เกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ต่อยอดอัตลักษณ์แห่งชาติพันธุ์ผ่านผ้าไหมไทย
กลุ่มลาวครั่ง เป็นชนกลุ่มที่มีความสามารถในการทอผ้าจก ผ้าทอลาวครั่ง มีความเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นแตกต่างจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น คือ “ผ้าซิ่นมัดหมี่ต่อตีนจก” ถือกันว่าเป็นผ้าที่แสดงถึงฝีมือชั้นเลิศของช่างทอลาวครั่ง มีเอกลักษณ์โดดเด่น ด้วยการใช้เทคนิค การทอทั้งการขิด จก และมัดหมี่ โดยใช้ทั้งผ้าฝ้ายและไหมเป็นองค์ประกอบ
นายนิทัศน์ จันทร กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าลายโบราณบ้านภูจวง ต.ทับหลวง อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี หนึ่งในผู้ร่วมงาน “ตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย” ครั้งที่ 19 ประจำปี 2567 ที่ผ่านมา เล่าว่าเดิมทีเป็นกลุ่มผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม พันธุ์ไทยพื้นบ้าน พอเริ่มทำผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่าย ก็ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ ฯ กาญจนบุรี ส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การใช้อุปกรณ์ทำไหม ทำให้มีผลิตภัณฑ์ผ้าไหมมากขึ้น รวมถึงได้รับการส่งเสริมพันธุ์ไหมที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงไหมในพื้นที่ ตอนนี้เราเลี้ยงไหมพันธุ์ไทย 100% และไหมลูกผสมซึ่งมีลูกค้านำไหมลูกผสมไปทำเป็นเครื่องสำอาง
ส่วนการตลาดจะทำตามออเดอร์ และไปออกงานอีเว้นท์ทั่วไปตามหน่วยราชการต่าง ๆ กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อเพราะว่ากลุ่มชาติพันธุ์ของเราเป็นกลุ่มที่ทอผ้ามัดหมี่ต่อจก เป็นชาติพันธุ์เฉพาะที่ทำเรื่องเกี่ยวกับผ้าไหม ซึ่งเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของชาติพันธุ์ของเรา
“ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำเราได้มีการปรับตัว เน้นที่อัตลักษณ์เป็นหลักและลดปริมาณการเลี้ยงลง ซึ่งขณะนี้เรากำลังประสบปัญหาในเรื่องของอุปกรณ์ที่ไม่เอื้อต่อการทำเส้นเอง เช่น เครื่องตีเกลียวที่ยังใช้แบบโบราณ และมีบางหน่วยงานพยายามที่จะปรับในเรื่องของการใช้เครื่องมือตีเกลียวมาช่วย สิ่งที่เราขาดคือความเชี่ยวชาญความชำนาญของแต่ละคนอาจจะใช้เครื่องประยุกต์ไม่เป็น ทำให้การนำเส้นไหมมาผลิตไม่ทันกับความต้องการของตลาด ซึ่งเราก็พยายามฝึกคนรุ่นใหม่เพื่อที่จะเอามาพัฒนากระบวนการต่าง ๆ ในเรื่องเกี่ยวกับเส้นไหม โดยให้กรมหม่อนไหมสนับสนุนในเรื่องของเครื่องมือ และความรู้ ส่วนในเรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่นเรามีอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการทอลวดลายแบบดั้งเดิม การประยุกต์ หรือเรื่องของการย้อมสี ส่วนใหญ่เราจะเน้นในเรื่องของสีพื้นถิ่นกับสีธรรมชาติเป็นหลัก”
นอกจากนี้ยังมีอบรมเด็กในวิทยาลัยชุมชนท้องถิ่นและเด็กนักเรียนในโรงเรียน รวมถึงน้อง ๆ จากโรงงานอุตสาหกรรมที่ถูกเลิกจ้างกลับมาอยู่บ้านจัดอบรมความรู้ เพื่อหาผู้สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน แต่ก็มีน้อย ไม่เยอะเหมือนกับที่เราต้องการ สิ่งที่เรากลัวตอนนี้เรากลัวอัตลักษณ์ของเราสูญหายเพราะว่าหาผู้สืบทอดยาก อย่างเราอบรมไป 100 คน ได้มา 1 คนก็ยากแล้ว นี่คือสิ่งที่เรากลัวมากที่สุด
วนิดา สุวรรณสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เขต 5 กล่าวว่า กรมหม่อนไหมจะส่งเสริมการผลิตพันธุ์หม่อนเพื่อให้เกษตรกรนำไปปลูกหม่อนเพื่อเลี้ยงไหม และผลิตไข่ไหมสำหรับให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงไหม โดยมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีเกี่ยวกับหม่อนไหม เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ และพัฒนาจากฐานความรู้ที่มีอยู่เดิม ซึ่งจะมีเกษตรกร 2 กลุ่ม คือ เกษตรกรที่มีฐานความรู้เดิมพัฒนาต่อยอดทางด้านภูมิปัญญาของเขาโดยใช้พันธุ์หม่อนไหมจากเราเพื่อให้เกษตรกรมีพันธุ์หม่อนไหมที่แข็งแรง สามารถเลี้ยงได้ตลอด กลุ่มสองจะเป็นเกษตรกรรายใหม่หรือเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีการเลี้ยงไหมทั้งที่เป็นไหมอุตสาหกรรม คือส่งเสริมเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและจำหน่ายรังไหม และส่งโรงงาน รวมถึงกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงไหม สาวไหม ผลิตเป็นเส้นไหม จำหน่ายรังไหม เส้นไหม และเกษตรปลูกหม่อน เลี้ยงไหม สาวเส้น และทอผ้าเอง
ปัจจุบันเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมลดจำนวนลง เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรสูงอายุ และไม่มีผู้สืบทอด รวมทั้งสภาพเศรษฐกิจและการมีพืชเศรษฐกิจอื่นเข้ามา ทำให้เกษตรกรหันไปประกอบอาชีพอื่น จากปัญหาดังกล่าว กรมหม่อนไหมได้พัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่เพื่อรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งเป็นอัตลักษณ์ไทย พัฒนาทั้งด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้เกษตรกรนำไปพัฒนาต่อยอดในการผลิตผ้าไหม หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เกี่ยวกับทางด้านหม่อนไหมเช่นกัน
“เรายังคงรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น และนำนวัตกรรมมาต่อยอด เพื่อให้คนรุ่นใหม่ที่สนใจเข้าสู่อาชีพหม่อนไหมมากขึ้น โดยเฉพาะทายาทหม่อนไหม แต่โดยต้องรักษาภูมิปัญญาของความเป็นผ้าไหมไทย เพราะผ้าไหมไทย เป็นอัตลักษณ์ของประเทศไทย”