ที่มาและประวัติ “วันครู” ที่ 16 มกราคม

วันครู ถูกจัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ. 2488 ที่ระบุว่าให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการ มีชื่อเรียกว่า คุรุสภา มีสถานะเป็นนิติบุคคลและให้ครูทุกคนเป็นสมาชิก โดยสภาแห่งนี้จะทำหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครูและในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นในเรื่องนโยบายการศึกษา ตลอดจนวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษาธิการ นอกจากนั้นยังมีหน้าที่ในการจัดสรรให้มีสวัสดิการแก่ครูและครอบครัวให้ได้รับความช่วยเหลือตามสมควร รวมถึงส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครูอีกด้วย เหตุนี้เอง ในทุกๆ ปีคุรุสภาจะมีจัดให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูจากทั่วประเทศพูดถึงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งเปิดให้ซักถามปัญหา ข้อข้องใจต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานคุรุสภา โดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเป็นผู้ตอบข้อสงสัยเหล่านั้น ซึ่งสถานที่สำหรับจัดการประชุมในสมัยนั้น จะใช้ หอประชุมสามัคคยาจารย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ในระยะต่อมาก็ได้มีการย้ายสถานที่ประชุมเป็นหอประชุมของคุรุสภา 

ปี พ.ศ. 2499 ภายในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ในขณะนั้น ได้กล่าวปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า “ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณเป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่า “วันครู” ควรมีสักวันหนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้ แสดงความเคารพสักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย เพราะเหตุว่าสำหรับคนทั่วไปถ้าถึงวันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง”

About Author