พลังบวร รากฐานสังคมไทย “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 17”
พลังบวร การสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน เป็นการนำเอา สถาบันหลัก คือ บ้าน วัด โรงเรียน ในชุมชน มาเป็นกลไกในการพัฒนา และสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ด้วยเสาหลักที่ยึดมั่นในสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต พร้อมทั้งสืบสาน วิถี วัฒนธรรมชาติ และท้องถิ่น ให้ชนรุ่นหลังได้มีความเข้าใจในรากฐานสังคมของชาติไทยที่มีสืบมาอย่างยาวนาน
ด้วยแนวคิดนี้ ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักโครงการและจัดการความรู้ (OKMD) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย และมูลนิธิธรรมดี จึงได้จัดกิจกรรม “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 17 ” ณ โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณรอบวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการป่าสิริเจริญวรรษ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชลบุรี สำหรับครู อาจารย์ ที่ได้รับการคัดเลือกจากทั่วประเทศ มาเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามรอยของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๙ จะช่วยสร้างพื้นฐานการดำรงชีวิตให้เกิดความมั่นคงและเติบโตอย่างยั่งยืนได้
รศ. นพ. สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ให้เกียรติเปิดงาน ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 17 ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมแสดงความยินดีที่องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันสร้างเครือข่าย ทำกิจกรรมพัฒนาสังคมด้วยหลักบวร นำไปสู่การปฏิบัติที่สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิติประจำวันจนเกิดเป็น “วิถีชีวิต” ซึ่งเป็นการวางรากฐานที่ดีให้เกิดขึ้นกับสังคมไทย ส่งเสริมการมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม
นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บ.ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เพราะ โลกหลังโควิด 19 ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ทุกคนต้องปรับตัวเพื่อฟื้นฟูตนเองและสังคมให้มีความแข็งแรงกลับสู่สมดุลและช่วยกันสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตเหมือนเดิม การนำเอาพลังบวร มาใช้ในการพัฒนาสังคม ด้วยภูมิปัญญาของคนไทย จะมีส่วนช่วยให้เกิดความมั่นคงได้อย่างยั่งยืน”
ครู อาจารย์ ผู้บริหารหน่วยงานเอกชน ที่เข้าร่วม กิจกรรม ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 17 จะได้ร่วมทำกิจกรรมการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวม ที่ให้ความสำคัญในความเชื่อมโยงของ ชุมชน วัฒนธรรม ประเพณี การศึกษา อาทิ การมอบอุปกรณ์การแพทย์ให้กับโรงพยาบาล การมีส่วนร่วมของโรงเรียนและเด็กนักเรียน การทำบุญปล่อยปลา การถอดรหัสศาสตร์พระราชาเพื่อความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และคุณธรรม 5 ประการ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา และกตัญญู การเยี่ยมชม วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอกชนิดวรมหาวิหาร สร้างโดยสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 ที่มีพระบรมธาตุเจดีย์มหาจักรีพิพัฒน์ เป็นการสร้างน้อมเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและราชวงศ์จักรี และพระพุทธปฏิมาประธานประจำอุโบสถ ได้รับการถวายพระนามว่า “สมเด็จพระพุทธญาณนเรศวร์” สร้างน้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แสดงถึงความผูกพันอย่างแน่นแฟ้นระหว่างสถาบันพระพุทธศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่สืบเนื่องยาวนานนับพันปี
นอกจากนี้ มีการทำกิจกรรม ณ โครงการป่าสิริเจริญวรรษอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ การปั้นและโยน EM Ball เพื่อบำบัดรักษาแหล่งน้ำให้มีความสมบูรณ์ต่อการเจริญเติบโตของพืชและสัตว์น้ำ เดินป่าศึกษาธรรมชาติ และการสร้างฝายละชะลอและเก็บกักน้ำ เพื่อประโยชน์ในการทำการเกษตรของชุมชนรอบ ๆ โครงการและใกล้เคียง
ด้าน ดร. ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี กล่าวว่า “ความไม่เหมือนเดิมของโลกใบนี้ ได้ช่วยตอกย้ำให้เราทุกคนได้ตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ทรงพระราชกรณีกิจนานับปการ เพื่อให้ราษฎรได้มีความเป็นอยู่อย่างผาสุก ดังนั้น การได้มาศึกษาลงพื้นที่เพื่อสร้างประสบการณ์ การปลูกป่าในใจคน และน้อมนำเอาศาสตร์พระราชา ไปปรับใช้กับการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป จะเป็นภูมิคุ้มกันให้เราทุกคนสามารถอยู่รอดได้ในทุกสถานการณ์วิกฤติ และเติบโตได้ในระยะยาวอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเป็นการสนองตามพระปฐมบรมราชโองการของในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ “เราจะสืบสาน รักษา ต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”
พร้อมทิ้งท้ายว่า เราหลงลืมอะไรไปหรือเปล่า เราลืมไปแล้วว่า คนไทยโชคดีแค่ไหน ที่มีพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ และทรงรักคนไทยมากที่สุด ดร.ดนัยสรุป
นอกจากการลงพื้นที่ร่วมกันทำกิจกรรมตามฐานต่าง ๆ แล้ว คณะครู อาจารย์ ยังเข้าร่วมการถอดบทเรียน โดย อาจารย์อดุลย์ ดาราธรรม นายกสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย ให้เกียรติเป็นวิทยากร จัดกิจกรรม Interactive Board Workshop ตามรอยนวัตกรรมศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนระดับสากล และ “The King’s Journey: Learn English an Example of an Invention” ซึ่งคณะครูอาจารย์สามารถนำนวัตกรรมการเรียนรู้ไปต่อยอดการเรียนการสอนสำหรับเยาวชนต่อไป
การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สำคัญของประเทศ “บวร” จึงเป็นหลักที่สอนให้คนรักษาความสมดุลของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญ ช่วยให้คนไทยได้ตระหนักถึงคุณค่า และมีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย มีความมั่นคงในวัฒนธรรมที่มีวิวัฒนาการต่อเนื่องยาวนาน โดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมใจการสืบสานความเป็นไทย
สำหรับกิจกรรม ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ในครั้งที่ 18 จะจัดขึ้นในวันเสาร์อาทิตย์ที่ 18-19 มิถุนายน 2565 ณ โครงการโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ จังหวัดสระแก้ว ถอดบทเรียน “คนสอนควาย ควายสอนคน” สักการะ หลวงพ่อโสธร พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เมืองแปดริ้ว หน่วยงานหรือองค์กรที่สนใจร่วมเรียนรู้นวัตกรรมศาสตร์พระราชา สามารถติดต่อได้ที่มูลนิธิธรรมดี เว็บไซต์ http://www.do-d-foundation.com แฟนเพจ: ตามรอยพระราชา-The King’s Journey Facebook: มูลนิธิธรรมดี และ LINE Official: @dfoundation