“ไทยเบฟ” ตอกย้ำผู้นำด้านความยั่งยืน ส่งมอบโครงการต้นแบบ “สถานีเก็บกลับ-รีไซเคิล”
บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ รีไซเคิล จำกัด (TBR) บริษัทในเครือ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ริเริ่ม โครงการเก็บกลับ-รีไซเคิล ขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการเรียนรู้ คัดแยก และการนำบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคกลับคืน สู่กระบวนการรีไซเคิล เพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำและนำกลับมาใช้ใหม่ ได้ผสานความร่วมมือกับ สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อมสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (TIPMSE) ส่งมอบ “สถานีเก็บกลับ-รีไซเคิล” ซึ่งเป็นสถานีต้นแบบของการเรียนรู้เรื่องการคัดแยกขยะสู่การรีไซเคิลที่เป็นการต่อยอดลงมือปฏิบัติจริง สร้างรายได้และส่งเสริมวัฒนธรรมเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ผู้ระดับบริโภคระดับในครัวเรือน วัด โรงเรียนในพื้นที่ชุมชน โดยเริ่มที่ 3 แห่ง ได้แก่ ชุมชนกุฎีจีน กรุงเทพมหานคร วัดมหาวัน จ.ลำพูน และ โรงเรียนบ้านไม้ขาว จ.ภูเก็ต โดยมีการส่งมอบในช่วงเดือนเมษายน ที่ผ่านมา
ทางด้าน คุณอรทัย พูลทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ รีไซเคิล จำกัด (TBR) ให้ข้อมูลว่า “บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ รีไซเคิล จำกัด (TBR) ได้สนับสนุนการพัฒนาแอพพลิเคชัน ‘OK Recycle’ เพื่อใช้บันทึกข้อมูลกิจกรรมอย่างเป็นระบบ ให้สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) นำไปใช้ในการจัดกิจกรรมของสถาบันกับหน่วยงานภาครัฐ จากนั้นได้ริเริ่ม โครงการเก็บกลับ-รีไซเคิล โดยร่วมกับ TIPMSE จัดเวิร์กช็อปกับชุมชน เรื่องการจัดการคัดแยกขยะและการบริหารจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อมในชุมชน ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้ รวม 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ลำพูน ขอนแก่น และภูเก็ต ปีนี้มีการต่อยอดจากการเรียนรู้ สู่จากการลงมือทำจริง มีการส่งมอบ สถานีเก็บกลับ-รีไซเคิล แห่งแรกที่ชุมชนกุฎีจีน กรุงเทพมหานคร และอีก 2 แห่งที่ วัดมหาวัน จ.ลำพูน และ โรงเรียนบ้านไม้ขาว จ.ภูเก็ต เพื่อเป็นจุดนัดพบในชุมชนรูปแบบ ‘ตลาดนัดรีไซเคิล’ ให้ทุกคนคัดแยกตั้งแต่ที่บ้าน วัด โรงเรียน สถานที่ทำงานของตนเอง และนัดวันเปิดตลาดให้ผู้ซื้อพบผู้ขาย นอกจากรายได้แล้วชุมชนจะได้เกิดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคภายในชุมชนได้ด้วยตนเอง โดยสถานีทุกแห่งก็จะใช้แอพพลิเคชัน ‘OK Recycle’ ในการบันทึกข้อมูลเพื่อการติดตามการจัดการของแต่ละสถานี และเผยแพร่ผลการจัดการผ่านทางเว็บไซต์ www.bringbackrecycle.com และสถานีทุกแห่งถือเป็น จุดรับวัสดุรีไซเคิล(Drop-off) หนึ่งใน 300 กว่าแห่งทั่วประเทศของโครงการฯ ที่เป็นต้นแบบในการจัดการภาคชุมชน ที่หวังจะเป็นแรงขับเคลื่อนสู่การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน”
คุณพรรรัตน์ เพชรภักดี รองผู้อำนวยการใหญ่และ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม เผยว่า “ความสำเร็จของโครงการอยู่ที่ความร่วมมือของทุกคน รู้สึกดีใจที่ชุมชนให้ความร่วมมือและเห็นความสำคัญเรื่องการแยกขยะ โดยเฉพาะเยาวชนที่ถือว่าเป็นต้นกล้าพันธุ์ใหม่ของชุมชน ซึ่งน้องพวกนี้จะเป็นคนที่ออกแบบกิจกรรมชุมชนของเขาต่อเนื่องในอนาคต ขอชื่นชมไทยเบฟ และ TBR ที่มีแนวคิดในการที่จะขยายความรับผิดชอบแบบนี้ออกไปยังผลิตภัณฑ์ของตนเองให้มากขึ้น แล้วก็ทำงานกับพื้นที่อื่นๆแล้วก็เป็นกำลังหลักแบบนี้ไปเรื่อยๆ และขอเป็นกำลังใจให้ TBR กับ ไทยเบฟ จะขยายกิจกรรมดีๆแบบนี้แล้วก็จับมือกับทาง TIPMSE เดินไปด้วยกันเพื่อให้ชุมชนของเราน่าอยู่ต่อไป”
คุณปิ่นทอง วงษ์สกุล ประธานชุมชนกุฎีจีน กล่าวปิดท้าย “รู้สึกดีใจที่ชุมชนกุฎีจีนมี สถานีเก็บกลับ-รีไซเคิล ถือว่าเป็นการเริ่มต้นทำเรื่องขยะรีไซเคิลอย่างจริงจัง การที่มาทำแบบนี้ทำให้จิตสำนึกคนในชุมชนรู้จักความสะอาดเพิ่มขึ้นรู้จักแยกขยะ เพราะว่าขยะสามารถกลับเป็นตัวเงินได้ เรากำหนดวันรับซื้อขยะและของเก่าสัปดาห์ที่ 2 และ 4 ของเดือน ซึ่งทางเราจะตรวจสอบราคาจากคนที่มารับซื้อก่อนว่าตอนนี้มีการซื้อขายกันที่เท่าไหร่ เรารับซื้อเท่าไหร่ แล้วก็ขายออกไปเท่านั้น เพื่อช่วยคนในชุมชนมีรายได้ ต้องขอขอบคุณ TBR แล้วก็ไทยเบฟ ที่เห็นความสำคัญของชุมชนเราด้วย แล้วก็ให้โอกาสเราหลายเรื่อง ขอขอบคุณมากค่ะ”
นับเป็นการเริ่มต้นของปลุกพลังของชุมชน ให้เล็งเห็นความสำคัญในการจัดการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ในฐานะผู้บริโภค และนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี มีการบริหารจัดการขยะในชุมชนอย่างเป็นระบบ สร้างรายได้กลับเช้าสู่ชุมชน และส่งเสริมเป็นวัฒนธรรมการจัดการสิ่งแวดล้อมความยั่งยืนสืบต่อไป