หวั่นโควิดคืนฟอร์มระลอก 6 “บ๊อบ ณัฐธีร์” เปิดโต๊ะข่าวเจาะตัวเลขประเมินอนาคต
หยุดยาวเฝ้าระวัง หวั่นโควิดคืนฟอร์มระลอก 6 หลังพบตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูงอีกครั้งรับวันหยุดยาว พร้อมจับตากราฟโควิดจะพุ่งตามหรือไม่ วันนี้จึงต้องเปิดโต๊ะข่าวเจาะลึกวิเคราะห์แบบสด ๆ พร้อมประเมินแนวทางการป้องกันเฝ้าระวัง ในรายการ “เจาะข่าวเด็ด สเปเชียล” (The Day News Update Special) โดยผู้ประกาศข่าว บ๊อบ-ณัฐธีร์ โกศลพิศิษฐ์ พร้อมแขกรับเชิญ นายแพทย์นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ คุณต้อย ดลชนก บุณโยทยาน ตัวแทนกลุ่มเส้นด้าย ที่ขอเสนอให้ขายยาต้านโควิดตามร้านขายยาทั่วไปหวังให้ผู้ป่วยเข้าถึงง่ายขึ้น….
บ๊อบ ณัฐธีร์ : จากตัวเลขการติดเชื้ออยู่ที่ราว 2,000 กว่าคนต่อวัน ประชาชนเกิดความกังวลว่าสถานการณ์อนาคตจะเป็นอย่างไร ตัวเลขที่ออกมาจริงหรือไม่ ต้องให้คุณหมอได้ช่วยอธิบาย เนื่องจากคุณหมอก็บอกว่ามีตัวเลขแฝงอยู่ แล้วตัวเลข 2,000 กว่าคน ที่ประกาศออกมาเป็นตัวเลขที่เป็นข้อเท็จจริงหรือไม่อย่างไร?
นพ.นิธิพัฒน์ : เป็นตัวเลขจริง แต่ตัวเลขที่แถลงบอกว่าเป็นผู้ป่วยที่รับเข้าไว้ในโรงพยาบาล หรือมีการดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งกลุ่มนี้จะต้องมีการตรวจยืนยันโดยวิธีการ RT-PCR หรือ การตรวจ Professional ATK แต่ถ้าเข้าไปดูอีกรูปหนึ่ง ในเว็บไซต์ของกรมควบคุมโรคจะมีช่องดิสเพลย์อีกอันหนึ่ง จะมีช่องด้านล่างมุมซ้าย จะเป็นตัวเลขผู้ติดเชื้อนอกโรงพยาบาล เป็นตัวเลขผู้ติดเชื้่อจากการตรวจ ATK ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างในภาพ คือ ช่วง วันที่ 3-9 กรกฎาคม อยู่ที่ประมาณ 150,000 คน เฉลี่ยแล้วอยู่ที่วันละ 20,000 คนนิด ๆ ถ้านำตัวเลขมารวมกันจะตกที่วันละ 25,000 คน ซึ่งตัวเลข 150,000 คน พอมีการปรับเรื่องสิทธิประโยชน์สำหรับคนไข้ที่ตรวจ ATK ด้วยตัวเองที่บ้าน ซึ่งคิดว่าส่วนนี้อาจจะหายไปอีกราว 30-40 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขต่อวันจริง ๆ น่าจะอยู่ประมาณ 50,000 คนต่อวัน
บ๊อบ ณัฐธีร์ : พอช่วงหยุดยาวแบบนี้มีการคาดการณ์อย่างไร จะหนักกว่านี้อีกไหม?
นพ.นิธิพัฒน์ : จะมี 3 ทฤษฎี ถ้าดูตัวเลขคือกำลังพีค หรือ เลยพีคมาแล้ว คือ วันละ 50,000 โดยไม่รู้ตัว อย่างที่กระทรวงสาธารณสุขวิเคราะห์ว่าตอนนี้ยังคงเป็นพีคเล็ก ๆ เดี๋ยวจะใหญ่ขึ้นและกินเวลานานกว่าจะสงบ ซึ่งจะกินเวลา 2 เดือนเป็นอย่างน้อย ในช่วงกรกฎาคม-สิงหาคม และกว่าจะสงบก็ช่วงเดือนกันยายน แต่ถ้าเป็นโลกสวยแบบของหมอ ก็คิดว่าประมาณต้นเดือนหน้าก็น่าจะสบายใจขึ้น จะเห็นผู้ป่วยหนักที่ต้องเข้าโรงพยาบาลลดน้อยลงตามลำดับ
บ๊อบ ณัฐธีร์ : สถานการณ์เตียงในโรงพยาบาลน่าจะเพียงพอไหมครับ?
นพ.นิธิพัฒน์ : สถานการณ์เตียงในโรงพยาบาลคงไม่ถึงกับสบาย แต่อาจจะไม่ต้องวิ่งวุ่นไปลดเตียงผู้ป่วยทั่วไปที่ไม่ใช่โควิด ไม่ต้องไปดึงตัวเจ้าหน้าที่พยาบาล-หมอ ที่ตอนนี้ปล่อยให้เขาไปดูแลคนไข้ที่ไม่ใช่โควิดต้องกลับมาดูแลคนไข้โควิด ถ้าดูตัวเลข ณ วันนี้ เรามีผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาลประมาณ 10,000 คน มีผู้ป่วยอาการรุนแรง 800 คน ต้องใส่ท่อช่วยหายใจประมาณ 300-400 คน ถ้าตัวเลขผู้ป่วยหนักขึ้นไปถึง 1,000 คน ถึงจะเป็นตัวเลขที่เป็นสถานการณ์ที่เราตึงมือมาก ตอนนี้อยู่ที่ 800 คน ถ้าเรายังทำให้ได้อยู่ที่ประมาณตรงนี้ ไม่ไปถึง 1,000 คนได้ ก็จะดีสำหรับทุกคน โลกสวยพอสมควรนะครับ
บ๊อบ ณัฐธีร์ : ทุกคนพอป่วยแล้วก็อยากจะได้ยา ซึ่งสถานการณ์แบบนี้เราเป็นมา 2 ปีกว่า ที่มีคนเข้าถึงยา คนที่เข้าไม่ถึง ตรงนี้น่าจะมีทางออกอะไรบางอย่าง? ในมุมมองของพี่ต้อย กลุ่มเส้นด้าย เสนอไปถึงกระทรวงสาธารณสุขว่า ในสถานการณ์ที่ประชาชนอยากเข้าถึงยาแบบนี้
คุณดลชนก : เรื่องยาตอนนี้ก็ควรจะปลดปล่อยให้มีการเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ยาควรจะมีการกระจายอยู่ที่ร้านขายยา แต่การจะไปซื้อยาควรอยู่ในการควบคุมของแพทย์ ทีนี้จะมียามากพอ ทางองค์การเภสัชกรรมก็ต้องดูว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตอย่างไร หรือ จะมีพาร์ทเนอร์ส่วนไหนเข้ามาช่วยผลิตไหม ให้มันมากกับความต้องการ
บ๊อบ ณัฐธีร์ : โรงพยาบาลสาธารณสุขเล็ก ๆ ในพื้นที่มียาหรือไม่?
คุณดลชนก : อาจจะมีหรือไม่มี ก็แล้วแต่พื้นที่ อันนี้เราพูดถึงทั้งประเทศไม่ได้พูดเฉพาะกรุงเทพฯ
บ๊อบ ณัฐธีร์ : ถ้ากลุ่มเส้นด้ายไม่เข้าไปช่วย เขาจะพึ่งพิงระบบสาธารณสุขในบ้านเรายังไง? คุณดลชนก : จะพึ่งพิงอย่างไร ก็คือจะต้องเข้าถึงยาได้ง่ายขึ้น ยาเหล่านี้ควรไปอยู่ตามร้านขายยาได้แล้วหรือยัง สามารถที่จะจ่ายยาตามใบสั่งยาแพทย์แล้วไปรับยาตามร้านขายยา หรือ ไปซื้อก็ได้ อาจจะเป็นยาฟาวิพิราเวียร์อย่างเดียวก่อน ยังไม่ต้องถึงยาโมลนูพิราเวียร์ ที่จะไปซื้อตามร้านขายยาได้แล้ว ตามใบสั่งยาของแพทย์ ที่แพทย์วินิจฉัยอาการแล้ว แล้วก็ถือใบสั่งยาไป
บ๊อบ ณัฐธีร์ : คุณหมอนิธิพัฒน์มีอะไรที่อยากจะแนะนำกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มเติมไหม? จากการเป็นผู้ที่ต้องอยู่หน้างาน
นพ.นิธิพัฒน์ : ผมคิดว่าสิ่งที่เราทำได้ไม่ดี คือ การสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เป็นจริง และร่วมมือไปกับแผนงาน ซึ่งแผนงานก็ดีอยู่แล้ว แต่ปัญหาใหญ่อยู่ที่การสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ และร่วมมือทำตามแผนนั้น รวมทั้งการแก้ปัญหาที่แก้ยาก เตียงน่ะเตรียมไว้ดี แต่ระบบกลไกข้างล่างมันติดขัดเลยทำให้ประชาชนไม่เข้าใจ เป็นสิ่งที่จะต้องเคลียร์
ติดตามรายการ “เจาะข่าวเด็ด สเปเชียล” (The Day News Update Special) โดยผู้ประกาศ “บ๊อบ ณัฐธีร์ โกศลพิศษฐ์” เจาะลึกกันแบบสด ๆ ได้ทุกวันศุกร์ เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ทางช่อง MONO29 หรือที่แอปพลิเคชัน MONO29 สามารถรับชมรายการย้อนหลังได้ที่https://youtu.be/CTR178PELeM
#Mono29 #บ๊อบณัฐธีร์ #Thedaynewsupdatespecial #เจาะข่าวเด็ดสเปเชียล #มูลนิธิเส้นด้าย #โควิด