“CEA” เปิดตัวโครงการ “HERB TO GO สมุนไพรไทยพร้อมไปต่อ”
โมเดลพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก มุ่งยกระดับวิสาหกิจชุมชน เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA เปิดตัวโครงการ “HERB TO GO สมุนไพรไทยพร้อมไปต่อ” โมเดลพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่จะช่วยพัฒนายกระดับวิสาหกิจชุมชน ด้วยการใช้แพลตฟอร์มความร่วมมือเเละความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดสินค้าและบริการ ดัน 3 จังหวัดต้นเเบบ ได้แก่ กระบี่ สกลนคร สมุทรปราการ มุ่งใช้สมุนไพรท้องถิ่น ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สร้างจุดขาย เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ตั้งเป้าต่อยอดโมเดลสู่จังหวัดอื่นๆ ต่อไป
ดร.ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA เปิดเผยว่า CEA มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้นำเสนอโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยใช้กระบวนการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ (Value Creation) ให้แก่สมุนไพรไทย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจชีวภาพและเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศไทยของเรานั้นตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น ทำให้มีความหลากหลายของพันธุ์พืชสูง ตลาดสมุนไพรไทยจึงเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องในเอเชียและยุโรป ซึ่งสินทรัพย์ล้ำค่าเหล่านี้มีอยู่ในท้องถิ่นทั่วประเทศ “CEA จึงเล็งเห็นช่องทางการนำมาพัฒนาต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์ผนวกกับองค์ความรู้ด้านการพัฒนาธุรกิจ นวัตกรรม สร้างเป็นแบรนด์สินค้าและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทย ที่สามารถยกระดับวิสาหกิจชุมชน สู่การเพิ่มมูลค่าธุรกิจ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตชุมชนให้ดียิ่งขึ้นเเละการต่อยอดเชิงพาณิชย์ในตลาดท้องถิ่นเเละตลาดสากลต่อไป”
ภายในงาน เมื่อเร็ว ๆ นี้ (9 ก.ย. 65) ณ ห้อง Auditorium ชั้น M สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นประธานเปิดงานโดยมี ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองประธานคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากเเละประเทศ นางสาวสกุณา สาระนันท์ สมาชิกผู้เเทนราษฏร เขต 5 จังหวัดสกลนคร และนางสาวพิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล สมาชิกผู้เเทนราษฏร จังหวัดกระบี่ ให้เกียรติร่วมเสวนา พร้อมแชร์ประสบการณ์ในการพัฒนาชุมชน โดยมี ดร.ชาคริต พิชยางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นำคณะผู้จัดงานให้การต้อนรับ ท่ามกลางผู้มีเกียรติและสื่อมวลชนร่วมงานจำนวนมาก
ดร.ชาคริต กล่าวต่อไปว่า CEA เป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญในการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ ไทยด้วยความคิดสร้างสรรค์ผ่านโครงการเเละกิจกรรมในรูปเเบบต่างๆ “HERB TO GO สมุนไพรไทยพร้อมไปต่อ” นับเป็นโครงการสร้างมูลค่าสินค้าไทยจากเศรษฐกิจท้องถิ่น (Value Creation) โดยมุ่งสร้างโมเดลต้นแบบธุรกิจสมุนไพรที่ส่งเสริมและสร้างรายได้ ขยายโอกาส รวมทั้งความยั่งยืนให้แก่วิสาหกิจ ด้วยกระบวนการ Space Compass Creation:Service Journey นั่นคือ ร้อยเรียงเส้นทางสร้างมูลค่าเพิ่มในการพัฒนาสมุนไพรไทย โดยดึงจุดเเข็งและจุดขายของแต่ละท้องถิ่น พร้อมโจทย์ของตลาดนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ และมาตรฐาน แล้วเพิ่มคุณค่าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสม ตลอดจนสร้างความพิเศษให้โดดเด่นด้วยการบอกเล่าเรื่องราวเฉพาะของท้องถิ่น ภายใต้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เเล้วลงมือทำจริงแบบครบวงจร เพื่อให้วิสาหกิจชุมชนสามารถดำเนินการ ต่อไปเองได้
ผู้อำนวยการ CEA เผยด้วยว่า โครงการนี้ ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งให้วิสาหกิจชุมชน เเละสร้างโอกาสทางธุรกิจ จึงวางแนวทางการตลาดสร้างสรรค์ร่วมกันกับท้องถิ่นและภาคส่วนอื่น ๆ เช่น การให้วิสาหกิจชุมชนทดลองออกตลาดในท้องถิ่น จนไปถึงกิจกรรม Business Matching เเละสร้างเครือข่ายช่องทางตลาดกับกลุ่มธุรกิจท้องถิ่น อาทิ สมาคมโรงแรมจังหวัดกระบี่ ร้าน Mother marche ของจังหวัดกระบี่ ร้านน้องนิดศูนย์ของฝากที่ใหญ่ที่สุดในสกลนคร ร้านออแกนิกฟาร์ม เอ้าท์เล็ทที่ครอบคลุมทั่วทั้งภาคอีสาน และองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ อีกทั้งยังมีร้านค้าในท้องถิ่นจำนวนมากที่ให้การสนับสนุน ตลอดจนตลาดโมเดิร์นเทรด อาทิ บริษัท เซ็นทรัล จำกัด, บริษัท สุขสยาม จำกัด และรวมถึงการออกบูธ CEA ใน COSMOPROF CBE ASEAN BANGKOK งานจัดแสดงสินค้าเพื่อธุรกิจความงามระดับโลก ระหว่างวันที่ 15-17 กันยายนศกนี้ ซึ่งคาดว่าผลสำเร็จของโครงการนี้ จะสามารถต่อยอดขยายผล และประยุกต์ใช้ได้ในวิสาหกิจชุมชนอื่นทั่วประเทศ นำไปสู่การพัฒนาวิสาหกิจชุมชนอื่น ๆ ได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองประธานคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า “เราจะต้องเข้าใจ Pain Point หลักของเกษตรกร เรื่องการควบคุมคุณภาพการผลิตให้สม่ำเสมอที่นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ สามารถให้การช่วยเหลือได้ และการสนับสนุนด้านการตลาด ซึ่งภาครัฐก็สามารถให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีกับตลาดค้าปลีกได้ ซึ่งโครงการดังกล่าวนับเป็นต้นแบบที่ดี ที่ทำให้เราได้เห็นถึงหลักแนวทางปฏิบัติติดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้เห็นการต่อยอดของโครงการในปีต่อ ๆ ไป”
ขณะที่ นางสาวสกุณา สาระนันท์ สมาชิกผู้เเทนราษฏร เขต 5 จังหวัดสกลนคร ในฐานะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม กล่าวเสริมภายในงานว่า “ปัจจุบันการปลูกสมุนไพรใช้เพียงภูมิปัญญาชาวบ้านเท่านั้น ยังไม่ได้เพิ่มองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเลย แต่ยังสามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้แล้ว 10,000 บาท ต่อครัวเรือน อย่างยั่งยืน”
ทั้งนี้ โครงการ “HERB TO GO สมุนไพรไทยพร้อมไปต่อ” ได้มีการจัดทำต้นแบบในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จากกระบี่ สกลนคร และสมุทรปราการ โดยมี 9 แบรนด์ต้นแบบ ภายใต้แนวคิด “A New Shade of Thai Herb: มิติความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของสมุนไพรไทย” ที่ CEA ร่วมกับ วิสาหกิจชุมชน ที่ปรึกษาการตลาด ที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี นักสร้างสรรค์ท้องถิ่น และภาคธุรกิจในท้องถิ่น นำสินค้าและบริการมาประยุกต์ใช้ด้วยการออกแบบ นวัตกรรมและเทคโนโลยี ค้นหาจุดขายที่พิเศษไม่เหมือนใครของท้องถิ่น สร้างเรื่องราวของแบรนด์ เชื่อมต่อโอกาสทางธุรกิจกับหมุดหมายของท้องถิ่น นับเป็นโมเดลพัฒนาธุรกิจนี้ที่โดดเด่นแตกต่างจากโมเดลพัฒนาธุรกิจอื่น ๆ
สำหรับผลิตภัณฑ์ภายใต้โครงการ “HERB TO GO สมุนไพรไทยพร้อมไปต่อ” จาก 3 จังหวัดต้นแบบประกอบด้วย
จังหวัดกระบี่ “KRABI GOES GREEN” นำเสนอแบรนด์
1.SUNPALM โดย วิสาหกิจกระบี่น้ำมันปาล์มแดงธรรมชาติ
พืชเศรษฐกิจของจังหวัดกระบี่ คือปาล์มแดง ทางชุมชนจึงนำผลปาล์มแดง มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นครีมกันแดดผิวกาย UV Protector SPF50+ PA++++ ที่ไม่ทำร้ายปะการังเป็นมิตรต่อสิ่งเเวด ล้อมเเละเเหล่งน้ำ
2.Pethology+ โดย วิสาหกิจชุมชนเจริญทองร่วมใจ
ผลิตภัณฑ์สเปรย์สมุนไพรป้องกันโรคผิวหนังในสัตว์เลี้ยง ที่นำใบถอบแถบน้ำ เเละพืชท้องถิ่นนำมาเป็นส่วนผสมหลัก
3. Mika Klare โดย วิสาหกิจชุมชนสาหร่ายขนนกกระบี่
ผลงานจากผู้ประกอบการกลุ่มเพาะพันธุ์สาหร่ายขนนกที่ได้นำวัตถุดิบที่ได้มาตรฐานสู่การเพิ่มมูลค่าและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เจลดูแลสภาพผิวหลังออกแดด
จังหวัดสกลนคร “SUPERFOOD SUPERFRUIT” นำเสนอแบรนด์
1.Harng Grains โดย วิสาหกิจชุมชนข้าวฮางวาริชภูมิ
นำข้าวฮางที่ขึ้นชื่อของชาวอีสานมาพลิกโฉมใหม่ และเพิ่มทางเลือกในการรับประทานให้ผู้บริโภคด้วยการพัฒนาเป็นสแน็กบาร์ผสมธัญพืชพร้อมรับประทาน ที่เปี่ยมด้วยคุณค่าทางสารอาหารที่มากกว่าเดิมเช่นสาร Gaba จากข้าวฮางเเละประโยชน์จากธัญพืชเเละผลไม้
2.CannaBy โดย วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรผสมผสานภูมิบ้านเเป้น
ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มพร้อมชงที่เกิดจากการรวมคำว่า Cannabis และ Honey เข้าด้วยกัน มีส่วนผสมของกัญชาพันธุ์หางกระรอกภูพานและน้ำผึ้ง มีคุณสมบัติที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย เมื่อทุกคนได้ดื่มจะยิ้มและนึกถึงเอกลักษณ์ของบ้านแป้น
3.Warino โดย วิสาหกิจชุมชนปลูกพืชสมุนไพรและพฤกษเวชบ้านดงเชียงเครือ
ผลผลิตการจากพัฒนาผลิตภัณฑ์ผงปรุงรสธรรมชาติผสมกัญชาบรรจุซอง สำหรับทำอาหารให้มีรสอูมามิกลมกล่อม จากบ้านดงเชียงเครือ จังหวัดสกลนคร ที่มีชื่อเสียงในฐานะแหล่งเพาะปลูกกัญชาพันธุ์หางกระรอกภูพาน
จังหวัดสมุทรปราการ “HEALTH TO GO” นำเสนแบรนด์
1.Maingo โดย มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดช่องปากชนิดเม็ดยาสีฟันในรูปแบบอัดเม็ดที่มีส่วนผสมจากสารสกัด Mangiferin จากใบมะม่วงน้ำดอกไม้ ซึ่งมีคุณสมบัติในการยับยั้งเเบคทีเรีย บรรจุในกล่องบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย พกพาสะดวก ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้านักเดินทาง
2.Zenplura โดย วิสาหกิจชุมชนน้ำเพื่อสุขภาพบางปลา THC
ใบขลู่ คือพืชที่พบได้มากตามแถบป่าชายเลนของจังหวัด ผู้ประกอบการนำมาสกัดสารสำคัญผสมกับสารสกัดใบบัวบกและใบว่านหางจระเข้ ยกระดับสินค้าเป็นสเปรย์บำรุงผิวหน้าประจำวัน ที่มีส่วนผสมของสารสกัดที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระจากธรรมชาติ
3.Im Sook – Im Jai (อิ่มสุขอิ่มใจ) โดย วิสาหกิจชุมชนสหกรณ์การเกษตรบางบ่อ
นำสุดยอดวัตถุดิบ 3 ชนิดของสมุทรปราการ ได้แก่ จมูกข้าวกล้องหอมนิล ปลาสลิดบางบ่อ และ ผำ (ไข่น้ำ) มาแปรรูปเป็นโจ๊กจมูกข้าวหอมนิลเพื่อสุขภาพ ที่อุดมด้วยโปรตีน สารต้านอนุมูลอิสระ วิตามิน และแร่ธาตุต่างๆ เปี่ยมด้วยคุณค่าทางสารอาหาร
“ทั้ง 9 แบรนด์ที่กล่าวมานี้ นับเป็นต้นแบบจากการร้อยเรียงระหว่าง สมุนไพรไทย-ภูมิปัญญา-เรื่องราว-ชุมชน และพลังสร้างสรรค์ของท้องถิ่น จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจฐานรากสู่ระดับชุมชนไปจนถึงระดับจังหวัด ทั้งในมิติของการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในภาคการบริการและการท่องเที่ยวให้ยั่งยืนต่อไป“
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถติดตามรายละเอียด ความเคลื่อนไหว และความก้าวหน้าของโครงการฯ ช่องทางการขายผลิตภัณฑ์ และร่วมเป็นกำลังใจให้กับ 9 วิสาหกิจชุมชน ได้ทางเว็บไซต์ และ Facebook ของ CEA