“CAAT” แถลงผลการดำเนินงานรอบ 5 เดือน

cattt

CAAT แถลงผลการดำเนินงานรอบ 5 เดือน พร้อมเดินหน้ายกระดับการบินไทยสู่ Aviation Hub เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2568 สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) แถลงผลการดำเนินงาน ในช่วง 5 เดือน โดยมีพลอากาศเอก มนัท ชวนะประยูร ผู้อำนวยการ CAAT เป็นผู้แถลงถึงสถานการณ์ของอุตสาหกรรมการบินไทยในปัจจุบัน ซึ่งมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง และได้วางทิศทางเชิงรุกเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย สู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค (Aviation Hub)

ในช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2568 ประเทศไทยมีผู้โดยสารทางอากาศราว 72.68 ล้านคน เป็นผู้โดยสารเส้นทางภายในประเทศ 33.37 ล้านคน เส้นทางระหว่างประเทศ 39.31 ล้านคน และมีเที่ยวบินรวมราว 467,000 เที่ยวบิน แม้จำนวนผู้โดยสารและเที่ยวบินยังคงต่ำกว่าช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 อยู่ 13.11% แต่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากตลาดหลัก ได้แก่ ยุโรป เอเชียใต้ และอินเดีย สำหรับตลาดจีน แม้จะยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ เนื่องจากความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยและพฤติกรรมนักท่องเที่ยวจีนที่เปลี่ยนไป เน้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ แต่ CAAT อยู่ระหว่างหารือกับทางการจีนเพื่อผ่อนผันการใช้สิทธิ Slot ให้เป็น ระยะเวลา 1 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อให้สายการบินของไทยสามารถนำอากาศยานไปให้บริการในตลาดสำคัญอื่น ๆ ชั่วคราว เพื่อชดเชยการชะลอตัวของตลาดจีน

พลอากาศเอก มนัทฯ

พลอากาศเอก มนัทฯ กล่าวว่า “ขณะนี้อุตสาหกรรมการบินกำลังกลับมาเจริญเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ และมีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างชัดเจน หน่วยงานกำกับดูแลจึงต้องเร่งพัฒนาให้ระบบการบินของไทยมี ความพร้อมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน มาตรฐานความปลอดภัย และบริการ เพื่อรองรับบทบาท Aviation Hub อย่างเป็นรูปธรรม”

ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา CAAT ได้ดำเนินการอนุญาตและกำกับดูแลกิจการการบินในหลายด้านสำคัญเช่น การออกใบรับรองสนามบินสาธารณะให้กับท่าอากาศยานพิษณุโลก สมุย และกระบี่ รวมทั้งออกใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือนประเภทการขนส่งทางอากาศเพื่อการพาณิชย์แบบประจำมีกำหนด (AOL) ให้สาย การบินใหม่ 2 ราย คือ บริษัท อินทิรา (2009) แอร์ และบริษัท สยามวิงส์ แอร์ไลน์ จำกัด และออกใบรับรอง ผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC) ให้แก่ EZY Airlines ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการเดินอากาศรายใหม่

ด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมการบิน CAAT ได้จัดทำแผนปฏิบัติการเร่งด่วน (Quick Win Action Plan) ขับเคลื่อนใน 2 ช่วงหลัก ได้แก่:

ช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค. – มิ.ย.) มุ่งส่งเสริมธุรกิจเครื่องบินส่วนบุคคล (Private Jet) ทบทวนเกณฑอายุและมาตรฐานการใช้งานอากาศยาน ส่งเสริมให้เกิด Urban Traffic Management (UTM) รวมทั้งส่งเสริมการเจรจา เพื่อเปิดเส้นทางบินตรงสู่สหรัฐอเมริกา ภายหลังไทยได้รับคืนสถานะ FAA CAT1 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ช่วงครึ่งปีหลัง (ก.ค. – ธ.ค.) มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการบิน เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินภูมิภาค ส่งเสริมและสนับสนุนศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ที่สุวรรณภูมิ ดอนเมือง และภูเก็ต พร้อมยกระดับกระบวนการอนุญาตด้วยเทคโนโลยี เช่น ระบบ Fast Track และส่งเสริมการให้บริการเครื่องบินน้ำ หรือ Sea Plane รวมถึงการจัดตั้งสนามบินน้ำ (Water Aerodromes)

CAAT ยังเตรียมความพร้อมเพื่อรับการตรวจประเมินจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ในโครงการ Universal Safety Oversight Audit Programme Continuous Monitoring Approach (USOAP CMA) ช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายนนี้ โดยจะมีการตรวจประเมินในด้านต่างๆ เช่น มาตรฐาน สนามบิน ความสมควรเดินอากาศ การปฏิบัติการบิน การบริการการเดินอากาศ ฯลฯ ทั้งในสำนักงานและการลง พื้นที่หน่วยงานต่างๆ ในการกำกับดูแลของ CAAT เพื่อประเมินประสิทธิภาพของระบบกำกับดูแลความปลอดภัย ด้านการบินของประเทศ ทั้งนี้ หากประเทศไทยได้รับคะแนนสูงจากการตรวจของ ICAO จะช่วยเสริมความเชื่อมั่น จากสายการบิน นักลงทุน และผู้โดยสารทั่วโลก อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสในการเปิดเส้นทางบินใหม่ และยกระดับภาพลักษณ์ความปลอดภัยด้านการบินของไทยในเวทีนานาชาติ

นอกจากนี้ CAAT ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น การผลักดันระบบบริหาร จราจรอากาศยานไร้คนขับ (UTM) การจัดตั้งเขตห้วงอากาศเฉพาะสำหรับอากาศยานไร้คนขับ ส่งเสริมการใช้ ห้วงอากาศระดับต่ำ ส่งเสริมการใช้งานโดรนในภาคส่วนต่างๆ เช่น โลจิสติกส์ เกษตรกรรม และการตรวจตรารองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมโดรนในอนาคต และ CAAT ได้จัดทำเอกสารแนวทางการกำกับดูแลการให้บริการอากาศยานขึ้นลงทางดิ่งไฟฟ้า (eVTOL) และอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน (UAS) ฉบับแรกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อเป็นกรอบความร่วมมือในการพัฒนาและควบคุมเทคโนโลยี AAM อย่างเป็นระบบและปลอดภัยนอกจากนี้ ประเทศไทยยังเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดงาน ICAO AAM Symposium ในปี พ.ศ. 2569 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่งานสำคัญระดับโลกนี้จะจัดขึ้นในเอเชีย สะท้อนถึงบทบาทเชิงรุกของประเทศไทยในการขับเคลื่อนอนาคตของการบินและการขนส่งทางอากาศในภูมิภาค

ด้วยบทบาทของอุตสาหกรรมการบินในฐานะกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และความมั่นคงของประเทศ CAAT ยังคงมุ่งมั่นยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลและส่งเสริมการพัฒนาในทุกมิติ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ความปลอดภัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อวางรากฐานที่มั่นคงให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคอย่างยั่งยืนในอนาคต

About Author