120 ปี ชาตกาล จิตวิญญาณ “อาจารย์โฮซูมิ โกอิจิ”

แนวคิด ปรัชญา จิตวิญญาณ ของอาจารย์โกอิจิ โฮซูมิ

The philosophy and spirits of Hozumi Goichi Sensei

รักที่ไม่มีศรัทธาย่อมแตกสลาย
รักที่ไม่มีหลักการย่อมยุ่งเหยิง
รักที่ไม่มีคุณธรรมย่อมมลายสูญ

คำคมที่อาจารย์โกอิจิ โฮซูมิ เขียนด้วยหมึกพู่กันจีน เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 1945
ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะสิ้นสุดลง 1 เดือน ในวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1945

จิตวิญญาณ “อาจารย์โฮซูมิ โกอิจิ”

– อาจารย์เกิดในตระกูลที่มั่งคั่งพอสมควร

– ได้รับอิทธิพลแนวความคิดจากแม่

– ตั้งแต่เด็กต้องการเห็นสังคมที่มีความยุติธรรม ถูกต้อง มีจริยธรรม

– เข้าวัดศึกษาพระธรรม เพื่อหาคำตอบในช่วงมัธยมต้น

– จบจากมหาวิทยาลัยโตเกียว แต่ไม่ยอมเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างบริษัท

– เป็นลูกศิษย์ของศาสตราจารย์อุเอซึงิ นักวิชาการรัฐธรรมนูญที่มีชื่อเสียง

– ป่วยด้วยโรคแผลในกระเพาะอาหารหลายครั้ง รักษาทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณ

– สร้างหอพักให้นักศึกษาต่างชาติอยู่ร่วมกับนักศึกษาญี่ปุ่น ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2

– เคยถูกทางการจับขังระยะสั้น ๆ 2-3 เดือน ระหว่างสงคราม

– ก่อตั้งสมาคมมิตรภาพเอเชียในมหาวิทยาลัยโตเกียว และสมาคมวัฒนธรรมนักศึกษาเอเชีย

– ก่อตั้ง สมาคมทุนผู้ฝึกอบรมเทคนิคโพ้นทะเล (AOTS)

– สร้างหอพัก Asia Bunka Kaikan (ABK) เป็นประธานสมาคมศิษย์เก่า Asia Bunka Kaikan

– ประธาน Japan – Thailand Economic Cooperation (JTECS) เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของ ส.ส.ท.

– ร่วมกับคุณสมหมาย ฮุนตระกูล ก่อตั้ง สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท.

– ได้รับรางวัลจาก มูลนิธิญี่ปุ่น (Japan Foundation)

– ร่วมพิธีเปิดอาคาร ส.ส.ท. ที่ถนนสุขุมวิท ซอย 29

– อดอาหารประท้วงปัญหาเงื่อนไขผูกมัดผู้ฝึกอบรมของ AOTS ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 1981 และถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ปีเดียวกัน (คืนวันเพ็ญเดือน 8)

– จิตวิญญาณของท่าน คือ อหิงสา ความเสมอภาค ความยุติธรรม ภาวะอิสระ ไม่ก้าวก่ายกัน ให้ความเคารพและเข้าใจจากใจจริง

– เป็นคนญี่ปุ่นที่ชาวเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา เคารพนับถือมากที่สุด

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) ร่วมกับ สมาคมศิษย์เก่าศูนย์วัฒนธรรมเอเชียและทุนฝึกอบรมเทคนิคโพ้นทะเล (ประเทศไทย) และสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น จัดพิธีทำบุญวันคล้ายวันเกิด อาจารย์โกอิจิ โฮซูมิ อดีตประธานคณะกรรมการสมาคมความร่วมมือทางเศรษฐกิจญี่ปุ่น-ไทย ผู้สนับสนุนการก่อตั้งสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) เพื่อเป็นการรำลึกถึงผู้มีพระคุณ

ในวาระ 120 ปี ชาตกาล “อาจารย์โฮซูมิ โกอิจิ” ขออนุญาตนำเสนอ ประวัติของ “อาจารย์โฮซูมิ โกอิจิ” ดังนี้

“อาจารย์โฮซูมิ โกอิจิ” เกิดเมื่อวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1902 ที่หมู่บ้าน Notose อำเภอ Yana–gun, จังหวัด Aichi (ปัจจุบัน คือ Notose ตำบล Horai-cho, อำเภอ Minami shitara-gun) บิดาชื่อ Suzuki Rinzo มารดาชื่อ Tadachiyo โดยเป็นบุตรชายคนที่ 6 และ พออายุได้ 2 ขวบ บิดาเสียชีวิต

ค.ศ. 1957 ได้รับอนุมัติจัดตั้ง Asia Student Cultural Association (ASCA) และเป็นประธานสมาคมนี้

ค.ศ. 1959 สมาคม ASCA ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลญี่ปุ่น จัดตั้ง สมาคมฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เทคนิคโพ้นทะเล (AOTS) และเป็นประธานสมาคม AOTS

ค.ศ. 1960 หอพัก Asia Bunka Kaikan (ABK) สร้างเสร็จ (รับผู้พักได้ 110 คน)

ค.ศ. 1971 เดือนพฤษภาคม เดินทางไปประเทศไทยพบปะกับศิษย์เก่า ABK และ AOTS และ ในเดือนพฤศจิกายน เข้ารับการผ่าตัดแผลที่กระเพาะอาหาร

ค.ศ. 1972 ได้รับอนุมัติจัดตั้ง สมาคมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (ญี่ปุ่น-ไทย) (JTECS) และเป็นประธานของ JTECS

ค.ศ. 1973 สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) ได้รับการจัดตั้ง (ร่วมพิธีเปิดเดือนพฤษภาคม) ที่ชั้น 5 อาคารอื้อจือเหลียง

ค.ศ. 1981 เดือนมิถุนายน อดอาหารประท้วงปัญหาเกี่ยวกับสัญญาผูกมัดผู้รับการฝึกอบรมของ AOTS และเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลและถึงแก่อนิจกรรม เมื่อเวลา ตี 4 ครึ่ง วันที่ 17 เดือนกรกฎาคม จากโรคปอดบวม สิริอายุ 79 ปี

ค.ศ. 1981 เดือนสิงหาคม ส.ส.ท. จัดพิธีสวดมนต์ในพิธีไว้อาลัยที่สำนักงาน สุขุมวิท 29 โดยมีศาสตราจารย์สุพัฒน์ สุธาธรรม นายกสมาคม เป็นประธาน

ค.ศ. 2013 ครบ 111 ปี ชาติกาลของอาจารย์โกอิจิ โฮซูมิ ส.ส.ท. ได้พิจารณาร่วมกับ TNI สมาคมศิษย์เก่าศูนย์วัฒนธรรมเอเชีย และทุนฝึกอบรมเทคนิคโพ้นทะเล (ประเทศไทย) และหน่วยงานอื่นๆ ที่ยังรำลึกถึงอาจารย์ โดยการจัดงานรำลึกถึงอาจารย์ในวาระ 111 ปี ชาติกาลของอาจารย์ เพื่อแสดงความขอบคุณในความเมตตาและความเสียสละของท่าน ในวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ.2013 (พ.ศ.2556) ณ ห้องประชุม สถาบันเทคโนโลยี ไทย-ญี่ปุ่น (TNI) โดยได้จัดทำ เอกสารที่แปลจากหนังสือ Naikanroku (อันตรวินิจ) ซึ่งเป็นหนังสือที่ระลึกในวาระครบรอบ 2 ปี การจากไปของท่าน

ในวาระ 120 ปี ชาตกาล “อาจารย์โฮซูมิ โกอิจิ” มีหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งน่าสนใจนำมาเล่าสู่กันฟังครับ นั่นคือหนังสือเล่มที่มีชื่อว่า “จิตวิญญาณโฮซูมิ” HOZUMI SPIRIT

          จัดพิมพ์โดยคณะกรรมการจัดงาน 120 ปี ชาตกาล อาจารย์โฮซูมิ โกอิจิ

          ขออนุญาตนำ “สารจากคณะบรรณาธิการ” มานำเสนอ ณ โอกาสนี้

          “อาจารย์โฮซูมิ เป็นคนญี่ปุ่นที่นักศึกษาและผู้ไปรับการฝึกอบรมทางเทคนิคในญี่ปุ่นจากเอเซีย แอฟริกา และละตินอเมริกาเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่งและต่างสำนึกในบุญคุณของท่านที่เสียสละชั่วชีวิตของท่านเพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้ถูกเอาเปรียบ หรือดูถูกข่มเหงให้ได้รับโอกาส รับความเป็นธรรม และมีอิสรเสรีเท่าเทียมคนอื่นๆ ในสังคมโลก ด้วยข้อเขียนและการประพฤติปฏิบัติ ท่านเป็นปูชนียบุคคลที่หาได้ยากยิ่ง”

          “ขอขอบคุณผู้บริหารของสมาคมศิษย์เก่า ABK&AOTS แห่งประเทศไทย, สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น), สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น และสมาคมนักเรียนเก่าญี่ปุ่นในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ร่วมกันจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ นอกจากนี้ ขอขอบคุณผู้แปลและผู้ทรงคุณวุฒิที่ส่งบทเขียนมาร่วมรำลึกถึงคุณงามความดีของท่านและทำให้จิตวิญญาณของอาจารย์โฮซูมิ ได้รับการถ่ายทอดสู่สายตาชาวไทย คณะบรรณาธิการใคร่ขอขอบคุณทุกท่านที่ช่วยชี้แนะและสนับสนุนการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าหน้าที่ของสมาคมศิษย์เก่า ABK&AOTS ที่มุ่งมั่นในการทำงานนี้จนสำเร็จดังเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้”

“หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นบทเขียนของบุคคลที่เคยสัมผัสหรือรู้จักอาจารย์โฮซูมิเป็นอย่างดีในฐานะลูกศิษย์ที่ใกล้ชิด ส่วนที่สองเป็นบทเขียนของอาจารย์ที่รวบรวมในหนังสือ Naikanroku (อันตรวินิจ) ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ในวาระปีที่ 3 ของการจากไปของอาจารย์ และส่วนที่สาม เป็นส่วนที่คัดบางส่วนจากหนังสือ Asia Bunka Kaikan to Hozumi Goichi (หอพักวัฒนธรรมเอเชีย กับ โฮซูมิ โกอิจิ) ซึ่งจัดพิมพ์ในปี ค.ศ. 2007 โดยเป็นการรวบรวมความทรงจำของคนหลายระดับทั้งเพื่อนของอาจารย์ ลูกศิษย์ และผู้ร่วมงานที่สะท้อนมุมมองของคนต่างๆ ต่อท่าน”

“ในปัจจุบัน แม้โลกจะเปลี่ยนไปมากจากยุคของอาจารย์ตามกระแสโลกาภิวัตน์ แต่จิตวิญญาญโฮซูมิตามที่เราเรียกกันนั้น แม้แต่คนญี่ปุ่นเองก็ได้ตระหนักว่า นับวันจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพราะเป็นสิ่งที่มาจากความรักความเมตตาของอาจารย์ที่ต้องการเห็นโลกในทางที่ดีขึ้น คนมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่เห็นแก่ตัว ช่วยกันจรรโลงโลกไปสู่ความเป็นอิสรเสรีเท่าเทียมกันโดยไม่แบ่งชั้นวรรณะ เชื้อชาติ หรือฐานะทางเศรษฐกิจ ในการที่พวกเราได้มีโอกาสสัมผัสกับท่าน แม้จะเป็นเวลาน้อยนิด ต่างก็รู้สึกถึงความมีจิตใจที่ดีงามและจิตวิญญาณที่สูงส่งของท่าน จึงนับเป็นโชคดีของพวกเราอย่างยิ่ง และด้วยความตั้งใจที่จะแบ่งปันประสบการณ์นี้ให้แก่คนไทยโดยทั่วไปที่ไม่มีโอกาสอย่างพวกเรา ซึ่งทำให้เกิดหนังสือเล่มนี้ เพื่อเป็นสื่อกลางไว้ตลอดไป”

“หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านผู้อ่านคงจะได้รับประโยชน์ไม่มากก็น้อยจากหนังสือเล่มนี้ และขออุทิศคุณความดีที่ได้จากการจัดทำหนังสือเล่มนี้แด่อาจารย์และบรรดาบุรพชนชาวเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกาที่ต่อสู้เพื่อความเป็นอิสรเสรี ความเสมอภาค และความเจริญก้าวหน้าของชนรุ่นหลัง”

ด้วยจิตคารวะ คณะบรรณาธิการหนังสือ “จิตวิญญาณโฮซูมิ” HOZUMI SPIRIT

ภาพและข้อมูลจากเว็บไซต์ ttps://www.tpa.or.th/page/hozumi

About Author