“สนง.ชลประทานที่ 3” นำทีม “สนง.ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ” ลงพื้นที่ บางระกำโมเดล รับมือน้ำเหนือหลาก
“สำนักงานชลประทานที่ 3” นำทีม “สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ” ลงพื้นที่ โครงการบางระกำโมเดล จ.พิษณุโลก รับมือน้ำเหนือหลาก
“ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล” เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และคณะ ประชุมติดตามผลการดำเนินการมาตรการฤดูฝน ปี 2567 ณ ห้องประชุม 1 สำนักงานชลประทานที่ 3 โดยมี นายบุญเหลือ บารมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นายวรพจน์ เพชรนรชาติ ผู้อำนวยการสำนักงาน ชลประทานที่ 3 นายทวีวัฒน์ สืบสุขมั่นสกุล ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 4 พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมและรายงานผลการดำเนินการในพื้นที่
ในการบริหารจัดการน้ำ ได้มีการวางแผนบริหารล่วงหน้าก่อนน้ำหลากมาถึงจำนวนมาก และเตรียมการพื้นที่บางระกำโมเดล สำหรับรองรับมวลน้ำ ทางด้าน “นายวรพจน์ เพชรนรชาติ” ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 พร้อมด้วย “ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล” เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และคณะ ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ลุ่มน้ำยม-น่านตอนล่าง โครงการบางระกำโมเดล ปี 2567 อ.บางระกำ และประตูระบายน้ำบางแก้ว อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก
จากการลงพื้นที่ทำให้ได้ทราบข้อมูลสถานการณ์น้ำลำน้ำยม และการเตรียมการผันน้ำลงทุ่งบางระกำโมเดล ปัจจุบัน (23 สิงหาคม 67) แม่น้ำยมสายหลัก และแม่น้ำยมสายเก่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากสถานการณ์ฝนตกชุกพื้นที่ต้นน้ำแม่น้ำยม จ.แพร่ และ จ.สุโขทัย คาดการณ์ปริมาณน้ำสูงสุดที่จะไหลเข้าสู่แม่น้ำยมในเขตจังหวัดพิษณุโลก (ในช่วงระหว่างวันที่ 23-25 สิงหาคม 2567) ในส่วนการเตรียมการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ได้เพิ่มการระบายน้ำสูงสุดของ ประตูระบายน้ำแม่น้ำยมสายหลัก อ.บางระกำ (ปตร.วังสะตือ, ปตร.ท่านางงาม และปตร.ท่าแห) เพิ่มการระบายน้ำแม่น้ำยมลงสู่แม่น้ำน่าน ผ่านทางคลองระบาย DR-2.8 รวมทั้งดำเนินการพร่องน้ำในแม่น้ำยมสายเก่า อ.พรหมพิราม และ อ.บางระกำ เพื่อรองรับปริมาณน้ำจากพื้นที่แม่น้ำยมตอนบน
“นายวรพจน์ เพชรนรชาติ” ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 ยังได้สั่งการเจ้าหน้าที่เข้าไปทำคันดินกั้นน้ำขนาดเล็ก วางกระสอบทรายในพื้นที่เสี่ยงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน ทำคันกั้นน้ำในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพลายชุมพล ความยาวประมาณ 10 กิโลเมตร นอกจากนี้สถานีสูบน้ำ 10 แห่ง ก็พร้อมใช้งานทั้งหมด โดยได้ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ แจ้งเตือนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เพื่อแจ้งให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ และจะใช้พื้นที่ลุ่มต่ำโครงการบางระกำโมเดล 265,000 ไร่ รองรับน้ำหลากหากเกิดกรณีวิกฤติ พื้นที่ดังกล่าวเกษตรกรได้ดำเนินการเก็บเกี่ยวผลผลิตเรียบร้อยแล้ว สามารถรองรับน้ำหลากได้สูงสุด 400 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมทั้งให้โครงการส่งน้ำบำรุงรักษายมน่าน พร่องน้ำในลำน้ำสายต่าง ๆ ในพื้นที่ลุ่มต่ำ
ปัจจุบัน (ณ. วันที่ 26 สิงหาคม 2567) มีน้ำในระบบประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ ทำให้มีพื้นที่ว่างรองรับน้ำได้อีกประมาณ 380 ล้านลูกบาศก์เมตร