โรคเหงื่อออกมือและเท้า ภาวะที่เจอได้นับล้านคนในประเทศไทย       ​​​​​​                                                                          

รู้หรือไม่ว่า โรคภาวะเหงื่อออกที่มือและเท้าเป็นภาวะที่เจอได้บ่อย โดยมักจะเกิดได้ตั้งแต่เด็กหรืออาจส่งต่อทางพันธุกรรมได้  โดยตัวโรคนั้นมักพบอุบัติการณ์ตั้งแต่ 2-9 เปอร์เซ็นต์ของประชากรของโลก สำหรับประเทศไทยแล้วมีประชากร 67 ล้านคน แต่ในปี พ.ศ.2567 กลับพบผู้ป่วยโรคนี้มากกว่า 3 ล้านคนเลยทีเดียว


ผศ.นพ.ศิระ เลาหทัย ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านทรวงอก คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลกล่าวว่า  อาการของเหงื่อออกมือนั้น เป็นได้ตั้งแต่เหงื่อซึม ไม่สบายตัวจนกระทั่งไปถึงเหงื่อออกมากจนเปียก ซึ่งมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันและในเรื่องสุขอนามัยจนกระทั่งไปถึงการทำงาน  บางรายอาจมีผิวหนังติดเชื้อร่วมด้วย
อาการเหงื่อนั้น มักไม่สัมพันธ์กับอุณหภูมิอากาศ  การออกกำลังกาย มักเป็นทั้ง 2 ข้าง และ มักพบบริเวณมือ เท้า หรือรักแร้ร่วมด้วยในบางรายโดยหลักการวินิจฉัยของโรคนี้ จะใช้วิธีการซักประวัติ และ ตรวจร่างกายเป็นหลัก โดยนับเอาประวัติที่ผู้ป่วยเป็นอย่างน้อย 6 เดือนและเอาตามเกณฑ์อย่างน้อย 2 ข้อ

1) เป็นทั้ง 2 ข้างและพร้อมกัน
2) เป็นอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์
3) ส่งผลต่อกิจวัตรประจำวัน
4) อายุที่เริ่มเกิดน้อยกว่า 25 ปี

5) ประวัติครอบครัวเป็นเหมือนกัน
 6) เวลานอนเหงื่อไม่ออก

อย่างไรก็ตามโรคชนิดนี้ เราต้องแยกกับโรคที่มีสาเหตุ (secondary hyperhidrosis) ซึ่งได้แก่
  ​​        1) ต่อมไร้ท่อ เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ เบาหวาน คนท้อง ประจำเดือนใกล้หมด
 ​​       2) ระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน , reflex sympathetic dystrophy
 ​​       3) ยาซึมเศร้า เช่น fluoxetine, venlafaxine, doxepin เป็นต้น

 ​การรักษาโรคนี้  มีตั้งแต่การใช้ยาทา (antiperspirants) ยาส่วนมากที่ใช้คือ aluminum chloride 20-30 เปอร์เซ็นต์ มักใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการน้อย,  ยากิน (Anticholinergic drug) ยาที่ใช้จะทำหน้าที่ยับยั้งเหงื่อออก แต่ ยาที่กินอาจมีผลข้างเคียง เช่น ปากแห้ง ท้องผูก มีอาการคลื่นไส้อาเจียนได้,  ยาฉีดที่มือ (botulinum toxin)  ส่วนมากมักคุมอาการได้ประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้นอาจต่องมาทำซ้ำ, การผ่าตัด ( Thoracoscopic sympathectomy) การผ่าตัดเป็นการรักษาโรคชนิดนี้ ได้ผลที่สุด ทำโดยการตัดเส้นประสาทบริเวณซี่โครงที่ 4-5 โดยผ่าทางส่องกล้อง แผลขนาด 5 มิลิเมตร ทั้ง  2 ข้าง

การรักษาที่หายขาดจากโรคนี้ได้ คือ การผ่าตัดส่องกล้องทางเดียวเท่านั้น ใช้เวลาผ่าตัดเพียงแค่ 1 ชั่วโมง ซึ่งหลังผ่าตัด ผู้ป่วยพักฟื้นเพียง 1 วันก็กลับบ้านได้ โดยหลังการผ่าตัดอาการเหงื่อออกมือจะดีขึ้นทันที กลับมามั่นใจอีกครั้ง โดยปัจจุบันทางรพ.วชิรพยาบาลได้เปิดทำการรักษาโรคนี้มานานกว่า 5 ปีโดยศูนย์การผ่าตัดส่องกล้องระดับประเทศและนานาชาติ ซึ่งหวังว่าจะทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องกังวลกับโรคภาวะเหงื่อออกที่มือและเท้านี้อีกต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก ผศ.นพ.ศิระ เลาหทัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศัลยศาสตร์ทรวงอกเฉพาะทางด้านการผ่าตัดส่องกล้องในช่องทรวงอก    โรงพยาบาลวชิรพยาบาล

About Author