”จุรินทร์”ควง”คุณหญิงกัลยา-นิพนธ์” ลุยเมืองย่าโม เดินหน้าประกันรายได้ข้าว-มัน
ที่หนึ่งในใจ”จุรินทร์”ควง”คุณหญิงกัลยา-นิพนธ์” ลุยเมืองย่าโม เดินหน้าประกันรายได้ข้าว-มัน เผย 3 ปี รับสูงสุดกว่า 44,739 บาท ช่วยชาวโคราชถึง 321,770 ครัวเรือน
วันที่ 6 พฤษภาคม 2565 เวลา 15.00 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยติดตามความคืบหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวและมันสําปะหลัง และมอบโฉนดที่ดินคืนให้เกษตรกร มอบเช็คชําระหนี้แทนเกษตรกร และเช็คโครงการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จังหวัดนครราชสีมา ที่หอประชุมอําเภอชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา
นายจุรินทร์ กล่าวว่า วันนี้มา 2 เรื่อง 1.ติดตามโครงการประกันรายได้เกษตรกร 2.งานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
ตนจับมือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และรัฐบาล ว่าทำอย่างไรให้ราคาพืชเกษตรดีขึ้น เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมันและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สำหรับข้าว วันนี้ราคาค่อยๆดีขึ้นเพราะปี 2565 ยอดส่งออกข้าวจะเพิ่มมากกว่าปีที่แล้ว สำหรับปี64 ประสบปัญหาโควิดและไม่มีตู้คอนเทนเนอร์ส่งออก แต่เราสามารถผลักดันส่งออกได้ 6.1 ล้านตัน ไปต่างประเทศ แต่ปีนี้คาดว่าจะทำได้ 7-8 ล้านตัน ได้รับรายงานว่ามันสำปะหลังไทยขายให้ประเทศจีนดีมาก มีออเดอร์พิเศษเพิ่มแล้วอีก 1,000,000 ตัน ทำให้ต้องซื้อมันสำปะหลังจากเกษตรกรมากขึ้น วันนี้ราคามันสำปะหลังจากเมื่อก่อนกิโลกรัมละ 1 บาทกว่า เป็น 3 บาทกว่าแล้ว
แต่ถ้าวันไหนราคาข้าวหรือมันสำปะหลังราคาตก เราก็มีโครงการสำคัญตามนโยบายที่พรรคประชาธิปัตย์คิดไว้ก่อนเข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเข้าร่วมรัฐบาลและมาเป็นนโยบายรัฐบาล เดินหน้า 2 ปีเต็ม เข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว คือนโยบายประกันรายได้เกษตรกร ข้าว มันสำปะหลัง ยางพาราปาล์มน้ำมันและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยข้าวหอมมะลิ ประกันรายได้ที่เกวียนละ 15,000 บาท เพื่อเป็นหลักประกันว่าถ้าวันไหนราคาต่ำกว่า 15,000 บาท ก็จะมีส่วนต่างจากรายได้ที่ประกัน โอนเข้าบัญชี ธ.ก.ส.โดยตรงทำให้มีรายได้ 2 ทางจากขายในตลาดและส่วนต่างจากรายได้ที่ประกัน เฉพาะที่จังหวัดโคราช 3 ปีที่ผ่านมาโอนเงินส่วนต่างช่วยเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไปแล้ว 250,770 ราย โอนเงินส่วนต่างแล้ว 8,976 ล้านบาท เฉลี่ยครัวเรือนละ 44,739 บาท มันสำปะหลังประกันรายได้ที่กิโลกรัมละ 2.50 บาท ถ้าราคาต่ำกว่า 2.50 บาท ก็จะมีรายได้จากการขายในตลาด และส่วนต่างจากรายได้ที่ประกันเช่นเดียวกัน ที่จังหวัดนครราชสีมาช่วยเกษตรกรไปแล้ว 71,000 รายโอนเงินส่วนต่างไปแล้ว 1,660 ล้านบาท เฉลี่ยรายละ 23,644 บาท
“และเกษตรกรที่เป็นหนี้และเป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเราก็ช่วย โดยกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรตั้งขึ้นเมื่อปี 2542 ในสมัยรัฐบาลชวนสอง(นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง) โดยตนเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยกมือให้พระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรถือกำเนิดขึ้น ช่วยเกษตรกรที่เป็นหนี้ไม่ให้ถูกยึดที่ดินทำกิน ให้มาเป็นหนี้ของกองทุนฯ โดยเงื่อนไขดอกเบี้ยพิเศษและไม่มีการยึดที่ดินทำกิน เมื่อผ่อนหมดก็จะคืนโฉนดที่ดินให้ วันนี้ได้เงินกองกลางมาเพิ่มอีก 2,000 ล้านบาท เพื่อซื้อหนี้และมีโครงการพัฒนาเกษตรกร สำหรับวันนี้ที่อำเภอชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา รวม 4,826,000 บาท และที่สำคัญเงินนี้ทุกบาททุกสตางค์ต้องเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับกลุ่มของเราจริงๆ เพื่อให้มีรายได้ มีความยั่งยืนในการดำรงชีวิตที่เหลือเอามาใช้หนี้เพื่อไถ่โฉนดคืนเพื่อให้เป็นไทกับตัว ยืนหยัดด้วยตัวเองต่อไป ตามเป้าหมายของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว
ผู้สื่อข่าวระบุว่า ช่วงระหว่างที่นายจุรินทร์เดินเข้างานได้มีชาวอำเภอชุมพวง จังหวัดนครราชสีมาและกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ มารอรับนายจุรินทร์เป็นจำนวนมาก มีการถือป้ายให้กำลังใจ อาทิ ”ท่านจุรินทร์ที่ 1 ในใจชาวชุมพวง” และ”ที่หนึ่งในใจชาวสวนเมืองย่าโม”เป็นต้น มีการขอถ่ายรูปคู่และมอบดอกกุหลาบเป็นจำนวนมาก บรรยากาศสุดคึกคักและอบอุ่น โดยระหว่างนั้นนายจุรินทร์ได้สอบถามถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านด้วย โดยภายในงานมีนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายประชาธิปไตย คำสิงห์นอก ดร.วรกร คำสิงห์นอก ผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ประธานกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ประธานกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกรและผู้แทนเกษตรกรเข้าร่วมด้วย และข้อมูลจากสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จังหวัดนครราชสีมา ระบุว่า วันนี้นายจุรินทร์มอบเช็คเงินโครงการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกรจำนวน 16 องค์กร 16 โครงการ มีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 1,693 คน เป็นจำนวนเงิน 4,826,000 บาท และมอบเช็คเงินชำระหนี้แทนเกษตรกร จำนวน 3 สหกรณ์ 17 ราย เป็นจำนวนเงิน 2,853,878.08 บาทและเกษตรกรที่รับมอบโฉนดที่ดินและเกียรติบัตร จำนวน 5 ราย