ไทยพร้อมยกระดับความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ด้วยอุตสาหกรรมอาหาร
ไทยพร้อมยกระดับความสามารถ ในการแข่งขันอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ด้วยอุตสาหกรรมอาหารอนาคตไทย มุ่งสร้างความยั่งยืนบนเวทีโลก
อาหาร เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของมนุษยชาติที่มีมานับแต่แรกเริ่ม แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน อุตสาหกรรมอาหาร ได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ที่แปรผันกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แน่นอนว่าปัญหาความมั่นคงทางอาหารกำลังขยายตัวเป็นวงกว้างในระดับนานาชาติ
เมื่อมองภาพที่เล็กลง ความเชื่อที่มีมาตั้งแต่ในอดีตว่า ประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ เราจึงเชื่อมั่นว่าไทยเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางอาหาร แต่จากการประเมินด้วยดัชนีวัดความมั่นคงทางด้านอาหาร (ที่ครอบคลุมในหลากหลายมิติ) (Global Food Security Index: GFSI) ล่าสุด สำหรับปี 2022 พบว่า ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 64 จากจำนวน 113 ประเทศ ซึ่งนับเป็นความท้าทายของประเทศในการแสวงหาแนวทางพัฒนา สร้างมูลค่าเพิ่มของทรัพยากรทางอาหารในมิติต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รองรับกับการเปลี่ยนแปลงทั้งในวันนี้และอนาคต
ธุรกิจอาหารมีบทบาทสำคัญต่อ GDP ของประเทศ จากการวิเคราะห์แนวโน้มเทคโนโลยีอุตสาหกรรมอาหาร พบว่า ความท้าทายสำหรับอุตสาหกรรมอาหารในศตวรรษที่ 21 ประกอบไปด้วย 4 ปัจจัย ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (climate change), การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรผู้สูงอายุ (senior population) ความมั่นคงทางอาหาร (food security), การได้รับโภชนาการอย่างเพียงพอ (nutrition) ดังนั้น สำหรับประเทศไทย จึงนับเป็นวาระแห่งชาติ ที่ไทยจะยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ โดยการก้าวสู่การสร้างโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมอาหารอนาคตไทยให้เกิดความยั่งยืนบนเวทีโลก
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เล็งเห็นความสำคัญของการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารอนาคตไทยให้เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ จึงได้เปิดเวทีเสวนาภายใต้หัวข้อ “สร้างโอกาสอุตสาหกรรมอาหารอนาคตไทยให้ยั่งยืนบนเวทีโลก” โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารระดับสูงจากทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจชั้นนำ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอาหารของไทย ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) มาร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและอัปเดต สถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต เพื่อกำหนดทิศทางและนโยบายในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารในแผนงานที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงการสร้างศักยภาพและวางกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารไทยให้ยั่งยืนในระดับสากล
โดยในการเสวนาดังกล่าว รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐดนัย หาญการสุจริต ประธานคณะทำงานฯ บูรณาการยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมอาหารอนาคต สกสว.และรองคณบดี คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยบทวิเคราะห์แนวโน้มการวิจัยและนวัตกรรมด้านอาหารจากฐานข้อมูลงานวิจัยนานาชาติว่า “Food Technology Trends and Innovations” เป็นอาวุธสำคัญที่จะติดปีกให้ไทยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศได้ โดยประกอบไปด้วย ส่วนประกอบฟังก์ชัน (functional ingredient) หรือสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่ใช้เป็นส่วนผสมในอาหารฟังก์ชัน ที่ผลิตจากพืช สัตว์ จุลินทรีย์ หรือวัตถุดิบอนินทรีย์ ด้วยกระบวนการสกัดการสังเคระห์ทางเคมีหรือชีวภาพ ซึ่งจะมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพของไทย ที่มีศักยภาพการผลิตเพียงพอต่อระดับอุตสาหกรรม นอกจากนี้โพรไบโอติกซึ่งเป็นจุลินทรีย์มีชีวิตที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพกำลังเป็นที่ต้องการในตลาดโลก อาหารฟังก์ชัน (functional food) หรืออาหารที่ให้คุณประโยชน์ต่อสุขภาพนอกเหนือจากโภชนาการทั่วไป ตอบรับกระแสรักสุขภาพของประชาชน นอกจากนี้อุตสาหกรรมอาหารไทยมีทิศทางการผลิตอาหารธรรมชาติ ลดการใช้วัตถุเจือปนอาหาร เช่น น้ำตาล ไขมัน หรือโซเดียม เป็นต้น อาหารที่มีโภชนาการจำเพาะบุคคล (personalized food) อาศัยการสร้างฐานข้อมูลและระบบวิเคราะห์ข้อมูล การบริโภคอาหารกับเมทาบอไลต์ของผู้บริโภค (metabolomic) และฐานข้อมูลไมโครไบโอม จุลินทรีย์ในลำไส้ ศึกษาความสัมพันธ์ในการบริโภคอาหารกับสภาพจุลินทรีย์ในลำไส้และสุขภาพของประชากร เพื่อเชื่อมโยงการผลิตโพรไบโอติกและอาหารที่มีความจำเพาะสำหรับผู้บริโภค
อีกกลุ่มที่น่าจับตามองคือ โปรตีนทางเลือก (alternative protein) ไม่ว่าจะเป็นโปรตีนจากพืช แมลง หรือจุลินทรีย์ ไทยมีความสามารถที่จะสร้าง commercial pilot plant ผลิตโปรตีนเป็นอาหารทางการค้าได้ ตลอดจนกระบวนการแปรรูปสมัยใหม่ (novel process) เป็นการใช้เทคโนโลยีใหม่ในการฆ่าเชื้อ การแช่แข็ง และทำละลาย เช่น ความดันสูง กระแสไฟฟ้า สนามไฟฟ้า พลาสมา เพื่อปรับปรุงคุณภาพอาหาร เนื้อสัมผัส พื้นผิว เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต ลดระยะเวลา ลดการสัมผัสอุณหภูมิสูง เพื่อคงสภาพความสดใหม่ของอาหารที่ไทยมีอนาคตที่สดใสเช่นกันรวมไปถึงผลิตผลทางการเกษตรแบบพรีเมียม ออร์แกนิก และการผลิตที่ยั่งยืน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงาน ลดการปล่อยของเสีย นำของเหลือจากกระบวนการผลิตอาหารไปพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า ที่ไทยมีศักยภาพสูงเช่นกัน
นอกจากนี้ การนำ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ถือเป็นเทคโนโลยีที่จำเป็น ที่สามารเพิ่มความแม่นยำ การควบคุม ติดตามคุณภาพ ความปลอดภัย ลดต้นทุนการวิจัยและการผลิตได้ อย่างไรก็ตามไทยยังต้องการการพัฒนาบุคลากรด้าน AI ทุกระดับ การหมักแบบแม่นยำ (Precision fermentation) การหมักแบบแม่นยำในไทยยังมีการศึกษาอยู่จำกัด ต้องใช้เครื่องหมัก ที่ยังมีข้อจำกัดเรื่องการขยายขนาดการผลิต และมีราคาต้นทุนสูงซึ่งเป็นความท้าทายในการวิจัย และสุดท้ายคือ บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน (sustainable packaging) ซึ่งนับเป็นความพยายามของไทย ที่จะพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลและนำงานวิจัยด้านบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพในระดับห้องปฏิบัติการ ขยายผลสู่เชิงพาณิชย์
กล่าวโดยสรุป การสร้างโอกาสอุตสาหกรรมอาหารอนาคตไทย ประกอบไปด้วยปัจจัยหลัก ได้แก่ การพัฒนาทรัพยากรบุคคล การศึกษาผู้บริโภคและการค้า การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานรวมถึงกฎระเบียบและมาตรฐาน พร้อมกับการวิจัยและพัฒนาที่ไม่หยุดยั้ง และนำการวิจัยมาขยายผลเชิงพาณิชย์ เพราะเมื่อมองไปข้างหน้า อุตสาหกรรมอาหารสมัยใหม่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี โดยเฉพาะอาหารแปรรูปมูลค่าสูง (high value-added) อาทิ อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ (functional food) อาหารที่ผ่านการผลิตแบบธรรมชาติ (organic food) และอาหารที่มีส่วนผสมของโปรตีนจากพืช (plant-based food) อาหารแปรรูปของไทยโดยรวมได้รับความเชื่อถือจากต่างชาติในด้านคุณภาพที่อยู่ในเกณฑ์ดี การยกระดับผลิตภัณฑ์ประเภทวัตถุดิบที่นำไปผลิตต่อ (ingredient) ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ที่เป็นอาหารสำเร็จรูปที่จำหน่ายตามร้านค้าปลีก (retail food product) มากขึ้น ด้วยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งด้านการวิจัย การผลิตวัตถุดิบ การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ การขึ้นทะเบียน การรับรองคุณภาพมาตรฐาน โลจิสติกส์และการค้า จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ทรัพยากรและพัฒนาเทคโนโลยี ส่งเสริมเศรษฐกิจ เพื่อให้อุตสาหกรรมอาหารอนาคตไทยเติบโตอย่างยั่งยืนในระดับสากล