“มูลนิธิคุณกับก้อง” ผนึกพลังพันธมิตร ปั้นเยาวชนพิทักษ์สิ่งแวดล้อม

มูลนิธิคุณกับก้อง สหรัถ ผนึก Ppc และพันธมิตรภาคโรงเรียนและเอกชน ลุยลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการพัฒนาผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อมรุ่นเยาว์

วันอังคารที่ 22 เมษายน 2568 ซึ่งตรงกับ “วันคุ้มครองโลก” หรือ “Earth Day” มูลนิธิคุณ (KHUN Foundation) ร่วมมือกับวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ Ppc และ ดาราศิลปินรักษ์โลก คุณก้อง สหรัถ สังคปรีชา และคุณเมเปิ้ล นภัสสร สุปรียสุนทร นางสาวไทย นครปฐม ปี 2567 เป็นส่วนหนึ่งของพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการพัฒนาผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อมรุ่นเยาว์ ระหว่างมูลนิธิคุณ Ppc สมาคมอาเซียน ไวนิล เคาน์ซิล บริษัท ริโก้ (ประเทศไทย) จำกัด โรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา และ โรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกประถม ที่ห้องประชุม ชั้น 7 สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในงาน ยังมีตัวแทนวัยจิ๋ว น้องของขวัญ เด็กหญิง นัฐภัสสร อนันตวิภาต อนาคตประธานมูลนิธิคุณ โดยน้องของขวัญมาเล่าชีวิตประจำวันว่าอยู่บ้านแยกขยะไหม และถ้าที่บ้านมีคนไม่แยกขยะ น้องของขวัญทำยังไง และน้องของขวัญคิดว่าการแยกขยะจะช่วยโลกของเราอย่างไรบ้าง และเด็กหญิง อารียา เกคราด ลูกครึ่งไทยฝรั่งเศสที่อยู่ในปารีสและแวะกลับมาไทย มาขอให้ทุกคนช่วยโลก หรือ Sauver la planete 🌏 Save the planet

คุณปรางค์ทิพย์ อนันตวิภาต หรือคุณจิ๋ว ประธานมูลนิธิคุณ ให้สัมภาษณ์ว่า “เป็นเวลากว่า 7 ปีแล้วที่มูลนิธิคุณทำกิจกรรมกับเด็ก ๆ อย่างต่อเนื่อง มีการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ผ่านดาราศิลปิน และสื่อมวลชน ทำให้มีพันธมิตรใหม่ๆ หลายหน่วยงานเข้าร่วมด้วย ดังเช่นในวันนี้ ที่มูลนิธิคุณได้รับโอกาสที่สำคัญมากๆ ในการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการพัฒนา “ผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อมรุ่นเยาว์” โดยมุ่งเน้นการสร้างความตระหนักในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (โลกร้อน) แนวทางการแก้ไขวิกฤตโลกร้อน ทักษะการดูแลสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวัน การจัดการกับขยะและการแยกขยะอย่างถูกวิธี และหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน”

ก้อง สหรัถ สังคปรีชา มาร่วมช่วยงานนี้เพราะเห็นคุณจิ๋ว ปรางค์ทิพย์ ของมูลนิธิคุณตั้งใจและมุ่งมั่นช่วยรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมมานานหลายปี และก้องเองก็เห็นด้วยว่าการรณรงค์เรื่องการแยกขยะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ง่ายมาก ๆ แต่ผู้ใหญ่หลายคนไม่ใส่ใจและไม่คิดว่าจำเป็นต้องทำ ก้องบอกว่า “ผมเห็นคนใกล้ตัวจับโยนทุกสิ่งทุกอย่างใส่ถังขยะเดียวกัน ไม่ว่าจะขยะเปียกพวกเศษอาหาร ก็เอาพวกขยะอันตรายและขยะสะอาดพวกกระดาษหรือขวดน้ำเปล่าจับโยนทิ้งไปรวมกับขยะเศษอาหารหมด ของที่สะอาดก็กลายเป็นสกปรก ผมเคยคิดกับตัวเองว่าแต่ก่อนเราก็ทำแบบนี้ แต่ผมก็จำไม่ได้ว่าอะไรที่ทำให้เราเริ่มแยกขยะ และเริ่มแยกขยะตั้งแต่เมื่อไหร่ผมนึกไม่ออก แต่ก็เริ่มมานานแล้ว”

ศ. ดร.ปราโมช รังสรรค์วิจิตร และผศ. ดร.มานิตย์ นิธิธนากุล แห่งวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ว่า “ความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษา ภาคเอกชน และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มุ่งมั่นในการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทย ให้เติบโตเป็น “ผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อมรุ่นใหม่” เพื่อสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมตั้งแต่วัยเยาว์ ผ่านการเรียนรู้ การลงมือปฏิบัติ และการทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ โครงการนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เล็งเห็นความสำคัญของการปลูกฝังความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และการนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ผ่านกิจกรรมหลากหลาย อาทิ การเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะ การรีไซเคิลอย่างถูกวิธี รวมถึงการสร้างนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ความร่วมมือในวันนี้จึงไม่ใช่เพียงการลงนามในเอกสาร แต่เป็นการร่วมกันสร้างแรงบันดาลใจ จุดประกายความคิด และส่งต่อความหวังให้กับเยาวชนไทยในการดูแลโลกใบนี้ให้ยั่งยืนสืบไป

คุณไพศาล หล่อพงศ์ไพบูลย์ และคุณบูรณินทุ์ กัมพลพันธ์ สมาคมอาเซียน ไวนิล เคาน์ซิล พร้อมให้การสนับสนุนด้านองค์ความรู้และแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการใช้และจัดการวัสดุไวนิลอย่างยั่งยืน รวมถึงการให้ข้อมูลและทรัพยากรที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาโครงการให้มีความครอบคลุมและเกิดผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม ร่วมเป็นพันธมิตรในการวิจัย พัฒนา และเผยแพร่ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน

ผศ. ดร.มานิตย์ นิธิธนากุล เล่าว่า “วันนี้ผมมาพูดเกี่ยวกับการจัดการขยะและการคัดแยกขยะ รวมถึงผลกระทบของปัญหาการจัดการขยะ การทิ้งขยะไม่ถูกที่ รวมถึงมูลค่าของการนำขยะกลับมารีไซเคิล เพื่อนำกลับมาเป็นวัตถุดิบอีกครั้ง” โดยแนวคิดของมูลนิธิคุณที่ตรงกับวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ก็คือการปลูกฝังจิตสำนึกให้กับเด็กๆ และรณรงค์ให้เกิดการทิ้งขยะให้ถูกที่หรือคัดแยกขยะก่อนทิ้ง จะสามารถช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้อยู่อย่างยั่งยืน

คุณเมเปิ้ล นภัสสร สุปรียสุนทร นางสาวไทย นครปฐม 2567 ในฐานะคนรุ่นใหม่ ที่มองเห็นบทบาทของคนรุ่นใหม่ในการเปลี่ยนขยะให้เป็นทรัพยากรที่สำคัญ โดยเยาวชนสามารถใช้โซเชียลมีเดียหรือแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ในวงกว้าง คุณเมเปิ้ล อยากให้ทำโมเดลเรื่องการแยกขยะที่ถูกต้อง และประโยชน์ของการนำขยะที่แยกไปทำให้มีมูลค่าได้ และช่วยเรื่องลดโลกร้อน (Climate Change) อย่างไรได้บ้าง ตนตั้งใจจะทำให้เห็นเป็นรูปธรรมเลย เช่นธุรกิจของเมเปิ้ลจะมีการรวบรวมขยะสะอาดที่ทำประโยชน์ได้ไปทำ Upcycling

คุณครูประสาร ศรีมาฤทธิ์ และน้องพลอย น้องยูกิตัวแทนนักเรียนจากโรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา มองว่าเยาวชนสามารถเริ่มต้นสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จากตัวเอง ที่เป็นจุดเล็กๆในสังคมก่อน อาจจะเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง อย่างการ ทิ้งขยะให้ถูกที่แยกให้ถูกถัง การปิดน้ำปิดไฟเมื่อไม่ใช้ การเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ถึงแม้ว่าการกระทำของตัวหนูเองหรือน้องเล็กๆจะมีผลเพียงน้อยนิดต่อสังคม แต่มันจะกลายเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อไปในระยะยาวได้อย่างแน่นอนค่ะ มุมมองว่าเยาวชนสามารถเริ่มต้นสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ จึงร่วมส่งนักเรียนและบุคลากรของโรงเรียนเพื่อฝึกอบรมในโครงการให้มีทักษะในการเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การจัดกิจกรรมภาคสนาม เช่น การคัดแยกขยะ การเยี่ยมชมแหล่งรีไซเคิล และ โรงงานรีไซเคิล และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และให้พวกเขาช่วยสร้างเครือข่ายเยาวชนที่มีความตระหนักและพร้อมเป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต โดยเปิดโอกาสให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการและดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม

ทางด้านคุณครูนนทวุฒิ กิตติวโยธิน คุณครูพรศักดิ์ ขาวพรหม และคุณครูชนากานต์ ศรีชมภู จากโรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกประถม เล่าว่าจุดแข็งของเยาวชนคือการเปิดรับโลกแห่งความรู้ใหม่ๆ และจะมีผลอย่างมากในการขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นต้นแบบของโครงการพัฒนาเยาวชนด้านสิ่งแวดล้อมที่สามารถขยายผลไปยังสถานศึกษาและองค์กรอื่น ๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ในระดับบ้าน โรงเรียน หรือชุมชน เยาวชนสามารถเริ่มต้นโครงการเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ดี

โรงเรียนมีหลักสูตรการจัดการเรียนการสอน การจัดตั้งถังขยะ 4 ประเภทในบริเวณต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อมและการคัดแยกขยะก่อนทิ้งในบริเวณโรงเรียน จัดกิจกรรมตลาดนัด Reuse เป็นผู้นำกลุ่มเครือข่ายโรงเรียนสีเขียว ร่วมกับโรงเรียน 5 โรงเรียนในบริเวณใกล้เคียงคือ โรงเรียนพระแม่มารีสาทร โรงเรียนศุภวิทย์ โรงเรียนทุ่งมหาเมฆ โรงเรียนวาสุเทวี และโรงเรียนจิ้นเตอะ ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้กิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการขยะในห้องเรียนรู้ของงานวันวิชาการ

คุณฌาริณีย์ เสนาณรงค์ ตัวแทนผู้บริหาร และทีมงานจากส่วนงานดูแลและกำกับความยั่งยืนขององค์กรบริษัท ริโก้ (ประเทศไทย) จำกัด ได้มีส่วนร่วมในด้านธุรกิจสีเขียวเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยพร้อมนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้เพื่อช่วยสร้างมูลค่าและเปลี่ยนขยะเป็นทรัพยากรและผลิตภัณฑ์ได้ดีขึ้น และมีแผนการดำเนินโครงการการปลูกฝังจิตสำนึกของเยาวชนในการคัดแยกขยะ ส่งเสริมให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ในการใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่าขยะผ่านการลงมือปฏิบัติจริง (Learning by Doing) และส่งมอบผลิตภัณฑ์แปรรูปจากขยะแก่ชุมชนเพื่อใช้ประโยชน์และมีส่วนร่วมในปกป้องสิ่งแวดล้อมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

คุณปรางค์ทิพย์ หรือคุณจิ๋ว ประธานมูลนิธิคุณ กล่าวอีกว่าอยากได้ความช่วยเหลือเป็นการทำงานร่วมกันมากกว่า เพราะถ้าเราทำอยู่คนเดียวจะไม่มี impact แต่ถ้าทำร่วมกับองค์กรใหญ่น่าจะมีผลกระทบวงกว้างมากขึ้นแน่นอน

พี่ก้อง สหรัถ สังคปรีชา ที่ผ่านมาร่วมช่วยคุณจิ๋ว คุณปรางค์ทิพย์ อนันตวิภาต ประธานมูลนิธิคุณ มามากมายหลายงาน ร่วมในกิจกรรมกับมูลนิธิคุณสอนเด็กๆ จนเป็นดารารักษ์โลกที่จริงจังกับการแยกขยะ ยังฝากไว้ว่า “งานในวันนี้มีการคิดออกแบบ animation ให้เป็นผู้พิทักษ์โลกในรูปแบบต่าง ๆ พวกเราที่เป็นประชาชนทั่ว ๆ ไปก็สามารถดูแลรักษาโลกของเราได้ โดยการเป็น Hero หรือ Guardian ผู้พิทักษ์โลกด้านการแยกขยะ”

สุดท้าย พี่ก้อง สหรัถ บอกว่า โครงการพัฒนาผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อมรุ่นเยาว์นี้จะแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการคัดแยกขยะที่ถูกต้องและทิ้งขยะให้ถูกที่กับผลลัพธ์ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนหนึ่งของขยะทางทะเลเกิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์ โดยการทิ้งขยะไม่ถูกที่และไม่ถูกต้อง ดังนั้นโครงการนี้จึงจะช่วยส่งเสริมให้ทิ้งให้ถูกที่และแยกขยะให้ถูกต้อง ซึ่งง่ายต่อการนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ผมว่านักเรียน นักศึกษา หรือคนที่ทำงานองค์กรเอกชนหรือหน่วยงานรัฐทั่ว ๆ ไป น่าจะฟังเรื่องพวกนี้ เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญ และหาฟังอะไรที่เนื้อหายากปนง่ายแบบนี้ได้ไม่บ่อยครับ

งานกิจกรรมต่อเนื่องของมูลนิธิคุณและ Ppc ในช่วงเทศกาลวันคุ้มครองโลกหรือ Earthday นี้คือค่ายบุตรธิดานาวีภาคฤดูร้อน ในวันพฤหัสที่ 24 เมษายน 2568 ที่ ฐานทัพเรือกรุงเทพ ถนนอรุณอัมรินทร์ ที่จะสอนเด็กๆ ที่มาเข้าค่ายเรื่องการแยกขยะ กระบวนการรีไซเคิลพลาสติก และประเภทของพลาสติก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ภาวะโลกร้อน (Global Warming) และการใช้พลังงานในชีวิตประจำวัน โดยกลุ่มเป้าหมายคือบุคลากรของ สมาคมภริยาทหารบกและลูกหลานของข้าราชการทหารบก

About Author