“หวยเกษียณ” ใกล้เส้นชัย! กอช. “จัดงาน “10 ปี กอช. ศุกร์ได้ลุ้น สุขได้ออมกับหวยเกษียณ”

“หวยเกษียณ” ใกล้เส้นชัย! กอช. “จัดงาน “10 ปี กอช. ศุกร์ได้ลุ้น สุขได้ออมกับหวยเกษียณ”
ร่างกฎหมายจ่อเข้าสภา ถกวาระ 2-3 วันที่ 23 ก.ค. นี้
กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ครบรอบ 10 ปี จัดงาน “10 ปี กอช. ศุกร์ได้ลุ้น สุขได้ออม
กับหวยเกษียณ” พร้อมนำเสนอนวัตกรรมการออมรูปแบบใหม่ “สลาก กอช.” หรือ “หวยเกษียณ”
ตั้งเป้าเปลี่ยนพฤติกรรมการออมคนไทย ภายใต้แนวคิด “ซื้อหวยเงินไม่หาย กลายเป็นเงินออม” เพื่อขยายโอกาสการออมให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม รองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัย
วันที่ 19 ก.ค. 68 ที่สถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) จัดงาน
“10 ปี กอช. ศุกร์ได้ลุ้น สุขได้ออม กับหวยเกษียณ” โดยได้รับเกียรติจาก ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนที่มาร่วมงานอย่างคับคั่ง อาทิ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.), ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย, ทัณฑสถานหญิงกลาง, ทัณฑสถานหญิงนครราชสีมา, บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.), กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.), TrueMoney, AIS และ ShopeePay ที่มาร่วมออกบูธ เพื่อให้คำแนะนำด้านการออมและการวางแผนทางการเงิน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการสร้างวินัยการออม และเตรียมพร้อมให้คนไทยก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างมั่นคง



โดย ดร.เผ่าภูมิ ได้กล่าวถึงภาพรวมของเศรษฐกิจไทยว่า ในยุคที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับความ
ท้าทาย ทั้งการเข้าสู่สังคมสูงวัย ความผันผวนของระบบการเงินของโลกและการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้น
การสร้างวินัยการออมในระดับครัวเรือนจึงเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว สำหรับการจัดงาน “10 ปี กอช. ศุกร์ได้ลุ้น สุขได้ออม กับหวยเกษียณ” จึงนับเป็นก้าวใหม่ ที่ กอช. ได้นำเสนอ “หวยเกษียณ” ในฐานะนวัตกรรมทางการเงินภายใต้แนวคิด “ซื้อหวยเงินไม่หาย กลายเป็นเงินออม ใช้ประโยชน์จากพฤติกรรมที่คนไทยมีอยู่แล้ว เพื่อเติมเต็มให้คนไทยได้ออมเงินกันถ้วนหน้าผ่าน “หวยเกษียณ”
ดร.เผ่าภูมิ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงการคลังมีนโยบายสนับสนุนการออมที่เข้าถึงได้สำหรับทุกกลุ่มอาชีพ ซึ่ง “หวยเกษียณ” จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยผลักดันให้สามารถเพิ่มเงินออมของประชาชนทุกคน โดยจะร่วมกันขับเคลื่อนผ่านความร่วมมือระหว่าง กอช. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ทั้งนี้ ปัจจุบันร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระ 2 และ 3 ในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ เพื่อให้ กอช. มีหน้าที่และอำนาจในการออกและจำหน่าย “หวยเกษียณ” เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนออมเงิน ผ่านการลุ้นรางวัล และ สร้างระบบการออมที่ยั่งยืนรองรับสังคมผู้สูงอายุของไทย
สำหรับ “สลาก กอช.” หรือ “หวยเกษียณ” เป็น สลากขูดดิจิทัล ราคาฉบับละ 50 บาท เปิดจำหน่ายให้ผู้มีสัญชาติไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป สามารถซื้อได้สูงสุดเดือนละ 3,000 บาท (60 ฉบับ) ผ่านแอปพลิเคชัน “กอช.” โดยออกรางวัลทุกวันศุกร์ เวลา 17.00 น. ประกอบด้วย รางวัลที่ 1 มูลค่า 1 ล้านบาท (5 รางวัล) รางวัลที่ 2 มูลค่า 1,000 บาท (10,000 รางวัล) ทั้งนี้ ผู้ที่ถูกรางวัลจะได้รับเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ทันที



โดยเงินซื้อสลากทุกบาทจะถูกสะสมไว้เป็นเงินออม และผู้ซื้อสสลากจะได้รับเงินออม พร้อมผลประโยชน์ เป็นก้อนในครั้งเดียว 4 กรณีดังนี้ 1.อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ 2.อายุมากกว่า 60 ปี จะได้รับเงินคืนทั้งหมด เมื่อครบ 5 ปี นับแต่วันที่ซื้อสลาก และสามารถซื้อต่อไปได้คราวละ 5 ปี 3.ทุพพลภาพ, เสียสัญชาติไทย และ4.เสียชีวิต คืนเงินให้แก่บุคคลที่ระบุไว้ หรือทายาทด้าน นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กล่าวถึงบทบาทและผลการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาว่า กอช. ได้ทำหน้าที่เป็นกลไกการออมเพื่อสังคมให้แก่แรงงานนอกระบบ รวมถึงนักเรียน นักศึกษา และกลุ่มประชาชนทั่วไป อายุตั้งแต่ 15 – 60 ปี ที่ไม่มีสวัสดิการบำเหน็จบำนาญจากรัฐ เพื่อสร้างหลักประกันรายได้ยามชราภาพ กอช. เปิดดำเนินงานเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2558 มีสมาชิกเริ่มต้นเพียง 300,000 คน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กอช. ได้ขยายช่องทาง การออมที่สะดวกทันสมัย และสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน โดยจุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี 2565 กอช. ขับเคลื่อน “วาระการออมแห่งชาติ” ผลักดันการปรับปรุงกฎหมายเพิ่มเพดานการออมจากปีละ 13,200 บาท เป็นสูงสุด 30,000 บาท และเพิ่มเงินสมทบจากรัฐจากไม่เกิน 1,200 บาท เป็น 1,800 บาทต่อปี เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนออมได้มากขึ้นและได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นทำให้ปัจจุบัน กอช. มีสมาชิกกว่า 2.7 ล้านคน และมีทรัพย์สินกองทุนรวมกว่า 15,152 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2568)
“กอช. ยังขยายโครงการสร้างวินัยการออมให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย อาทิ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ผ่านความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ตลอดจนขยายเครือข่ายการออมสู่แรงงานนอกระบบ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มเปราะบาง และผู้ต้องขังในโครงการ “สร้างชีวิตใหม่” เพื่อให้คนไทยทุกกลุ่มเข้าถึงโอกาสการออมอย่างแท้จริง และยังได้ขับเคลื่อนงานผ่านกระทรวงมหาดไทยที่ว่าการอำเภอ และสำนักงานคลังจังหวัดทั่วประเทศ และยังสร้างตัวแทน กอช. ประจำหมู่บ้าน ได้ครอบคลุมทั่วประเทศ นอกจากนี้ เรายังได้ขยายช่องทางการรับสมัครและส่งเงินออม ผ่านธนาคารกรุงไทย, ออมสิน, ธอส., ธกส., ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และเคาน์เตอร์เซอร์วิส เดินหน้ายกระดับการให้บริการ เพิ่มช่องทางการออมที่สะดวก รวดเร็ว เพื่อให้เข้าถึงประชาชนทุกคน โดยสามารถสมัครสมาชิกและส่งเงินออมผ่านแอปพลิเคชัน “กอช.” และพันธมิตรดิจิทัลชั้นนำอย่าง ทรูมันนี่, MyAIS และ ShopeePay ตอบโจทย์วิถีชีวิตยุคใหม่ที่ทุกการออมทำได้แค่ปลายนิ้วสัมผัส” นางสาวจารุลักษณ์ กล่าว

สำหรับในวาระครบรอบ 10 ปีนี้ นางสาวจารุลักษณ์ กล่าวว่า กอช. ยังเปิดตัว “สลาก กอช.” หรือ “หวยเกษียณ” ซึ่งเป็นนวัตกรรมการออมรูปแบบใหม่ โดยรัฐบาลมุ่งหวังให้ “หวยเกษียณ” เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการขยายโอกาสการออมให้กับคนไทยทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม กอช. จะเดินหน้ายกระดับบริการต่อเนื่อง เพื่อสร้างระบบการออมที่ยั่งยืนและครอบคลุมทุกกลุ่มประชาชน สร้างอนาคตที่มั่นคงให้คนไทย ก้าวข้ามความเสี่ยงของสังคมสูงวัยอย่างมั่นใจ
ขณะที่ ดร.วโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวถึงการเข้าสู่สังคมสูงวัยและความมั่นคงทางรายได้หลังเกษียณของประเทศไทยว่า จากข้อมูลของธนาคารโลกระบุว่า รายได้หลังเกษียณที่เพียงพอควรอยู่ที่อย่างน้อย 50–60% ของรายได้ก่อนเกษียณ แต่แรงงานในระบบของไทยมีรายได้หลังเกษียณเฉลี่ยเพียง 41% ขณะที่แรงงานนอกระบบมีรายได้หลังเกษียณต่ำกว่า 5% และมีรายได้ไม่แน่นอน จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ภาครัฐต้องหามาตรการเพิ่มแรงจูงใจในการออม เพื่อสร้างความมั่นคงทางรายได้ในยามเกษียณให้กับประชาชนทุกกลุ่ม “การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะส่งผลต่อโครงสร้างรายได้ รายจ่ายของภาครัฐ และอาจกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากการลดลงของสัดส่วนประชากรวัยแรงงาน
ซึ่งเป็นกำลังที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลลดลง ขณะที่รัฐต้องใช้งบประมาณในการดูแลสวัสดิการด้านบำเหน็จบำนาญผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ทั้งเบี้ยยังชีพ เบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญ และเงินสมทบกองทุนการออมเพื่อการเกษียณต่างๆ โดยในปี 2567 ภาครัฐใช้งบประมาณด้านสวัสดิการบำเหน็จบำนาญผู้สูงอายุรวม 500.7 ล้านบาท หรือคิดเป็น 15% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าจากปี 2557 ที่ใช้งบประมาณ 253.4 ล้านบาท หรือประมาณ 10% ของงบประมาณ” ดร.วโรทัย กล่าว
ดร.วโรทัย กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการคลังในระยะยาว ภาครัฐจึงสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออมเงินด้วยตนเองผ่าน “หวยเกษียณ” ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงด้านรายได้ หลังเกษียณ และลดภาระงบประมาณของรัฐ โดยโครงการหวยเกษียณ ใช้งบประมาณเงินรางวัลปีละ 780 ล้านบาท จะช่วยเพิ่มเงินออมเพื่อการเกษียณให้กับประเทศปีละ 13,000 ล้านบาท หรือทุก 1 ล้านบาทที่รัฐใช้เป็นเงินรางวัล จะช่วยเพิ่มเงินออมเพื่อการเกษียณได้ถึง 16.6 ล้านบาท โดยเงินจำนวนนี้จะไม่เพียงแต่อยู่ในบัญชีเงินออม แต่จะถูกนำไปลงทุนต่อในตลาดทุน ทำให้มีเงินไหลเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ช่วยเพิ่มสภาพคล่อง ทำให้มีเงินหมุนเวียนในภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการลงทุนใหม่ๆ ในประเทศ นำไปสู่การจ้างงาน และการกระจายรายได้สู่ประชาชน สุดท้ายแล้วไม่เพียงแต่ประชาชนได้ประโยชน์ จากเงินออมของตัวเอง แต่ประเทศก็จะได้ประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน
ข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เป็นทางเลือกการออมที่ยืดหยุ่นเหมาะสำหรับคนไทยที่ไม่มีสวัสดิการบำเหน็จบำนาญ เช่น ผู้ประกอบอาชีพอิสระ พ่อค้าแม่ค้า แรงงานนอกระบบ นักเรียน นักศึกษาที่มีอายุระหว่าง 15 – 60 ปี เริ่มออมได้ตั้งแต่ 50 บาท สูงสุด 30,000 บาทต่อปี พร้อมรับเงินสมทบจากรัฐสูงสุดถึง 100% ตามช่วงอายุ ดังนี้
- อายุ 15 – 30 ปี รัฐสมทบให้ 50 % ของเงินออม แต่ไม่เกิน 1,800 บาทต่อปี
- อายุ >30 – 50 ปี รัฐสมทบให้ 80% ของเงินออม แต่ไม่เกิน 1,800 บาทต่อปี
- อายุ >50 – 60 ปี รัฐสมทบให้ 100% ของเงินออม แต่ไม่เกิน 1,800 บาทต่อปี
ทั้งนี้ ผู้ที่ออมเงินกับ กอช. ยังมีโอกาสได้รับเงินบำนาญรายเดือนตลอดชีพ เมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และรัฐค้ำประกันผลตอบแทนการลงทุนไม่ต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน เฉลี่ย 7 ธนาคาร เงินออมยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 30,000 บาทต่อปี โดยที่ผู้สนใจสามารถตรวจสอบสิทธิ สมัครสมาชิก และส่งเงินออมได้ง่ายๆ ผ่าน
แอปพลิเคชัน “กอช”, เป๋าตัง, ทรูมันนี่, เคพลัส, ShopeePay และช่องทางอื่นๆ หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กอช.
02-049-9000 ได้ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30 – 17.30 น.
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร กองทุนการออมแห่งชาติ 098-791-5149