“สำนักงานชลประทานที่ 6” สั่งลุยลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำชีอย่างใกล้ชิด
“สำนักงานชลประทานที่ 6” สั่งลุยลงพื้นที่ ติดตามสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำชีอย่างใกล้ชิด
ภายหลังจากที่ “กรมอุตุนิยมวิทยา” แจ้งเตือนถึงสถานการณ์ฝนในช่วงวันที่ 13-17 ก.ย.2567 ร่องมรสุมจะเลื่อนพาดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้บริเวณลุ่มน้ำชีมีฝนตกเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนในพื้นที่ลุ่มน้ำชี คณะกรรมการลุ่มน้ำชี จึงมีมติเห็นชอบให้ปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ให้สอดคล้องปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน โดยจะทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันได ซึ่งไม่ส่งผลกระทบกับพื้นที่ลุ่มต่ำสองฝั่งลำน้ำพอง สอดคล้องกับการทำงานของกรมชลประทาน
ทั้งนี้ “กรมชลประทาน” ได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำในลำน้ำชีผ่าน เขื่อนชนบท เขื่อนมหาสารคาม เขื่อนวังยาง และเขื่อนร้อยเอ็ด แบบขั้นบันไดให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่ระบายจากเขื่อนอุบลรัตน์ และสถานการณ์ฝนตกในพื้นที่ ซึ่งอาจทำให้ระดับน้ำในลำน้ำชีด้านท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้น จึงขอประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำชี และในพื้นที่ลุ่มต่ำ เฝ้าระวังระดับน้ำจากฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสม อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากได้
“นายไพฑูรย์ ศรีมุข” ผู้อำนวยการการ สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (16 กันยายน 2567) เขื่อนชนบท มีความจุของปริมาณน้ำปัจจุบัน 13.27 ล้าน ลบ.ม. ระบาย 5.50 mcm. เขื่อนมหาสารคาม มีความจุของปริมาณน้ำปัจจุบัน 28.45 ล้าน ลบ.ม. ระบาย 47.70 mcm. เขื่อนวังยาง มีความจุของปริมาณน้ำปัจจุบัน 38.78 ล้าน ลบ.ม. ระบาย 44.15 mcm. และเขื่อนร้อยเอ็ด มีความจุของปริมาณน้ำปัจจุบัน 22.18 ล้าน ลบ.ม. ระบาย 50.83 mcm. ยังได้สั่งการให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลาง ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำชีอย่างใกล้ชิด ขอให้ประชาชนมนพื้นที่ ติดตามข่าวสารและการแจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำจากทางหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด หากต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ได้ตลอดเวลา