยงไปยังนักแปลตำราภาษาอาหรับทั่วราชอาณาจักรไทย



