เจ้าของที่ดิน ถูกสร้างบ้านผิดแปลง เผชิญหน้าคู่กรณี ลั่นไม่ขาย อีกฝ่ายโอด ซื้อ 2 ล้านคงไม่ไหว
กรณี “นายไพรัตน์” ชาวท่ามะขาม จ.กาญจนบุรี เดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อขอความช่วยเหลือกับเพจสายไหมต้องรอด หลังจากที่มีการสร้างบ้านจัดสรร 2 หลังบนที่ดินของตนเอง โดยที่ตนเองไม่ทราบเรื่องมาก่อน และไม่เคยจ้างผู้รับเหมาให้มาก่อสร้างบ้านบนพื้นที่ดังกล่าว ขณะที่คู่กรณีรับปลูกบ้านผิดแปลง ยันจะจ่ายเงินเพื่อซื้อที่ดินดังกล่าว วอนลดราคาลงหน่อย
รายการโหนกระแสวันที่ 21 พ.ย. 65 “หมวย อริสรา กำธรเจริญ” ดำเนินรายการแทน “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 ได้สัมภาษณ์ ไพรัตน์ เจ้าของที่ดิน, นิด คนไปสร้างบ้านสองหลัง , เอกภพ เหลืองประเสริฐ เพจสายไหมต้องรอด และ ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อัยการอาวุโส สำนักงานสอบสวน
ปรเมศวร์ : ต้องเริ่มต้นถามที่คนสร้าง เพราะตอนนี้ที่คนสงสัย พอสร้างเสร็จแล้วขายเลย
นิด : จริง ๆ เพิ่งเริ่มทำโครงการ เพิ่งสร้างบ้านครั้งนี้ครั้งแรก มีพี่ที่รู้จักกัน เขาเอาที่ดินมาขาย 100 ตารางวา แล้วเขาไปชี้ให้ดูว่าตรงนี้ เราก็ผิดเอง ช่วงที่เราไปติดต่อรังวัดที่เมืองกาญจน์ ช่วงนั้นเขาติดโควิด
ปรเมศวร์ : ไปซื้อเลยใช่มั้ย ให้พนักงานที่รังวัด หรือคนนอก
นิด : จริง ๆ ทำตามขั้นตอน ซื้อเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ไปเดินเรื่องที่ดินขอทำรังวัด ที่ดินช่วงนั้นก็นัดอีกเดือนนึง กว่าจะถึงสำนักงานช่วงนึงก็ปิดไปเลย ก็เลยเอาเอกชนไปรังวัด ก็เลยรู้ว่าผิดแปลงค่ะ ตอนนั้นเริ่มสร้างแล้วค่ะ
ปรเมศวร์ : ตอนซื้อโอนกรรมสิทธิ์เลยหรือเปล่า หรือซื้อแต่ยังไม่โอน
นิด : ซื้อโอนเลยค่ะ ซื้อโอนโฉนดไป 3 แสนค่ะ
ปรเมศวร์ : จะทำบ้านขาย ตอนทำบ้านขายก็ไปรังวัดอีกที
นิด : ใช่ค่ะ 100 ตารางวา แบ่งเป็น 2 แปลง ก็จะไปรังวัด ระหว่างที่รอ ช่วงนั้นก็เป็นผู้รับเหมาที่เขารู้จักกัน เป็นเพื่อนๆ กัน เขาจะสร้างบ้านให้เรา ก็ให้เงินเขาไปเรื่อยๆ เขาก็ไปติดต่อเดินน้ำ เดินไฟให้ ก็สร้างไปค่ะ
ปรเมศวร์ : แล้วรู้ตอนไหน
นิด : รู้ตอนให้เอกชนเขามารังวัดค่ะ
ปรเมศวร์ : ตอนมารู้ว่าล้ำ บ้านเสร็จหรือยัง
นิด : ใกล้แล้วค่ะ เราก็หยุดเลยค่ะ พอรู้ก็ตกใจ ก็เจอเจ้าของ พยายามติดต่อขอไกล่เกลี่ยว่าจะทำยังไงดีมาโดยตลอด
เราไม่ได้ไปดูที่เลยเหรอ?
ไพรัตน์ : ที่ซื้อตั้งแต่ปี 57 ผมก็ดูมาตลอด เพราะจะมีป้าคนนึงอยู่แถวพื้นที่ ผมก็ให้แกปลูกผัก ปลูกมะเขือ ปลูกมะละกอ ก็ให้เขาทำประโยชน์มาเรื่อย ที่จะได้ไม่รก มีช่วงโควิดระบาดแรกๆ 2-3 เดือน ผมไม่ได้เข้าไปดู สักประมาณกลางๆ ปี 64 ไม่ได้ไปดู แล้วช่วง 13 ธ.ค. มีหนังสือกรมที่ดินให้ผมไปชี้แนวเขต เพื่อรังวัดข้างเคียง ก็ตามเวลานัดหมาย 10 โมง วันที่ 13 ธ.ค. 64 ผมเข้าไปในพื้นที่ เห็นสองหลังผมก็ตกใจแล้ว เพราะมันที่ผม แล้วพื้นที่ข้างเคียงก็ถัดไปอีกแปลงนึง แปลงผมแปลงที่สอง แล้วแปลงผู้มาก่อสร้าง แล้วมีแปลงเพื่อนบ้าน พอเข้าไปผมก็รู้ว่าผิดแปลง เจ้าหน้าที่ก็ทำการรังวัดตามที่ผู้ก่อสร้างได้จ้างมา ซึ่งชี้แนวเขตแต่ละคน ผมไปผมก็ชี้ของผม แล้วฝั่งลุงที่ถัดจากคุณนิดก็ชี้ของเขา ก็ผิดแปลงแน่นอน ทางเจ้าหน้าที่รังวัด โทรตามเจ้าของโครงการให้มา เพราะตอนทำรังวัดเจ้าของโครงการไม่ได้เข้ามา เจ้าของโครงการเข้ามากับเจ้าหน้าที่ ผอ.กองช่างเทศบาล พอเข้ามาก็มีการพูดคุยกัน ทางเจ้าหน้าที่ที่ดินแจ้งเจ้าของโครงการว่าปลูกผิดแปลงนะ ก็ได้คุยกับผอ.กองช่าง เขาแจ้งว่าคุณปลูกบ้าน ขออนุญาตหรือยัง ผมก็บอกว่าผมไม่ได้ปลูก
ปรเมศวร์ : แล้วได้ขออนุญาตก่อสร้างมั้ย
นิด : เรื่องขออนุญาตก่อสร้างเราไปติดต่อที่ดินและเอาแปลงทั้งสองแปลงมา เอาเอกสารไปยื่นที่เทศบาล แต่เราก็มีหนังสือมาว่าเราได้ดำเนินการอยู่ อยู่ระหว่างดำเนินการค่ะ เพราะเราไปยื่นที่ดิน และเอาเอกสารที่ดินมาแบ่งเป็นแปลงๆ
ปรเมศวร์ : หมายความว่าตอนก่อสร้างไม่ได้ไปยื่น ถูกมั้ย
นิด : ใช่ค่ะ ยังไม่แบ่งแยกค่ะ ต้องแบ่งแยกก่อน แล้วหนูถึงเอาเอกสารไปให้ทางเทศบาล
ปรเมศวร์ : เทศบาลเลยบอกว่าเจ้าของที่ดินไม่ได้ขออนุญาต
ไพรัตน์ : ผมก็แจ้งกับทางผอ.ไปว่าบ้านหลังนี้ผมไม่ได้ก่อสร้าง คุณมาด้วยกัน คุณก็คุยกับเขาสิครับ
ปรเมศวร์ : แล้วผอ.ไปทำไม
นิด : กำลังจะบอกพอดีว่าไม่ได้มาด้วยกันค่ะ เรามาเจอกันพอดีค่ะ
ไพรัตน์ : มาด้วยกันหรือไม่ได้มาด้วยกันผมไม่ทราบ แต่ผมเห็นมาพร้อมกัน ผมก็แจ้งเขาไปว่าบ้านหลังนี้ ผมเป็นเจ้าของที่ดินจริง แต่สิ่งปลูกสร้างไม่ใช่ของเรา ผมก็แจ้งเขาไปตามนั้น ทางพยาน และเจ้าหน้าที่ที่ดินก็ทราบแล้ว
ปรเมศวร์ : ไปแจ้งความเนินคดีมั้ย
ไพรัตน์ : แจ้งความครับ เดือนธ.ค. หลังจากวันนั้นครับ แจ้งไปแล้วช่วงระหว่างที่แจ้ง กว่าจะรับแจ้งความ ศาลใช้เวลา 3 เดือน
ผอ.กองช่างบอกว่าพี่ไพรัตน์ต้องเสียค่าปรับ?
ไพรัตน์ : ใช่ครับ แล้วมีหนังสือระงับการก่อสร้าง ไม่ได้ให้รื้อถอนครับ
ปรเมศวร์ : เขามีคดีตอบมามั้ยว่าแจ้งความดำเนินคดีกับเรา ในฐานะที่ปลูกสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต
ไพรัตน์ : ไม่มีครับ
ปรเมศวร์ : มันก็มาจบอยู่ตรงนี้ เข้าใจว่าไปแจ้งความเรื่องบุกรุก ทีนี้ถ้าฟังดูดีๆ ตอนสร้างครั้งแรกไม่รู้ สร้างโดยสุจริต เมื่อรู้ว่าบุกรุกเลยหยุด อันนี้ความผิดฐานบุกรุกน่าจะไม่มี นี่พูดกลางๆ นะ คำถามคือจะแก้ปัญหาตรงนี้ยังไง
นิด : จริงๆ ก็รู้ตัวว่าเป็นคนผิด ถ้ามีค่าปรับก็จะรับผิดชอบทั้งหมด เรื่องราคา เราก็ขอไกล่เกลี่ย
ปรเมศวร์ : ถือว่าสร้างผิดทั้งหลัง คุณไพรัตน์มีสิทธิ์ที่จะได้บ้านหลังนี้ และใช้ราคาเฉพาะส่วนที่เพิ่ม หรือถ้าคุณไพรัตน์ไม่ได้ประมาทให้คนอื่นมาสร้าง คุณไพรัตน์จะสั่งให้เขารื้อก็ได้ นี่คือสิทธิคุณไพรัตน์ เพราะคุณนิดไม่ได้รุกล้ำแค่บางส่วน แต่รุกล้ำทั้งแปลง หลักกฎหมายเป็นอย่างนั้น สมมติที่ดินราคาล้านนึง สร้างไป 6-7 แสน แต่พอใครมาดูปุ๊บที่ดินเพิ่มขึ้นมา 1.2 ล้าน เขาใช้มูลค่าที่เกินจากที่ดิน 2 แสนให้กับผู้สร้าง แต่บ้านกลายเป็นของเขา หลักกฎหมายเขียนไว้แบบนี้ คำถามที่สอง คุณไพรัตน์ประมาทมั้ยที่ปล่อยให้เขามาสร้าง ตรงนี้น่าสนใจ มันมีแนวพิพากษาฎีกาว่าถ้าประมาท เช่น ไม่มีแนวรั้ว แล้วคนอื่นเขาสร้าง เรื่องนี้ก็จะเปลี่ยนไปอีกมุมนึง
คุณไพรัตน์เล่าว่าซื้อไว้ตั้งแต่ปี 57 แล้วให้เพื่อนบ้านปลูกผัก แล้วพอที่เขาสร้างบ้าน เพื่อนบ้านไม่ได้บอกคุณไพรัตน์เหรอ?
ไพรัตน์ : จากคำบอกกล่าวของคุณป้า แกปลูกมะเขืออยู่ แล้วทางโครงการเข้ามาแจ้งป้าว่าที่ตรงนี้เขาจะทำโครงการปลูกบ้าน คุณป้าก็บอกว่าที่ตรงนี้เป็นของคุณไพรัตน์ มีเจ้าของ คุณจะมาสร้างได้ไง
นิด : ป้าคือตายาย คือสมัยก่อนเขาเป็นขายที่แถวนั้นทั้งหมดเป็นล็อกๆ เป็นตายายคู่หนึ่ง แต่คนที่ขายให้นิดก็เป็นคนลูกแก ตากับยายก็ถามว่าซื้อจากใครเหรอ ซื้อจากคนลูกแกใช่มั้ย เผอิญเพิ่งมารู้ว่าคุณไพรัตน์ก็เป็นคนลูกแก ตายายยังช่วยหาให้ค่ะ คุณตาก็เพิ่งเสียไป แต่ยายยังอยู่ เขาก็รับรู้ หนูเล่าให้ฟังเอง พอรังวัดรู้ก็บอกว่าให้แลกที่กัน แต่ถ้าแลกที่ ให้เพิ่มเงินก็ได้
ปรเมศวร์ : หลักกฎหมาย ไปสร้างโรงเรือนในที่คนอื่น เจ้าของที่คือเจ้าของโรงเรือน แต่เจ้าของที่ต้องใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นให้กับคนที่สร้าง แต่มีข้อต่อไปว่าถ้าเขาไม่ได้ประมาทเลินเล่อ แล้วเราไปสร้าง แบบนี้เขาได้เงินฟรี ถ้าไม่ประมาทเขาสั่งรื้อได้ แต่ถ้าเขาประมาทเลินเล่อ ยังรื้อไม่ได้ ที่เหลือก็อยู่ที่การเจรจา ถ้าจะแลกที่ เรามีที่ให้แลกมั้ย
พี่เอกได้เข้ามาดูแลเรื่องนี้?
เอก : ตอนผู้เสียหายมาร้องที่สายไหมต้องรอด เขาก็อธิบายพูดคุย แต่ผู้เสียหายเข้าใจว่าโครงการหมู่บ้านจัดสรร ทราบว่าที่ตรงนี้ไม่ใช่ที่เขา แต่เป็นแปลงสวย เป็นแปลงทำเลดี เลยไปสร้างก่อน แล้วเหมือนเข้าใจว่าสร้างเสร็จแล้วค่อยมาคุยกับเจ้าของที่ทีหลัง ว่าสร้างไปแล้ว เลยมาขอซื้อที่ แต่ตัวผมเองได้อธิบายว่าต้องคุยกัน ต้องเจรจากัน แต่ข้อสงสัยของพี่เจ้าของที่ดิน เหมือนเราจะปลูกบ้านหลังนึง เราต้องไปติดต่อที่เทศบาลก่อนเอาโฉนดที่ดินให้เทศบาลดูว่าจะปลูกสร้างที่ดินบนโฉนดแปลงนี้ เจ้าของที่ต้องอนุญาต เทศบาลต้องขอดูโฉนด ขอดูแบบทุกอย่าง เทศบาลต้องดูแบบ แก้แบบถึงเซ็น พอเซ็นเสร็จถึงเอาแบบไปให้ผู้รับเหมาแล้วก่อสร้าง ฉะนั้นการไปก่อสร้างโดยไม่มีแบบ โดยที่แบบยังไม่ออก มันทำไม่ได้เด็ดขาด ผมถึงสงสัย เพราะฝั่งเจ้าของที่ดินเขาก็สงสัยว่าแล้วไปก่อสร้างยังไง ในเมื่อไม่ได้ไปขออนุญาตก่อน กลายเป็นเขาต้องมาเดือดร้อน โดยเทศบาลไปแจ้งเขาว่าคุณปลูกบ้านโดยไม่ได้ขออนุญาต ต้องจ่าย 6 หมื่น แล้วเทศบาลทราบเรื่องนี้มา 5 เดือนแล้ว มีการยกเลิกหรือยัง คำตอบคือยังนะครับ เทศบาลก็ยังยืนยันว่าต้องไปเสียค่าปรับ และเสียเป็นรายวันอีกต่างหาก จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการบอกเลิก
ปรเมศวร์ : มันดำเนินคดีไม่ได้หรอก เพราะเขาไม่ได้เป็นคนปลูกสร้าง ต้องมาว่ากับทางนี้
ทำไมตอนนั้นไม่มีการเอาแบบไปขออนุญาตตามขั้นตอนการสร้างบ้าน?
เอก : ถ้าขอเวลานั้น จะรู้ทันทีว่ามันไม่ใช่ที่ของเรา
นิด : คือที่ต้องแบ่งเป็นสองแปลง เราก็ไปที่ดินก่อน ทำเรื่องรังวัด ถึงเอาเอกสารทั้งหมดไปยื่นให้เทศบาล แต่รังวัดแจ้งมาว่าทำเรื่องอยู่ แต่ตอนช่วงที่ไปมันโควิด เขาก็เลยเลื่อนไป ที่ดินปิดสำนักงานเลยก็มี ทำให้ไม่ได้ไปรังวัด ทีนี้พอรอไปเรื่อยก็ได้ติดต่อเอกชน ถึงทราบว่าเราปลูกผิดแปลงค่ะ
เริ่มปลูกตั้งแต่วันไหน?
นิด : เดือนพ.ค. 64 ค่ะ แต่เริ่มซื้อที่ดินตอนเม.ย. พ.ค. เริ่มถมดิน ติดต่อน้ำไฟ พ.ค. ก็เริ่มก่อสร้าง
แต่หนังสือที่ไปสำนักงานที่ดินที่กาญจนบุรี เป็น 30 ก.ค.?
นิด : ค่ะ จริงๆ แล้วตอนทำสัญญาประมาณปลายเดือนพ.ค. มิ.ย.
ปรเมศวร์ : เรื่องปลูกสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตผิดแน่นอน ใครเป็นคนก่อสร้างคนนั้นก็ผิด ส่วนเจ้าของที่ดินเขาไม่ได้อนุญาต ก็จบไป เรื่องฝั่งโน้นจบไป ทีนี้ตั้งข้อสังเกตนิดนึง ที่ดินซื้อเม.ย. บางครั้งซื้อเม.ย.แล้วทำขายเลยไม่ได้ ถ้าจะขายเลยมีทรัพย์สินเฉพาะเพิ่มเข้ามาอีก มีบ่อยครั้งที่ผู้รับเหมา เจ้าของโครงการทำไปก่อน แต่ตรงนั้นไม่ว่ากัน ทีนี้มาหาทางคุยกัน แล้วจะทำยังไงกับที่ตรงนี้
นิด : ถ้าโดนปรับ ทางเราจะรับผิดชอบทั้งหมดอยู่แล้ว พอเขาบอกให้หยุดก่อสร้างเราก็หยุดเลย ไม่ได้เข้าไปเลย แต่ว่าได้ติดต่อตลอดว่าจะขอซื้อ
ปรเมศวร์ : ถ้าหยุดก็ไม่มีข้อหาฝ่าฝืน มีเพียงข้อหาไม่ได้รับอนุญาตเฉยๆ ทีนี้เหลือเรื่องบ้าน
โฟนอิน “ณวฤทธิ์” เจ้าหน้าที่รังวัดที่ดินเอกชน ที่ไปรังวัดที่ดินผืนนี้ พอไปรังวัดก็รู้เลยใช่มั้ยว่ามีปัญหาแน่นอน?
ณวฤทธิ์ : ก็บอกทั้งสองฝ่ายไว้ว่าบ้านสองหลังปลูกผิดแปลง ก็ให้เขาไปตกลงกัน บันทึกไว้ก่อน ผมเข้าไปครั้งแรก 13 ธ.ค. 64 พอ 9 ก.พ. ฝ่ายโน้นไปยื่นรังวัดก็ไปพร้อมกันอีกครั้ง เพราะเขตไม่มีปัญหา เขามีปัญหาเรื่องบ้านกันอย่างเดียวที่ปลูกผิดแปลง
คุณณวฤทธิ์ให้เขาคุยกันเอง?
ณวฤทธิ์ : ใช่ครับ เรื่องบ้านเรื่องอะไร
วันที่ไป เจ้าของที่ดินได้คุยกับคุณณวฤทธิ์มั้ย?
ณวฤทธิ์ : ไม่ได้คุย ก็บอกว่าปลูกผิดแปลงแล้ว ผอ.กองช่างก็ไปวันนั้นด้วย ครั้งแรกที่เข้าไปตามรูปเลย หลังนึง 60 เปอร์เซ็นต์ อีกหลัง 40 เปอร์เซ็นต์ ก็ตามรูปเลย
ทางคุณนิดก็เจอคุณณวฤทธิ์ ได้บอกอะไรกันมั้ย?
นิด : เขาก็บอกว่าผิดแปลง ก็ตกใจเหมือนกันค่ะ แต่เขาบอกว่าเจอเจ้าของ เจ้าของใจดี ลองคุยกับเขาดูว่าจะยังไง จะซื้อเขาหรือยังไงก็ให้คุยกันค่ะ เราไม่ได้เจตนาเลย ทุกวันนี้ที่ลงไป เราหย่อนให้ผู้รับเหมาทีละนิดๆ เพราะเขาตกงานด้วย เขาก็จะเบิกเราทีละนิดๆ เราก็หย่อนให้เขาไป เราเพิ่งทำครั้งแรกก็ยอมรับว่าผิดพลาดค่ะ เราเสียใจ ไม่ได้ตั้งใจอยากจะได้ของเขา ไม่ได้อยากได้ที่ดินเขาจริงๆ เราพยายามให้คุณไพรัตน์เสนอมาว่าราคาเท่าไหร่ แต่เราเห็นว่าราคาสูงเราก็ไกล่เกลี่ยกันตลอด ไม่ได้ขาดหายไปเลยนะคะ
คุณนิดพร้อมดำเนินการทุกอย่างให้ แต่ที่ผ่านมา เรื่องค่าปรับ เรื่องตัวเลขไม่ลงตัว?
ไพรัตน์ : ผมไม่ได้ต้องการขายที่ดิน เราซื้อไว้เราก็มีโครงการของเรา เราอยากปลูกห้องเช่า ที่ดินตรงนั้นใกล้ตลาด ใกล้โรงเรียน ใกล้รพ. และใกล้วัด มันเป็นชุมชน เราซื้อเก็บไว้ปลูกบ้านไว้กินยามแก่ เราก็ตั้งโครงการไว้ เราไม่มีความตั้งใจที่จะขาย แต่ทางโครงการมาบอกว่าอย่ารื้อนะ เขาขอซื้อผม เราก็เลยตั้งราคาไว้ ราคาที่ตั้งไว้เราไม่ได้อะไรหรอก เพราะเรามีส่วนเสียเยอะ ที่อนาคตเราทำเงินได้มากกว่านั้น แต่ผมคิดว่าผมจะเก็บไว้ทำประโยชน์เองดีกว่า
ปรเมศวร์ : หลักกฎหมาย สร้างแล้วเป็นของคุณไปแล้ว แต่ปัญหาคือมีถมที่เพิ่มด้วย บ้านเป็นของเจ้าของที่ดิน แต่คำนวณราคาที่ก่อสร้าง ราคาที่ดิน ณ วันนี้ เพิ่มขึ้นเท่าไหร่หลังสร้างบ้าน ทางเจ้าของที่ดินต้องแจ้งผู้สร้าง นี่คือหลัก ประการที่สอง ถ้าไม่ได้ประมาท สั่งให้รื้อได้เลย ถ้าเจ้าของที่ดิน ไม่ได้ประมาทมีอำนาจให้รื้อได้เลย 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ประมาทหรือไม่ประมาท มันมีรั้วแสดงอาณาเขตหรือไม่
ไพรัตน์ : ล้อมรั้วไม่มีครับ
ปรเมศวร์ : ตรงนี้ก็จะอยู่ในหลักที่ว่าประมาทอยู่บ้าง ตรงนั้นก็ว่ากันไป แต่ให้รู้ก่อนว่าตึกเป็นของเขานะ แต่เขาจะใช้ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นกับเรา สมมติที่ดินเดิมราคาล้านนึง พอสร้างบ้านไปปุ๊บ คนมามองแล้วตีราคา ที่ดินนี้น่าจะสัก 1.2 ล้าน เขาก็ต้องจ่าย 2 แสนให้เรา นี่คือหลักกฎหมาย แต่ถ้าทางโน้นล้อมรั้วไว้แล้วเราไปสร้าง เขาสั่งรื้อเลย ทีนี้ประการแรก ก็ต้องถามว่ามีที่จะแลกมั้ย แล้วเขาจะเอามั้ย เพราะเขาไม่อยากขาย ที่ใกล้เคียง ทำเลดี หนึ่งซื้อที่เพิ่ม สองแลกที่ หรือข้อเสนอที่สาม ลงขันลงหุ้นกันแล้วขาย แบ่งกำไรกัน มันก็มีทางเลือก สร้างต่อให้เสร็จ ตรงไหนว่างสร้างเพิ่ม เป็นหุ้นส่วนกันซะก็จบ เพราะทางอื่นไม่มีทาง ถ้าไม่เลือกอะไรเลย ก็ไปคำนวณราคาที่ แล้วให้ทางโน้นใช้ส่วนที่เพิ่ม
เอก : ทางนี้เขาไม่ได้อยากได้บ้านไงครับอาจารย์ เขาอยากปลูกสร้างห้องแถว ห้องเช่า
ปรเมศวร์ : ผมพูดถึงหลักกฎหมาย เมื่อสร้างไปขนาดนี้แล้ว เขาเป็นเจ้าของแล้ว ถ้ารื้อแล้วต้องเสียราคาเกินสมควร เขาบอกให้ซื้อไว้เลย ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับผมนะ ณ เวลานี้ มีที่แลกให้เขามั้ย ในขนาดที่ใกล้เคียง ทำเลพอเหมาะกัน
นิด : มีแปลงติดกัน แต่ขนาดน้อยกว่านิดนึง
ปรเมศวร์ : ถ้าน้อยกว่านิดนึง แล้วชดใช้ราคาให้เขาได้มั้ย
นิด : แปลงที่ผิดเพราะเราอยู่ใกล้เขาเลย ไม่ใช่มาสร้างผิดเพราะเราอยู่ไกลกันค่ะ
ปรเมศวร์ : ถ้าที่ดินอยู่ติดกันเราแลกกันได้มั้ย ถ้าราคาต่างกัน เราจะชดใช้ส่วนเกินส่วนที่ขาดให้เขาได้มั้ย ถ้าแลกที่ เพราะทางโน้นไม่ได้เสียทำเลอะไรมากมาย
ตอนนี้จะแลกที่ หรือเสนอเงินในการซื้อบ้านสองหลัง ยังไงได้บ้าง ราคาประเมินอยู่ที่ 3-4 แสนบาท แต่คุณไพรัตน์ ขอ 2 ล้าน ล่าสุดลดมา 1.2 ล้าน ก็ยังตกลงกันไม่ได้ จะมีทางไหนหาทางออกร่วมกันได้มั้ย?
ไพรัตน์ : ผมก็ยังยืนยัน ผมจะเก็บไว้ทำประโยชน์ของผม ปลูกห้องเช่าของผม เก็บไว้กินยามเกษียณดีกว่า ก็อยากได้ที่คืน ไม่ได้อยากได้บ้าน
แม้ตามกฎหมาย คุณไพรัตน์จะได้บ้านสองหลัง แล้วจ่ายเงินส่วนเกินให้ทางคุณนิด แต่ทางนี้บอกว่าไม่เอา?
ปรเมศวร์ : กฎหมายมีทางออกทางนั้นทางเดียวครับ
ยังไงคุณไพรัตน์ก็ต้องเอาบ้านสองหลังไป?
ปรเมศวร์ : ครับ
เอก : แม้ว่าจะไปทุบทิ้งในอนาคตเหรอครับ ก็ต้องจ่ายอยู่ดี อย่างนี้ก็ตายสิ ถ้าผมมีที่ทิ้งไว้แล้วมีใครไปปลูกอะไรที่ผม
ปรเมศวร์ : ก็อย่างที่กฎหมายบอกว่าถ้ามีที่ทิ้งไว้แล้วไม่ประมาทคือมีแนวรั้ว คนมีที่มีที่แล้วไม่มีแนวรั้วกั้นอาณาเขตตัวเอง ถือว่าประมาทบางส่วนอยู่แล้ว แต่เราไม่อยากใช้กฎหมายทำนองนั้น เพราะข้อตกลงมันตกลงกันได้ในทางแพ่ง สมมติวันนี้ตกลงกันไม่ได้ก็อาจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไปยื่นคำร้องต่อศาล นัดเจรจาไกล่เกลี่ย ถ้าไกล่เกลี่ยไม่ได้ก็ฟ้อง ถามว่าฟ้องได้มั้ย ทางนี้ฟ้องเรียกเงินส่วนเกินซึ่งไม่มีประโยชน์ มันผลักไปให้เดินถึงสุดทางได้ แต่ถ้าคุยกันได้มันดีกว่า ตอนนี้รับบ้านไป ดูว่ามีราคาที่ดินเพิ่มมั้ย ก็ใช้ราคาที่ดินเพิ่มให้คนที่สร้าง ซึ่งมันก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร สุดท้ายก็ไม่สมประสงค์ไปอีก สุดท้ายก็ต้องทุบทิ้ง ส่วนแลกที่ ทางโน้นบอกว่าแลกแล้วก็ทำประโยชน์ไม่ได้ จะร่วมหุ้นก็ไม่ร่วมแล้วล่ะ (หัวเราะ)
ถ้าแลก คุณไพรัตน์บอกว่าที่ตรงนี้ก็จะสร้างห้องเช่าได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะที่หายไปส่วนนึง มันเล็กกว่าเดิม ทางคุณไพรัตน์บอกว่าที่เขาแปลงนี้สวยกว่าอีกแปลง?
ปรเมศวร์ : ไปซื้อที่แปลงอื่นคืนได้มั้ย
เอก : แถวนั้นมีมั้ย พี่ขอซื้อเขาได้มั้ย ขอซื้อเสร็จก็แลกกับพี่เขาไปเลยได้มั้ย
ปรเมศวร์ : มันต้องถอยบ้างนะ จะยืนอยู่ตลอด ท่านก็ไม่ได้ประโยชน์ จะถอยเสียทีเดียว ท่านก็ไม่ได้ประโยชน์ ผมคิดว่ามันเกิดข้อผิดพลาดเพราะโควิดนี่แหละ มันก็ต้องหาทางแก้ วันนี้ผมคิดว่าเราได้แนวทาง ทางเลือกสักสองสามทาง อาจให้ทางฝ่ายเจ้าของที่มีเวลาคิดอีกนิดนึง ไตร่ตรอง คุยกัน ผมว่ายังติดอารมณ์ เพราะบอกแล้วว่า 1.6 ล้าน ไม่มา
ไพรัตน์ : ไม่ใช่เรื่องที่ 1.6 ล้าน แต่ผมโดนรุมมาทุกหน่วยงานของรัฐ
ปรเมศวร์ : เราเดินหน้าต่อไป เพื่อความสงบสุข ใครรังแกท่านมาบอกผม เดี๋ยวจัดการให้
ไพรัตน์ : ได้ครับ
นิด : นิดไม่ได้มีพรรคพวก ไม่มีเส้นมีสายเลยนะคะที่มันช้าเพราะเขาแจ้งข้อหาอาญาบุกรุก ทีนี้ตร.เรียกไปบอกว่าไม่ใช่ เขาก็ส่งเหมือนกัน เหมือนเราไม่ได้บุกรุกอาญา เรื่องอาญาไม่โดนนะคะ
ปรเมศวร์ : ข้อหาปลูกสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตโดนแน่ๆ ฟันธงเลย แต่การสอบสวนเขาสอบยังไง ผมไม่ทราบ
ตอนนี้ 2 ล้านก็ไม่เอาแล้ว?
ไพรัตน์ : ไม่เอาแล้ว
ปรเมศวร์ : เพราะเขาจะไม่ขาย ให้เวลาคิด
เอก : 2 ล้านพี่พร้อมซื้อมั้ย
นิด : ไม่ค่ะ เพราะไม่ได้มีเงินขนาดนั้น ทุกวันนี้ก็ผ่อนให้ผู้รับเหมา จ่ายทีละนิดๆ ค่ะ ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ค่ะ
ปรเมศวร์ : ถ้าจะขายบ้าน ขายหลังเท่าไหร่
นิด : หลังละ 1.9 ล้านค่ะ แต่เฉพาะค่าก่อสร้างบ้านก็ 1.2 ล้าน แล้วถมดินอีกค่ะ
เอก : แต่บ้านสองหลังของพี่ มันอยู่บนที่ดินพี่เขานะ แล้วมันกินเนื้อที่พี่ไปนิดเดียว เท่ากับว่าถ้าพี่ขาย พี่ขายได้เกือบ 4 ล้านนะ
นิด : ทราบว่าผิด ก็ยอมรับทุกอย่าง แต่ถ้าซื้อ 2 ล้านมันเกินความจริง และไม่ได้มีเงินขนาดต้องไปซื้อ 2 ล้าน
ปรเมศวร์ : ถ้าสมมติขายสองแปลง เอาที่ฝั่งโน้นมาขายด้วย ทั้งที่สองหลังสองแปลง ขายได้เท่าไหร่
นิด : ยังไม่ทราบค่ะ หนูเพิ่งทำครั้งแรก ยังไม่รู้เลยว่าจะได้ยังไง เพราะถนนเป็นลูกรัง ไฟฟ้าก็ต้องไปลากเสามา ตรงนั้นไม่ได้เจริญมาก ก็ให้ผู้รับเหมาเขาขอไฟมาค่ะ
ปรเมศวร์ : ถ้าเอาไว้ทางโน้นก็ต้องจ่ายเพิ่ม มันเจริญแล้วไง
มีแนวทางตกลงกันได้บ้างมั้ย?
เอก : ผมเข้าใจนะ พี่ซื้อที่ไว้หนึ่งแปลง คาดหวังว่าทำเลดี จะเอาไว้ปลูกบ้านเช่าเอาไว้กินตอนแก่ อยู่ๆ มีคนมาปลูกบ้าน แต่พอเกิดเรื่องไปแล้ว มันจะต้องจบยังไงได้
ไพรัตน์ : ถ้าเรื่องซื้อไว้ทำประโยชน์ของผม ผมก็ต้องเลือกที่ผมทำประโยชน์ได้มากที่สุด ก็อาจจ่ายมูลค่าที่ดินเพิ่มให้เขาไป ถ้าแนวนะ เพราะข้อสอง ข้อสามไม่โอเค เพราะเราเอาไว้ทำประโยชน์ของเรา ไว้กินยามแก่ของเรา
ปรเมศวร์ : ก็เดินตามกฎหมายอย่างเดียวที่กำหนดว่าสิทธิเป็นแบบนี้
มีโอกาสเอาบ้านสองหลังไว้และจ่ายเงิน?
ปรเมศวร์ : ก็ต้องรื้อออก ถ้าไม่เอาไว้ใช้ก็จ่ายแล้วทุบทิ้ง แค่นั้น