ประวัติและความสำคัญ “วันแม่แห่งชาติ”
วันแม่แห่งชาติ ตรงกับวันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปี ถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของคนไทย วันที่ลูก ๆ จะได้ระลึกถึงพระคุณของ “แม่” และยังเป็นวันหยุดราชการอีกด้วย
ประวัติความเป็นมา “วันแม่แห่งชาติ”
วันที่ 12 สิงหาคม เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยประเทศไทยกำหนดให้วันที่ 12 สิงหาคม 2519 เป็น “วันแม่แห่งชาติ” เป็นปีแรก โดยก่อนหน้านั้นเคยมีการใช้วันที่ 10 มีนาคม, 15 เมษายน และ 4 ตุลาคม
งาน วันแม่แห่งชาติ ถูกจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2486 ที่ สวนอัมพร โดยกระทรวงสาธารณสุข แต่ในช่วงนั้นเกิด สงครามโลกครั้งที่ 2 งานวันแม่ในปีต่อ ๆ มาจึงต้องงดไป แต่เมื่อสงครามสงบลง หลายหน่วยงานได้พยายามจัดให้มีวันแม่ขึ้นมาอีกครั้ง และมีการเปลี่ยนกำหนดวันแม่ไปหลายครั้ง
ต่อมากำหนดให้วันที่ 15 เม.ย.ของทุก ๆ ปี เป็นวันแม่แห่งชาติ ตามมติของคณะรัฐมนตรี โดยเริ่มจัดตั้งแต่ พ.ศ.2493 แต่ก็ต้องหยุดลงอีกในหลายปีต่อมา เนื่องจากกระทรวงวัฒนธรรมถูกยุบไป ส่งผลให้สภาวัฒนธรรมแห่งชาติซึ่งรับหน้าที่จัดงานวันแม่ขาดผู้สนับสนุน
ต่อมาสมาคมครูคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้จัดงานวันแม่ขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2515 แต่จัดได้เพียงปีเดียวเท่านั้น
จนกระทั่งในปี พ.ศ.2519 คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้กำหนดวันแม่ขึ้นใหม่ให้เป็นวันที่แน่นอน โดยถือเอาวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็น วันแม่แห่งชาติ
ดอกไม้สัญลักษณ์ประจำวันแม่ คือ ดอกมะลิ ด้วยกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ และเป็นดอกไม้ที่มีสีขาว เปรียบได้กับความรักบริสุทธิ์ที่แม่มีต่อลูก ทำให้ มะลิ ถูกใช้เป็นดอกไม้สัญลักษณะประจำวันแม่