กระทรวงอุตสาหกรรม โชว์ความสำเร็จพลังซอฟต์พาวเวอร์อาหาร ขานรับนโยบายเรือธงรัฐบาล
กระทรวงอุตสาหกรรม โชว์ความสำเร็จพลังซอฟต์พาวเวอร์อาหาร ขานรับนโยบายเรือธงรัฐบาล ตอกย้ำเสน่ห์อาหารไทยในเวทีโลก รังสรรค์ 42 เมนู คาดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 100 ล้านบาท
กรุงเทพฯ 23 มกราคม 2568 – กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โชว์ผลสำเร็จการขับเคลื่อนแผนงานตามยุทธ์ศาสตร์การพัฒนาซอฟพาวเวอร์ไทย นโยบายเรือธงสำคัญ (Flagship) ของรัฐบาล ภายใต้กลไก OFOS (One Family One Soft power) หรือ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ สาขาอาหาร ผ่านโครงการพัฒนาร้านอาหารเชฟชุมชน อาหารถิ่นอาหารไทย (Local Chef Restaurant) เน้นการสร้างอาชีพและรายได้ในท้องถิ่นผ่านวัฒนธรรมอาหารถิ่น พัฒนาบุคลากรธุรกิจร้านอาหารและต่อยอดสู่ธุรกิจอื่น ๆ แบบมืออาชีพ โดยนำร่องความสำเร็จในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รังสรรค์เมนูอาหารพลังสร้างสรรค์ จำนวน 42 เมนู อาทิ ยำชะครามกุ้งสด ไก่ย่างเขาสวนกวาง แกงคั่วเห็ดเพาะ ผัดหมี่โคราช เมี่ยงบัวหลวง ตอกย้ำมนต์เสน่ห์อาหารไทยไม่แพ้ชาติใด และคาดว่าจะเกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมูลค่าไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้าพัฒนาร้านอาหารเชฟชุมชน อาหารถิ่นอาหารไทย 540 ร้าน / 2,160 คน ภายในระยะเวลา 4 ปี
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนซอฟพาวเวอร์ไทย ถือเป็นหนึ่ง
ในนโยบายเรือธงสำคัญ (Flagship) ของรัฐบาล เพื่อสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ด้วยการยกระดับและพัฒนาความรู้ ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยให้สามารถสร้างมูลค่าและสร้างรายได้ อันจะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การนำของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ มีนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” ที่มุ่งเน้นการปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ รวมทั้งปรับปรุงการทำงานของกระทรวงอุตสาหกรรมให้สอดรับต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้ในทุกขั้นตอนนำมาสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับภาคอุตสาหกรรมไทยด้วยแนวคิด “MIND” ใช้ “หัว” และ “ใจ” ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชนให้สมดุลและยั่งยืนผนวกกับนโยบายการเร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ไทยของรัฐบาลภายใต้ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ 3 ด้านหลักครอบคลุมทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำผ่านกลไกสำคัญ คือ OFOS (One Family One Soft power) หรือ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งมีเป้าหมาย 14 สาขา เพื่อสร้างแรงงานทักษะสูงด้วยการ Upskill – Reskill และยกระดับศักยภาพแรงงานด้านความสร้างสรรค์ให้สูงขึ้น สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยกระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้สั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) เร่งดำเนินการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ไทย เพื่อขับเคลื่อนและผลักดันซอฟพาวเวอร์ (Soft Power) ใน 2 สาขา คือ อาหารและแฟชั่น ผ่านโครงการและแผนงานต่าง ๆ ให้เกิดเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นอันจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
หรือดีพร้อม (DIPROM) ขานรับนโยบานการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ไทย (Soft Power) ใน 2 สาขา คือ อาหารและแฟชั่น ภายใต้นโยบาย “ดีพร้อมคอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้” ผ่านกลยุทธ์ 4 ให้ 1 ปฏิรูป ที่มุ่งส่งเสริม พัฒนา และยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการในทุก ๆ ด้านอย่างตรงจุด โดย 1 ในนั้น คือ การให้ทักษะใหม่ ๆ เพื่อยกระดับทักษะที่มีอยู่เดิม (Upskill) และ สร้างทักษะขึ้นมาใหม่ที่จำเป็นต่อการทำงาน (Reskill) โดยฉพาะการสร้างทักษะอาชีพในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือซอฟต์พาวเวอร์ไทย ซึ่งสอดรับกับนโยบาย OFOS (One Family One Soft power) ครอบคลุมต้นน้ำ-ปลายน้ำ ซึ่งต้นน้ำที่สำคัญ คือ การสร้างคนด้วยการสร้าง “นักรบซอฟต์พาวเวอร์” และปลายน้ำด้วยการผลักดัน นำเอกลักษณ์ ภูมิปัญญา วัฒนธรรมสร้างสรรค์ของไทยไปสู่ตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารไทย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ที่ทรงพลังและเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพสูงในการสร้างโอกาสการเติบโตและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ
ดีพร้อม ได้มีแนวทางการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ไทยสาขาอาหารผ่านแผนงาน
และโครงการต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดย 1 ในนั้น คือ โครงการพัฒนาร้านอาหารเชฟชุมชน อาหารถิ่นอาหารไทย (Local Chef Restaurant) ครอบคลุมพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เน้นการสร้างอาชีพและรายได้ในท้องถิ่นผ่านวัฒนธรรมอาหารถิ่น สำหรับดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวเชิงอาหารและวัฒนธรรมทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งเป็นการพัฒนาบุคลากรในการทำธุรกิจร้านอาหาร และพัฒนาต่อยอดสู่ธุรกิจอื่น ๆ แบบมืออาชีพ รวมถึงพัฒนาขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจร้านอาหารให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมให้สามารถพึ่งพาตนเอง โดยได้รังสรรค์เมนูอาหารที่พร้อมผลักดันให้เกิดเป็นเมนูอาหารพลังสร้างสรรค์ หรือซอฟต์พาวเวอร์ จำนวน 42 เมนู อาทิ ยำชะครามกุ้งสด แกงรัญจวนปลากะพง จากจังหวัดสมุทรสงคราม ไก่ย่างเขาสวนกวาง แกงคั่วเห็ดเพาะ จากจังหวัดขอนแก่น ผัดหมี่โคราช จากจังหวัดนครราชสีมา และเมี่ยงบัวหลวง จากจังหวัดปทุมธานี ซึ่งโครงการดังกล่าวถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นให้เติบโตและเข้มแข็ง อีกทั้ง ยังเป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญของอาหารไทยในระดับสากล ตลอดจนเพิ่มมูลค่าการส่งออกอาหารไทยในตลาดโลกอันจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางอาหารระดับโลก (Global Food Hub)
ทั้งนี้ ดีพร้อม ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาร้านอาหารเชฟชุมชน อาหารถิ่นอาหารไทย จำนวน 540 ร้าน / 2,160 คน ภายในระยะเวลา 4 ปี โดยในปี 2567 ได้พัฒนาไปแล้ว จำนวน 40 ร้าน 160 คน ครอบคลุมพื้นที่ภาคกลางและ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และในปี 2568 มีเป้าหมายดำเนินการอน่างต่อเนื่อง จำนวน 100 ร้าน 400 คน ครอบคลุมทั่วประเทศ และคาดว่าจะเกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมูลค่าไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท นางสาวณัฏฐิญา กล่าว