ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ ในพื้นที่ จ. พิษณุโลก

“ดร.ทัศนีย์ เมืองแก้ว” ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ ในพื้นที่ จ. พิษณุโลก

ดร.ทัศนีย์ เมืองแก้ว ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เขตตรวจราชการที่ 17 พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก โดยมี นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วยนายวรพจน์ เพชรนรชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 คณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ สชป.3 (SWOC3) หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่รายงานสถานการณ์น้ำ ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก และผลการดำเนินการรับน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำ โครงการบางระกำโมเดล บริเวณคลองแยงมุม บ้านวังขี้เหล็ก ตำบลท่าช้าง, ประตูระบายน้ำบ้านใหม่โพธิ์ทอง, ท่อระบายน้ำคลองตะเข้ ตำบลพรหมพิราม อำเภอพรหมพิราม และประตูระบายน้ำบางแก้ว ตำบลบางระกำ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก นอกจากนี้ยังได้ร่วมกันปล่อยพันธุ์ปลาตะเพียนขาว จำนวน 1,200,000 ตัว ลงสู่พื้นที่โครงการบางระกำโมเดล เพื่อเพิ่มประชากรปลาในแหล่งน้ำ ทำให้เกษตรกรได้มีอาชีพเสริมจากการจับปลาหรือผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปลาออกจำหน่าย รวมทั้ง นำไปบริโภคในครัวเรือน ในห้วงเวลาที่ทุ่งบางระกำเป็นพื้นที่หน่วงน้ำ

สำหรับสถานการณ์น้ำ และการบริหารจัดการน้ำ จ.พิษณุโลก ณ ปัจจุบัน (10 กันยายน 2567) มีภาพรวมดังนี้
​แม่น้ำน่าน ปริมาณน้ำและระดับน้ำลดลงจากเมื่อวาน ระดับสถานการณ์ปกติ
​เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำไหลเข้าและเก็บกักปริมาณมาก ต้องระบายน้ำเพิ่มให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม
​ในส่วนแม่น้ำสาขา ได้แก่ แม่น้ำภาค, แม่น้ำแควน้อย, แม่น้ำวังทอง และคลองชมพู ระดับน้ำลดลง ทุกลุ่มน้ำ สถานการณ์ปกติ
​แม่น้ำยมสายหลัก ที่ไหลผ่าน อ.บางระกำ มีแนวโน้มระดับน้ำเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และระดับสูงกว่าวิกฤตในเขตชุมชน
​ในส่วนแม่น้ำยมสายเก่าที่ไหลผ่าน อ.พรหมพิราม อ.เมือง ลงมา อ.บางระกำ ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง
​สำหรับพื้นทุ่งหน่วงน้ำตามโครงการบางระกำ เพื่อรองรับน้ำหลาก หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว มีปริมาณเพิ่ม และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

สถานการณ์น้ำโดยละเอียด ดังนี้

​สถานการณ์แม่น้ำน่าน
​เขี่อนสิริกิต์ ปริมาณน้ำ 7,643 ล้าน ลบ.ม(80%) แผนระบายน้ำ วันนี้ 10.00 ล้าน ลบ.ม
​เขี่อนแควน้อยบำรุงแดน ปริมาณน้ำ 472 ล้าน ลบ.ม(50%) แผนระบายน้ำ วันนี้ 7.78 ล้าน ลบ.ม
​แม่น้ำน่าน สถานการณ์น้ำ ระดับน้ำเพิ่มขึ้น (สถานีวัดน้ำ N.5A ปริมาณน้ำไหลผ่าน 354.90 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำสูง 4.10 เมตร ยังคงต่ำกว่าตลิ่ง -6.27 เมตร)
​-สถานการณ์ปกติ
​แม่น้ำสาขา ได้แก่
​แม่น้ำภาค อ.ชาติตระการ
​ระดับน้ำลดลง (สถานีวัดน้ำ N.55 ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง -4.29 เมตร)
​-สถานการณ์ปกติ
แม่น้ำแควน้อย อ.นครไทย ระดับน้ำลดลง (ที่สถานีวัดน้ำ N.36 ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง -4.06 เมตร)
-สถานการณ์ปกติ
แม่น้ำภาค และ แม่น้ำแควน้อย ทั้ง 2 แม่น้ำ ไหลลงมารวมเก็บกักที่เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน
​แม่น้ำวังทอง อ.วังทอง ระดับน้ำลดลง (สถานีวัดน้ำ N.24A ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง -6.87 เมตร)
​-สถานการณ์ปกติ
​แม่น้ำชมพู อ.เนินมะปราง ระดับน้ำเพิ่มขึ้น (สถานีวัดน้ำ N.43A ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง -5.98 เมตร)
​-สถานการณ์ปกติ

สถานการณ์แม่น้ำยม

​แม่น้ำยมสายหลัก ที่ไหลผ่าน อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ระดับน้ำเพิ่มขึ้น (ที่สถานีวัดน้ำ Y.64 ระดับน้ำสูง 7.88 ม. ปริมาณน้ำไหลผ่าน 562.60 ลบ.ม/วินาที ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง + 1.48 เมตร/ สูงกว่าระดับวิกฤติ เขตชุมชน +0.58 เมตร) ระดับน้ำเพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 8 ซม. และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
​-สถานการณ์ น้ำเอ่อล้นตลิ่ง เฝ้าระวังในพื้นที่ชุมชน ในส่วนพื้นที่เกษตรลุ่มต่ำขอให้เร่งเก็บเกี่ยวผลผลิต
​แม่น้ำยมสายเก่า ที่ไหลผ่าน อ.พรหมพิราม และ อ.บางระกำ ปริมาณน้ำไหลผ่าน 50-100 ลบ.ม/วินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ -0.40 เมตร/ มีแนวโน้มลดลง
​-สถานการณ์ ยังคงเฝ้าระวังน้ำเอ่อล้นตลิ่ง (ตรวจสอบและเสริมคันป้องกัน)
​ทั้งนี้ “โครงการบางระกำโมเดล” พื้นที่รองรับน้ำหลากหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตในเขตชลประทาน (ฝั่งซ้ายแม่น้ำยม) ปัจจุบันเก็บเกี่ยวแล้ว 100 % และรับน้ำเข้าทุ่งหน่วงน้ำ ปริมาณน้ำที่รับเข้าพื้นที่ 154,351ไร่ (58%) ปริมาณน้ำ 277 ล้าน ลบ.ม (69%)
​- สถานการณ์ ปริมาณน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ต้องเฝ้าระวัง และให้ความช่วยเหลือกับชุมชนในพื้นที่หน่วงน้ำลุ่มต่ำที่ได้รับผลกระทบ การอยู่อาศัย และ การสัญจร

​นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ปริมาณฝนในช่วง ตั้งแต่ วันที่ 9-15 ก.ย. 2567 จะมีฝนตกชุก และฝนตกสะสมปริมาณมากในพื้นที่ภาคเหนือ อาจเกิดน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ และน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก โดยในจังหวัดพิษณุโลก มีพื้นที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ อ.นครไทย (แม่น้ำแควน้อย) อ.วังทอง (แม่น้ำวังทอง) อ.เนินมะปราง และ อ.บางกระทุ่ม (แม่น้ำชมพู) อ.บางระกำ, อ.พรหมพิราม (พื้นที่ลุ่มต่ำ แม่น้ำยมสายหลักและ แม่น้ำยมสายเก่า)

​จึงขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เฝ้าระวังดังกล่าวโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง หากมีปริมาณฝนตกชุกในพื้นที่ เกินกว่า 50 มม. ติดต่อกันเกิน 2 วัน และพื้นที่อยู่อาศัยอยู่ไกล้กับตลิ่งแม่น้ำ ให้เฝ้าระวัง และตรวจสอบจุดที่ตลิ่งต่ำ ควรเสริมคันคลองให้มีความแข็งแรง และเตรียมความพร้อมในการขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง และระมัดระวังไฟฟ้าที่อยู่ในที่ต่ำน้ำท่วมถึง ขอความร่วมมือเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก และเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิต หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะในพื้นที่โครงการบางระกำโมเดล ควรชะลอหรืองดทำการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง มีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมหลากทำให้ผลผลิตเสียหาย

​ทั้งนี้ในส่วนการเตรียมการบริหารจัดการน้ำ จ.พิษณุโลก ในช่วงสถานการณ์เฝ้าระวังและระดับวิกฤต ได้ใช้ 5 มาตราการเร่งด่วน ได้แก่ เร่งระบายน้ำ,เร่งป้องกัน และ ช่วยเหลือ,เร่งเก็บเกี่ยว,เร่งรับน้ำเข้าทุ่งหน่วงน้ำ (โครงการบางระกำโมเดล) และเร่งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือน

โดยรายละเอียดการดำเนินในการเตรียมการก่อนน้ำมาตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2567 ได้ดำเนินการ 10 แนวทางการบริหารจัดการน้ำ ตามบริบทของ จ.พิษณุโลก ที่สอดคล้องกับ 10 มาตราการ เพื่อรับมือฤดูฝนของสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งมีการบูรณาการทุกภาคส่วนของจังหวัดในการรับมืออุทกภัย จนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน

About Author