“ราชมงคลพระนคร” เปิดเวทีเสวนาข้ามประเทศแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม สานสัมพันธ์ไทย-จีน
“ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันนักศึกษาสาธารณรัฐประชาชนจีนนิยมมาศึกษาที่สถาบันการศึกษาในประเทศไทยจำนวนมากในแต่ละปี เนื่องจากสถาบันการศึกษาไทยมีความหลากหลายทั้งในเรื่องของคุณภาพการศึกษาและจำนวนสถาบันการศึกษาที่พร้อมรองรับนักศึกษาจากสาธารณรัฐประชาชนจีนได้จำนวนมาก ดังนั้นการเตรียมความพร้อมเปิดรับนักศึกษาจีนที่ทยอยเข้ามาศึกษาในประเทศไทยเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมของชาวไทยและชาวจีนมากขึ้น อันจะนำไปสู่ความสำเร็จในการจัดการศึกษาของจีนและไทยอย่างยั่งยืน” ผู้ช่วยศาสตราจารย์หวง ซือ หย่า หัวหน้าสาขาวิชาภาษาไทยประยุกต์ วิทยาลัยเทคโนโลยีการอาชีพหนานหนิง (NCVT) กล่าวตอนหนึ่งในการเสวนาออนไลน์ระหว่างประเทศ ภายใต้หัวข้อ “แลกเปลี่ยนความคิดพินิจภาษาและวัฒนธรรมไทย – จีน” ที่ผ่านมาเมื่อเร็ว ๆ นี้
การเสวนาดังกล่าวจัดโดยสาขาวิชาภาษาไทยประยุกต์ คณะศิลปศาสตร์ ราชมงคลพระนคร ซึ่งเป็นการเสวนาออนไลน์ระหว่างนักการศึกษาของสาธารณรัฐประชาชนจีนจากวิทยาลัยเทคโนโลยีการอาชีพหนานหนิง (NCVT) บริษัท Guangxi Hualibo Media Co., Ltd บริษัทสื่อจากสาธารณรัฐประชาชนจีน และอาจารย์สาขาวิชาภาษาไทยประยุกต์ คณะศิลปศาสตร์ ราชมงคลพระนคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนภาษาและวัฒนธรรมในรูปแบบการบูรณาการผ่านกรอบความคิดหลักคือ ลำนำแห่งสายน้ำจากล้านช้างสู่น้ำโขง 2023 ณ ห้องประชุมวังนางเลิ้ง 2 (LA 102) คณะศิลปศาสตร์ ราชมงคลพระนคร
ผศ.ยุทธภูมิ สุวรรณเวช คณบดีคณะศิลปศาสตร์ กล่าวว่า “คณะศิลปศาสตร์มีเป้าหมายสำคัญในการเป็นแหล่งการศึกษาด้านวิชาชีพและภาษาเข้มแข็งได้มาตรฐานสากล และศูนย์กลางการเรียนรู้ทางภาษา และศิลปวัฒนธรรมที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ โดยสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางด้านวิชาการ วิชาชีพทั้งในประเทศและนานาชาติ เชื่อว่าการจัดเวทีเสวนาครั้งนี้จะทำให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศได้มากขึ้น ที่สำคัญคือช่วยสร้างความสัมพันธ์ของนักศึกษาจีนที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข”
อาจารย์วิไลลักษณ์ ตางาม อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทยประยุกต์ คณะศิลปศาสตร์ ราชมงคลพระนคร กล่าวว่า “วัฒนธรรมของแต่ละชาติล้วนมีความงดงามของทั้งด้านของภาษา วรรณกรรม ดนตรี การแสดง และวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังมีความเหมือนและความต่างระหว่างของทั้งสองประเทศ หากยอมรับและเข้าใจในวัฒนธรรมของแต่ละชาติแล้วปรับตัวให้เข้ากับสังคมนั้น ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ก็ล้วนแต่จะเป็นพลังด้านวัฒนธรรมที่จะช่วยขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศให้เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป”