วช. ร่วมกับ ศูนย์ผู้เชี่ยวชาญ HTAPC ถกปัญหาฝุ่น PM2.5 ในงานวันนักประดิษฐ์ 2568
วช. ร่วมกับ ศูนย์ผู้เชี่ยวชาญ HTAPC ถกปัญหาฝุ่น PM2.5 ในงานวันนักประดิษฐ์ 2568
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ (HTAPC) จัดการเสวนา “ไขข้อสงสัยมีอะไรบ้าง อยู่ในฝุ่น PM2.5 ที่พบในประเทศไทย“ โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิด ซึ่งจัดขึ้นภายในงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2568 ณ เวทีกิจกรรมกลาง Event Hall 103 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่สูงเกินมาตรฐานและข้อห่วงกังวลจากประชาชนในช่วงที่ผ่านมา เกิดข้อสงสัยถึงแหล่งที่มาของฝุ่นละออง PM2.5 และสารองค์ประกอบที่มากับฝุ่น อีกทั้ง วช. ได้ให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ที่มีความถูกต้องแก่สาธารณะ ผ่านผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจและความตระหนักรู้ให้กับประชาชน จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านมลพิษทางอากาศและปัญหา PM2.5 ที่ผ่านมา และได้มีการศึกษาถึงองค์ประกอบของฝุ่นละออง PM2.5 ของประเทศไทย วช. โดย HTAPC จึงได้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องในประเด็นดังกล่าว เพื่อไขข้อสงสัยมีสารอะไรบ้างอยู่ในฝุ่น PM2.5 ในวันนี้
การเสวนา “ไขข้อสงสัยมีอะไรบ้าง อยู่ในฝุ่น PM2.5 ที่พบในประเทศไทย“ ได้รับเกียรติจาก ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ เป็นผู้ดำเนินรายการ พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.นเรศ เชื้อสุวรรณ แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี รองศาสตราจารย์ ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ หัวหน้ากลุ่มวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศ รองศาสตราจารย์ ดร.สมพร จันทระ หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ดร.ปกรณ์ เพ็ชรประยูร ผู้อำนวยการ สำนักพัฒนานวัตกรรรมภูมิ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เพื่อ “ไขข้อสงสัยมีสารอะไรบ้าง อยู่ในฝุ่น PM2.5 ที่พบในประเทศไทย” ดังนี้
- วิธีหาองค์ประกอบของฝุ่น PM2.5
- สารที่พบในฝุ่น PM2.5 ของประเทศไทย
- สารที่พบในฝุ่น PM2.5 ของพื้นที่ กทม. และปริมณฑล
- สารที่พบในฝุ่น PM2.5 ของพื้นที่จังหวัด เชียงใหม่
- ผลจากการบินสำรวจอากาศในประเทศไทย โดยองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA)
ทั้งนี้ การเสวนาดังกล่าวได้ช่วยให้ประชาชนและผู้ที่สนใจได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับองค์ประกอบของฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทย ตลอดจนแหล่งที่มาและผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายและมาตรการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในอนาคต วช. และ HTAPC ยังคงมุ่งมั่นสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 รวมถึงการเผยแพร่ความรู้ให้แก่ประชาชน เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและแนวทางในการลดผลกระทบจากมลพิษทางอากาศในระยะยาว