28 ธันวาคม วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
วันที่ 28 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันปราบดาภิเษกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระมหากษัตริย์ผู้กอบกู้เอกราชจากพม่าให้แก่ประเทศไทย และเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรีเพียงพระองค์เดียว
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรืออีกพระนามคือ สมเด็จพระบรมราชาที่ 4
พระราชประวัติ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงประกอบวีรกรรมในการกอบกู้และสร้างชาติ ป้องกันบ้านเมืองและสร้างความเป็นเอกภาพ ตลอดจนขยายราชอาณาจักร เมื่อปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์ทรงเฉลิมพระนามว่าสมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ หรือสมเด็จพระบรมราชาที่ 4 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระนามเดิมว่า สิน ประสูติประมาณ พ.ศ.2277 ในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรม พระบิดาเป็นชาวจีนแซ่เจิ้ง ส่วนพระมารดาเป็นหญิงไทย ชื่อนางนกเอี้ยง (กรมพระเทพามาตย์)อาจมีภูมิลำเนาจากเมืองเพชรบุรี พระองค์สมรสกับหญิงสามัญชนชื่อสอน (กรมหลวงบาทบริจาริกา) มีพระราชโอรสพระราชธิดารวม 29 พระองค์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเดิมเป็นพ่อค้าเกวียนได้บรรทุกสินค้าไปขายที่หัวเมือง ต่อมาเข้ารับราชการจนได้เลื่อนตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองตาก และเป็นพระยาวชิรปราการเจ้าเมืองกำแพงเพชร แต่ยังไม่ทันได้ไปปกครองเมือง พม่ายกทัพเข้ามาโจมตีหัวเมืองฝ่ายเหนือใน พ.ศ.2309 สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์จึงโปรดให้พระองค์ลงมาช่วยป้องกันกรุงศรีอยุธยา
การกอบกู้บ้านเมือง
ด้วยเหตุผลจากสถานการณ์สงครามที่เหลือกำลังหรืออาจมีหมายให้ไปหาคนจากเมืองมาช่วย หรือความจำเป็นอื่นใด ทำให้พระองค์จึงพาไพร่พลไทยจีนตีฝ่าวงล้อมกองทัพพม่า (มีเอกสารการค้าทางการธนบุรี ถึงบริษัท VOC กล่าวว่า พระองค์ทรงไปตามคำสั่งพระมหากษัตริย์) มุ่งไปทางทิศตะวันออกสู่จันทบูรณ์หรือจันทบุรีซึ่งเป็นเมืองใหญ่ จันทบูรจึงเป็นเมืองทางเศรษกิจทำเลที่ตั้งทางน้ำเหมาะสมกับยุทธศาสตร์ทางทหารเรียกว่า “สมุททานุภาพ”
การสร้างความเป็นเอกภาพ
ภายหลังจากที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเตรียมไพร่พล เสบียง และกองเรือ ที่จันทบูรได้แล้ว ทรงโปรดให้ยกทัพเรือเลียบชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก เข้ามาทางปากน้ำเจ้าพระยาที่เมืองสมุทรปราการ แล้วโจมตีค่ายพม่า ที่ป้อมวิไชยเยนทร์เมืองบางกอกแตก จากนั้นจึงยกทัพไปโจมตีค่ายใหญ่ ของพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้น กรุงศรีอยุธยาได้ชัยชนะ ทำให้พระองค์ยึด กรุงศรีอยุธยากลับคืนได้สำเร็จเมื่อ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2310 สภาพกรุงศรีอยุธยาในขณะนั้นทรุดโทรมยากแก่การฟื้นฟูและใหญ่โต มากเกินกว่าไพร่พล จึงทำให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเลือก กรุงธนบุรีเป็นพระนครหลวงแห่งใหม่
การสร้างชาติให้เป็นปึกแผ่นมั่นคง โดยการทำสงครามทั้งภายในและนอกประเทศ การปราบปรามชุมนุมทั้ง 4 ชุมนุมและหัวเมืองที่กระด้างกระเดื่องเพื่อรวมชาติ การทำสงครามกับพม่า ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี ได้ทำสงครามกับพม่าถึง 9 ครั้ง เช่น รบพม่าที่บางกุ้ง ไทยตีเมืองเชียงใหม่ ครั้งที่ 2 รบพม่าที่บางแก้วเมืองราชบุรี และการขยายพระราชอาณาจักร ไปยังหลวงพระบางและเวียงจันทน์ กัมพูชาและญวนตอนใต้ ในระยะเวลา 15 ปี พระราชอาณาจักรกรุงธนบุรีได้ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง
การฟื้นฟูบ้านเมืองและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
- ด้านการปกครอง ยังคงใช้ระบบการปกครองแบบครั้งกรุงศรีอยุธยาแตกต่างที่พระองค์มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่า ไม่เป็นแบบสมมุติเทพ ส่วนด้านกฎหมายโปรดมารวบรวมไว้และโปรดให้ชำระกฎหมายเหล่านั้น
- ด้านเศรษฐกิจ การค้าเจริญรุ่งเรืองทั้งของหลวงและราษฎร มีสินค้าหลายชนิดที่ต้องขายให้ราชการเท่านั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี ทรงแต่งสำเภาหลวงออกไปค้าขาย
- ด้านการคมนาคม ใช้การคมนาคมทางน้ำมากกว่าทางบกในยามว่างจากศึกสงครามจะโปรดให้ตัดถนนและขุดคลองขึ้นมากเพื่อประโยชน์ในทางค้าขาย
- ด้านศิลปกรรมและการช่าง ในสมัยนี้แม้จะมีการทำศึกสงครามแทบจะมิได้ว่างเว้น แต่มีการฟื้นฟูและบำรุงศิลปกรรมไทยไว้ครบทุกแขนง โปรดให้รวบรวมช่างฝีมือและฝึกช่างสิบหมู่
- ด้านวิชาการ ทรงโปรดให้รวบรวมและจัดทำตำราต่าง ๆ ไว้ เช่น ทำเนียมราชการด้วยกระบวนเสด็จ ตำราการทำธงกระบี่ยุทธ ตำราหญ้าให้ช้างรับพระราชทาน ตำราว่าด้วยลักษณะที่เป็นบุญ และทรงโปรดให้มีหอหลวงไว้รวบรวมหนังสือ
- ด้านการศาสนาและการศึกษา ทรงโปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่าง ๆ ที่รกร้างปรักหักพัง โปรดให้อาราธนาพระภิกษุสงฆ์เข้าจำวัดต่าง ๆ โปรดให้คัดลอกสร้างพระไตรปิฎก ทรงออกกฎว่าด้วยศีลสิกขาและทรงโปรดให้บำรุงการศึกษาตามวัด
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีคุณูปการต่อชาติบ้านเมือง มีพระทัยเด็ดเดี่ยวกล้าหาญสร้างชาติให้มั่นคง มีพระปรีชาสามารถ มีความเด็ดขาดและแต่อบอุ่นแบบธรรมิกราชา และทรงเสียสละเพื่อชาติบ้านเมือง เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติต่อพระองค์ท่าน ใน พ.ศ.๒๕๒๔ คณะรัฐมนตรีลงมติให้ใช้ พระราชสมัญญานามของพระองค์ ว่า “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช”
Cr_ข้อมูลจาก https://thonburiart.dru.ac.th/