วช. มอบประกาศเกียรติคุณ ยกย่อง “ชุมชนไม้มีค่า” ครั้งที่ 2 ในงานวันนักประดิษฐ์ 2568
วช. มอบประกาศเกียรติคุณ ยกย่อง “ชุมชนไม้มีค่า” ครั้งที่ 2 ในงานวันนักประดิษฐ์ 2568
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดพิธีมอบประกาศเกียรติคุณ “ชุมชนไม้มีค่า” ระดับประเทศ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2567 โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ที่ปรึกษาสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการชุมชนไม้มีค่า กล่าวถึงภาพรวมการขับเคลื่อนโครงการชุมชนไม้มีค่า และ ดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ อดีตปลัดสำนักงานนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษาพิเศษด้านงานจิตอาสาและโครงการพิเศษ สำนักนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการโครงการประกาศเกียรติคุณ “ชุมชนไม้มีค่า“ ระดับประเทศ กล่าวรายงานความเป็นมาของโครงการ ภายในงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2568 ณ เวทีกิจกรรมกลาง Event Hall ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้ อว. มีความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการพัฒนาไม้มีค่าโดยการนำวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมมาใช้ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน พิธีมอบประกาศเกียรติคุณ “ชุมชนไม้มีค่า” ครั้งที่ 2 ประจำปี 2567 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้ชุมชนได้ประยุกต์ใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ในการพัฒนา และเพื่อยกย่องชุมชนที่มีผลงานโดดเด่นซึ่งสามารถเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่นๆ ในการบริหารจัดการไม้มีค่าอย่างยั่งยืน โดยมีความคาดหวังว่าชุมชนที่ได้รับรางวัลจะมีแรงผลักดันในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ที่ปรึกษาสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการชุมชนไม้มีค่า กล่าวว่า ความสำคัญของโครงการชุมชนไม้มีค่า ซึ่งเป็นผลมาจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการปลูกป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและสร้างความสมดุลให้กับธรรมชาติ โดยมี 4 หน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนโครงการ ได้แก่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กรมป่าไม้ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งโครงการนี้ไม่เพียงแต่ช่วยสร้างเศรษฐกิจให้กับชุมชน แต่ยังเป็นรากฐานในการสร้างการเรียนรู้ในระดับชุมชนที่สามารถขยายผลไปสู่การพัฒนาในระดับประเทศในอนาคต
ดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ อดีตปลัดสำนักงานนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษาพิเศษด้านงานจิตอาสาและโครงการพิเศษ สำนักนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการโครงการประกาศเกียรติคุณ “ชุมชนไม้มีค่า“ ระดับประเทศ กล่าวว่า การถ่ายทอดองค์ความรู้ภายในกลุ่มชุมชนไม้มีค่า ทำให้เกิดการเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชนจากไม้มีค่า และส่งเสริมรายได้ในมิติต่าง ๆ ทั้งนี้ ได้มีการคัดเลือกชุมชนไม้มีค่า รวมทั้งสิ้น 65 ชุมชน และได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์คัดเลือกชุมชนไม้มีค่าทั้ง 4 ด้าน ดังนี้ ด้านการประยุกต์ใช้ความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม การเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อรักษาสมดุลอย่างยั่งยืน การสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชนและส่งเสริมรายได้ และการบริหารจัดการชุมชนและเครือข่ายเพื่อการเรียนรู้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ภายในพิธีมอบประกาศเกียรติคุณ “ชุมชนไม้มีค่า” มีการมอบโล่และเกียรติบัตร แก่ชุมชนจำนวน 19 ชุมชน แบ่งประเภทรางวัลเป็น 5 ประเภท ได้แก่ ระดับดีเลิศ จำนวน 1 รางวัล, ระดับดีเด่น จำนวน 1 รางวัล, ระดับดีมาก จำนวน 2 รางวัล, ระดับดี จำนวน 8 รางวัล และระดับชมเชย จำนวน 7 รางวัล โดย วช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีเป้าหมายที่จะขยายผลโครงการ “ชุมชนไม้มีค่า” ให้ครอบคลุมพื้นที่มากยิ่งขึ้น โดยเน้นการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ โดยจะให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายชุมชนต้นแบบ ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไม้มีค่าเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน