BDI ครบ 2 ปี เดินหน้า Big Data & AI ขับเคลื่อนรัฐ สร้างนโยบาย-บริการ-ความเปลี่ยนแปลง

IMG_3283

BDI ครบรอบ 2 ปี เดินหน้า 3 แกนหลัก ขับเคลื่อนประเทศไทยด้วย Big Data & AI สู่ระบบใหม่ภาครัฐ หนุน “สร้างนโยบาย สร้างบริการ สร้างความเปลี่ยนแปลง”

​กรุงเทพฯ – 27 พฤษภาคม 2568, สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDIจัดงาน BDI Day 2025: Next Move for Big Data and AI ก้าวต่อไปของ Big Data และ AI เพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีรองนายกรัฐมนตรี และผู้บริหารระดับสูงร่วมแถลงวิสัยทัศน์และทิศทางใหม่ของการขับเคลื่อนประเทศด้วย Big Data และ AI ด้วย แกนหลั ได้แก่ แพลตฟอร์มการเชื่อมโยงและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (ดีทู), ThaiLLM โครงสร้างพื้นฐาน AI ภาษาไทยแบบโอเพนซอร์ส และการพัฒนากำลังคนด้านข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ เพื่อสร้างกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสังคม พลิกโฉมหน่วยงานรัฐ สู่ระบบที่ใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และสร้างผลลัพธ์ได้จริง ยกระดับประเทศไทยครอบคลุมทุกมิติ

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า “ประเทศไทยกำลังเข้าสู่จังหวะสำคัญของการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลที่ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ไม่ใช่เพียงเครื่องมือสนับสนุน แต่กลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานใหม่ของประเทศ รัฐบาลจึงได้เร่งขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลเชิงรุก เพื่อให้เทคโนโลยีทำงานร่วมกับนโยบายอย่างบูรณาการ โดยหนึ่งในก้าวสำคัญคือการจัดตั้ง ‘คณะกรรมการ AI แห่งชาติ’ เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนา AI ของประเทศให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เช่น Cloud, Data Center, GPU Computing และแพลตฟอร์มโอเพนซอร์ส เพื่อรองรับการเติบโตของนวัตกรรมดิจิทัลในระยะยาว

​อีกหนึ่งภารกิจสำคัญ คือ การจัดตั้ง ‘National Data Bank’ ซึ่งรัฐบาลมุ่งหวังให้เป็นกลไกกลางในการรวบรวม จัดการ และเปิดใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศอย่างปลอดภัยและโปร่งใส โดยมี BDI กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมทำหน้าที่หลักในการออกแบบระบบและผลักดันการดำเนินงาน เพื่อให้ข้อมูลกลายเป็นรากฐานของการวางแผนเชิงนโยบาย การสร้างบริการสาธารณะ และการพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ของประเทศ

ศ. (พิเศษ)วิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่ากระทรวงฯ มุ่งวางรากฐานเชิงระบบเพื่อให้ข้อมูลและ AI กลายเป็นกลไกหลักของการบริหารภาครัฐ และกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ผ่านการผลักดันแผนยุทธศาสตร์การใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่  พร้อมส่งเสริมธรรมาภิบาล AI ผ่านกรอบจริยธรรมที่ชัดเจน เพื่อให้การใช้งานเทคโนโลยีใหม่ของไทยเป็นไปอย่างรับผิดชอบและเกิดประโยชน์กับสังคมโดยรวม

นายกุลิศ สมบัติศิริ ประธานกรรมการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ กล่าวว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา BDI ได้วางรากฐานให้ระบบข้อมูลของประเทศขยับจาก ต่างคนต่างทำ‘ สู่ การทำงานร่วมกัน อย่างเป็นระบบ ผลงานอย่าง Health Link ที่เชื่อมข้อมูลสุขภาพทั่วประเทศ, Travel Link ที่ใช้วิเคราะห์การเดินทางในเชิงพื้นที่ และ City Data Platform (CDP) ที่ทำให้ข้อมูลเมืองถูกนำมาใช้ในการตัดสินใจได้จริง ล้วนสะท้อนถึงจุดเปลี่ยนเชิงโครงสร้างของระบบข้อมูลไทยที่เริ่มต้นแล้วจริง ๆ เราภูมิใจที่ได้เห็นภาครัฐหลายหน่วยงาน เริ่มใช้ข้อมูลเชิงลึกมาเป็นพื้นฐานของการกำหนดนโยบาย ซึ่งสะท้อนเป้าหมายสูงสุดของ BDI

รศ. ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ กล่าวว่า BDI มีบทบาทในฐานะองค์กรขับเคลื่อนข้อมูลของประเทศ ด้วยเป้าหมายที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม คือ การทำให้ข้อมูลจากทุกภาคส่วน ไม่เพียงแค่ถูกจัดเก็บอย่างมีระบบ แต่สามารถนำไปใช้งานได้จริง เป็นเครื่องมือในการกำหนดนโยบาย ยกระดับบริการสาธารณะ และพัฒนานวัตกรรมที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง

​หัวใจสำคัญของภารกิจนี้ คือ การพัฒนาโครงการ แพลตฟอร์มการเชื่อมโยงและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (ดีทู) (Data Integration and Intelligence Platform (D-II)) โดย D-II ไม่ได้เป็นการสร้างระบบข้อมูลขึ้นมาใหม่ แต่ทำหน้าที่บูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลที่มีอยู่แล้วจากหลายภาคส่วน รวมถึงการให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลบนแพลตฟอร์มโดยทีมนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลของ BDI เพื่อสนับสนุนการวางแผนเชิงนโยบายที่มีประสิทธิภาพ และขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น Data-Driven Nation อย่างแท้จริง โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน ผ่านบริการสำคัญ อาทิ การสร้างถนนทางเทคโนโลยีของข้อมูล (Data Linkage Engine)เพื่อรองรับการเชื่อมโยงและใช้งานร่วมกับ D-IIData Catalog ระบบบัญชีข้อมูล และ D-IIAnalytics Services ทั้งที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน และที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้เครือข่ายของถนนพร้อมรับการเชื่อมต่อกับระบบข้อมูลจากประตูของหน่วยงานฯ นอกจากนี้ยังมีDashboard and Analytics Tools ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกและตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลจริงที่ถูกเชื่อมโยงเข้าสู่ระบบฯ รวมถึง Central Hashing กระบวนการแทนค่าข้อมูลสำคัญ โดยที่ไม่สามารถถอดรหัสหรือกระทำการใดๆ เพื่อที่จะกลับไปยังข้อมูลต้นฉบับได้หากไม่ได้รับอนุญาต เพื่อการปกป้องข้อมูลตามกฎหมายฯ

นอกจากนี้ BDI ยังเดินหน้าร่วมพัฒนา  ThaiLLM  หรือ Thai Large Language Modelซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานปัญญาประดิษฐ์สำหรับภาษาไทย แบบ Open Source/Open License ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดย BDI ร่วมมือกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) สมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) ThaiLLM ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของความร่วมมือกับหน่วยงานผู้นำด้าน AI ของประเทศไทย ที่รวมพลังกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน AI ภาษาไทย ที่เข้าใจบริบทของภาษาและวัฒนธรรมไทย เพื่อให้ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และนักเทคโนโลยี สามารถนำไปใช้งานและต่อยอดได้อย่างกว้างขวาง

ปัจจุบันโครงการ ThaiLLM ดำเนินการมาแล้ว 3 เดือน  สามารถรวบรวมข้อมูลภาษาไทยจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และเอกสารที่หอสมุดแห่งชาติเป็นผู้ถือสิทธิ์ได้แล้วเสร็จ รวมถึงมีการพัฒนาและใช้งาน ThaiLLM Data Bank ซึ่งมีปริมาณข้อมูลภาษาไทยมากกว่า 245GB และดำเนินการให้อยู่ในรูปแบบของโทเคนได้ประมาณ 55 ล้านล้านโทเคน หรือคิดเป็น 55% ของปริมาณเป้าหมายเพื่อทำการพัฒนาโมเดลขนาดเล็ก และขนาดกลางเบื้องต้น

ในขณะเดียวกัน BDI ยังเร่งพัฒนาศักยภาพกำลังคนควบคู่กันไป ผ่านการออกแบบร่างหลักสูตร เรียนรู้ด้าน AI และ LLM เพื่อเตรียมความพร้อมบุคลากรไทยให้สามารถเข้าใจ ออกแบบ และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกผ่านการเรียนรู้ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในชีวิตประจำวัน โดยเน้นการเรียนการสอน และการประเมินทักษะแบบ Micro-Credentials เพื่อปูรากฐานให้เข้าใจถึงประโยชน์ของการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลก

รศ. ดร.ธีรณี กล่าวอีกว่า โครงการนี้ยังทำหน้าที่เป็น กลไกสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือด้านปัญญาประดิษฐ์ของประเทศไทย (Thai AI Collaboration) และสร้างระบบนิเวศ AI ของประเทศ (AI Ecosystem) ให้เข้มแข็งตามแนวทางการดำเนินงานที่กำหนดไว้ในที่ประชุมคณะกรรมการ AI แห่งชาติ ทั้งยังช่วยลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นหนึ่งใน ผู้เล่นสำคัญในระดับภูมิภาคด้าน AI โดย BDI มุ่งหวังให้ThaiLLM จะไม่เพียงเป็นโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น แต่ยังเป็นเวทีที่จุดประกายความร่วมมือรูปแบบใหม่ในระดับประเทศ ที่หน่วยงานและนวัตกรไทยจากทุกภาคส่วนเข้ามีส่วนร่วมในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีของประเทศร่วมกัน และโครงการอื่น ๆ ในอนาคตก็สามารถต่อยอดความร่วมมือนี้ได้เช่นเดียวกัน

BDI ยังให้ความสำคัญกับการออกแบบกลไกการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างมีธรรมาภิบาลซึ่งจะเป็นเครื่องมือหลักในการลดอุปสรรคด้านการแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และระหว่างรัฐกับเอกชน โดยมีกลไกกลางที่ชัดเจน มีมาตรฐานการรักษาความปลอดภัย และมีเอกสารแม่แบบรองรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างมีธรรมาภิบาล (Data Governance) ทั้ง D-II, ThaiLLM และการพัฒนากำลังคน คือ แกนหลักที่ BDI ขับเคลื่อนควบคู่กัน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลอย่างเต็มศักยภาพ สร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ และยกระดับประเทศด้วยเทคโนโลยีที่ออกแบบมาเพื่อคนไทยอย่างแท้จริง” รศ.ดร.ธีรณี กล่าวทิ้งท้าย

About Author