กรมหม่อนไหมปั้นคอลเลกชัน “Banan Grove Paradise” ดัน “ผ้าไหมไทย” สู่แฟชั่นไลฟ์สไตล์ระดับสากล

กรมหม่อนไหมปั้นคอลเลกชัน “Banan Grove Paradise” ดัน “ผ้าไหมไทย” สู่แฟชั่นไลฟ์สไตล์ระดับสากล
ในยุคที่อัตลักษณ์ท้องถิ่นกลายเป็นจุดขายสำคัญของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ “ผ้าไหมไทย” ไม่เพียงเป็นงานหัตถกรรมดั้งเดิม หากแต่เป็นมรดกวัฒนธรรมที่มีศักยภาพจะก้าวไกลสู่ตลาดแฟชั่นระดับโลก
ด้วยเหตุนี้ กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงเดินหน้าผลักดันการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไหมไทยเชิงสร้างสรรค์ผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐ สถาบันการศึกษา และกลุ่มเกษตรกรท้องถิ่น ผ่าน “โครงการความร่วมมือพัฒนางานออกแบบผลิตภัณฑ์ไหมไทยเชิงสร้างสรรค์ประจำปี 2567” หวังยกระดับผ้าไหมจากผืนผ้าแบบเดิม สู่คอลเลกชันแฟชั่นไลฟ์สไตล์ที่ผสมผสานศิลปะร่วมสมัยและภูมิปัญญาพื้นถิ่นอย่างลงตัว

นายนวนิตย์ พลเคน อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า กรมหม่อนไหม ได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการความร่วมมือพัฒนางานออกแบบผลิตภัณฑ์ไหมไทยเชิงสร้างสรรค์ ประจำปี 2567 ภายใต้ความร่วมมือระหว่างศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ขอนแก่น สำนักวิจัยและพัฒนาหม่อนไหม กรมหม่อนไหม และวิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดในยุคปัจจุบัน พร้อมส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาต่อยอดจากกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตผ้าไหมไทย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจหม่อนไหมของประเทศ รวมทั้งเผยแพร่และสร้างภาพลักษณ์ผ้าไหมไทยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
หนึ่งในต้นแบบความสำเร็จ คือ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านสวนกล้วย” ตำบลบ้านเรือ อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นเครือข่ายของศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ขอนแก่น กลุ่มเกษตรกรนี้มีความเชี่ยวชาญตั้งแต่การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ทอผ้าไหม ไปจนถึงการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ ผ้าไหมผืน ผ้ามัดหมี่ ผ้าไหมขิด ผ้าถุง ผ้าคลุมไหล่ รวมถึงสบู่โปรตีนไหมและชาใบหม่อน โดยเฉพาะผ้ามัดหมี่ ผ้าพื้น และผ้าคลุมไหล่ ซึ่งเป็นสินค้าที่โดดเด่นของกลุ่ม ทั้งยังมีจุดแข็งในการใช้สีธรรมชาติในการย้อมเส้นไหม
ภายใต้การดำเนินงานของโครงการฯ ทีมงานได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูล ศึกษาและวิเคราะห์กระบวนการผลิตของกลุ่มเกษตรกร เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไหมไทยให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดควบคู่กับความถนัดของชุมชนในกรอบแนวคิดที่ผสมผสานความคิดสร้างสรรค์ ความยั่งยืน และอัตลักษณ์พื้นถิ่น โดยเน้นการอนุรักษ์งานหัตถกรรมเชิงวัฒนธรรมผ่านการเคารพคุณค่าศิลปะดั้งเดิม และนำมาประยุกต์ให้เข้ากับวิถีชีวิตร่วมสมัยของคนรุ่นใหม่



แนวทางการออกแบบใช้ศิลปะแนว Pop Art เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างลวดลายผ้าไหมใหม่จากลายดั้งเดิม เช่น ลายใบกล้วย ลายไดโนเสาร์ และลายเรือ นำไปสู่การพัฒนาเป็นคอลเลกชันแฟชั่นไลฟ์สไตล์ภายใต้ชื่อ “Banan Grove Paradise” โดยมีต้นแบบผลิตภัณฑ์ 4 รายการ ได้แก่ เสื้อผ้าผู้หญิง เสื้อผ้าผู้ชาย กระเป๋า และหมวก ซึ่งพัฒนาขึ้นจากการให้ความรู้และคำแนะนำแก่กลุ่มเกษตรกรในการออกแบบผลิตภัณฑ์
นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อหาช่องทางต่อยอดสู่ตลาดจริง โดยได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ต่อแบรนด์ “GOOD GOODS” ซึ่งเป็นแบรนด์ในเครือกลุ่มเซ็นทรัล ที่มุ่งเน้นการยกระดับสินค้าจากภูมิปัญญาไทยสู่ผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยที่ตอบโจทย์ตลาด โดยได้รับการตอบรับที่ดีในแง่ของรูปแบบสินค้าและแนวคิด แต่มีข้อเสนอแนะในการพัฒนาเพิ่มเติม เช่น การปรับลวดลายผ้าให้ลงตัวมากยิ่งขึ้น และลดต้นทุนจากผ้าผืน เพื่อให้สามารถแข่งขันในเชิงพาณิชย์ได้อย่างยั่งยืนในอนาคต


โครงการพัฒนางานออกแบบผลิตภัณฑ์ไหมไทยเชิงสร้างสรรค์ฯถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการยกระดับผ้าไหมไทยจากมรดกทางวัฒนธรรมสู่ผลิตภัณฑ์แฟชั่นที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ด้วยการผสมผสานแนวคิดสร้างสรรค์และอัตลักษณ์พื้นถิ่นให้ตอบโจทย์ตลาดยุคใหม่อย่างแท้จริงโดยความสำเร็จเบื้องต้นของคอลเลกชัน Banan Grove Paradise ได้สะท้อนถึงความเป็นไปได้ในการต่อยอดสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศถือเป็นต้นแบบของการนำผ้าไหมไทยเข้าสู่เส้นทางของแฟชั่นไลฟ์สไตล์ร่วมสมัยได้อย่างน่าจับตา
