SX TALK SERIES ครั้งที่ 3 เผยเคล็ดลับการปรับสมดุลชีวิตเพิ่มพลังบวกให้กับสุขภาพจิต

Work-Life Balance หรือ การหาความสมดุลให้ตัวเอง เป็นเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะการใช้ชีวิตของคนในปัจจุบันทำให้เกิดความเครียดสะสมและส่งผลเสียต่าง ๆ ต่อสุขภาพร่างกาย และสุขภาพจิตใจ ดังนั้นจะเห็นวิธีปรับสมดุลชีวิต และการดูแลสุขภาพจิตในรูปแบบต่างๆ ออกมาให้เห็นเพื่อเป็นแนวทางในการนำไปปฏิบัติมากมาย SX TALK SERIES ครั้งที่ 3 เห็นความสำคัญจึงจัดเสวนาหัวข้อ “บาลานซ์อยู่ไหน? ปรับกายฮีลใจให้สมดุล” จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านฮีลใจ ที่จะมากระตุ้นพลังใจ เรียนรู้วิธีปรับสมดุลชีวิตให้ลงตัวที่นำไปใช้ได้จริง ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณดุจดาว วัฒนปกรณ์ ผู้ก่อตั้ง Empathy Sauce และนักจิตบำบัดด้วยศิลปะการเคลื่อนไหว ผู้ที่ให้ศิลปะบำบัดและเยียวยาจิตใจ และ คุณอรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร บริษัท มายด์เซ็ทเมคเกอร์ จำกัด ณ C asean SAMYAN CO-OP ชั้น 2 สามย่านมิตรทาวน์   

                     

เปลี่ยน Mental Health Ecosystem สร้างสุขภาพจิตที่ดีและยั่งยืน

ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอุปนายกสมาคมจิตวิทยาการปรึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสุขภาพจิตในประเทศไทยและการดูแลสุขภาพจิตในชีวิตประจำวันว่า “ความสุขหรือความทุกข์ในชีวิตเรา ไม่ได้เกิดจากตัวเราเพียงคนเดียว แต่ยังมีสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อชีวิต เช่น ครอบครัว โรงเรียน สิ่งแวดล้อม ประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยที่เราไม่สามารถจัดการได้ แต่ส่งผลให้ชีวิตของเราขาดบาลานซ์ การจะทำให้คนกลับมามีบาลานซ์ในชีวิตอีกครั้ง จึงต้องทำอะไรที่มากกว่าการเปลี่ยนที่ตัวคนเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องปลี่ยน Mental Health Ecosystem ทั้งระบบเพื่อเอื้อให้เกิดความยั่งยืนต่อสุขภาพจิตของคนในสังคม เช่น การมีพื้นที่สีเขียวสำหรับพักผ่อน สังคมออนไลน์ที่ปลอดภัย หรือการสร้างสังคมที่ทำให้คนกล้าเปิดเผยตัวตน ส่วนตัวเราก็สามารถสร้างบาลานซ์ได้ด้วยการมี Compassion หรือความเมตตากรุณาให้คนรอบตัว เพื่อเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กันและกัน รวมถึงการอ่อนโยนกับตัวเอง มีสติรับรู้ว่าตัวเรากำลังรู้สึกอย่างไร และรักตัวเองให้เหมือนกับที่เรามีความรักให้คนรอบตัว”

สร้างเกราะให้ใจด้วยจิตวิทยาเชิงบวก

คุณอรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร บริษัท มายด์เซ็ทเมคเกอร์ จำกัด ที่ให้ความสำคัญเรื่องการเข้าใจตนเอง คือก้าวแรกสู่การเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดี “จิตวิทยาเชิงบวก คือ การสร้างความงอกงามให้จิตใจ ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับความเครียด ความรู้สึกติดลบในใจ เราก็สามารถสร้างภาวะเชิงบวกเพื่อสุขภาพจิตที่ดีได้ด้วยตัวเอง โดยมีหลักการสำคัญชื่อว่า PERMA ได้แก่P คือ Positive Emotionอารมณ์เชิงบวก เช่น สนุก ตื่นเต้น ภูมิใจ บันเทิงใจ มีความหวัง เพื่อให้เราสามารถรับมือเมื่อต้องเจอกับเรื่องราวเชิงลบได้  E คือ Engagementการรู้สึกมีส่วนร่วมกับกิจกรรมในชีวิตที่ทำให้เรียนรู้และเติบโต R คือ Positive Relationshipการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น จะเป็นเกราะทางใจและเป็นตัวแปรให้เราอยากทำสิ่งที่ดีให้ตัวเอง M คือ Meaning การตระหนักถึงคุณค่าและความหมายในตัวเอง และ A คือ Accomplishmentรู้สึกถึงการเติบโตของตัวเองในแต่ละขั้นของชีวิต หากได้ฝึกคิดและพัฒนาสุขภาวะทางจิตของตัวเองอยู่เสมอ และขยายไปสู่คนรอบข้าง จะทำให้เรามีกำลังพร้อมรับมือกับความท้าทายในทุกวัน”

ฮีลใจด้วยศิลปะในโลกแห่งความยั่งยืน” 

คุณดุจดาว วัฒนปกรณ์ ผู้ก่อตั้ง Empathy Sauce และนักจิตบำบัดด้วยศิลปะการเคลื่อนไหว ผู้ที่นำเสนอ ‘ศิลปะ’ คือกระจกสะท้อนใจ ช่วยให้เรามองเห็นและเยียวยาตนเอง “การเยียวยาจิตใจตัวเองเป็นสิ่งที่เราควรทำเป็นประจำ ไม่รอให้ใจตัวเองร่วงแล้วค่อยซ่อมแซม แต่ควรทำตั้งแต่เรายังไม่ได้เป็นอะไร เพื่อป้องกันไม่ให้ใจหล่นไปไกล อย่างเช่นการเยียวยาจิตใจตัวเองด้วยศิลปะ ที่ ‘Soulsmith by Empathy Sauce’ เรามีคลาสซ่อมใจสำหรับคนที่มองหาบาลานซ์ในชีวิต ผ่านศิลปะใน 4 แขนง คือ 1. Visual Arts การวาดเขียน การปั้น 2. Music ดนตรีสื่ออารมณ์ 3. Drama การแสดงเพื่อรู้เท่าทันอารมณ์ตัวเองและผู้อื่น และ 4. Drama Movement ศิลปะการเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อเยียวยาจิตใจ ไม่จำเป็นต้องวาดรูปเก่ง หรือมีทักษะใดเลย ศิลปะก็มีพลังที่สามารถช่วยเยียวยาจิตใจเราได้ นอกจากนี้อยากให้ทุกคนเติมศิลปะเรื่องการมี Empathy เข้าไปในวิถีชีวิต ไม่มองโลกใบนี้แค่ในมุมของตัวเอง แต่มองเห็นความละเอียดอ่อนของตัวเองและผู้อื่น การซัพพอร์ตและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน สามารถช่วยป้องกันและเยียวยาจิตใจที่ทุกคนสามารถทำได้ด้วยตัวเอง”

สำหรับ SX TALK SERIES เป็นเวทีเสวนาที่มากกว่าการแลกเปลี่ยนความรู้ และ SX TALK SERIES  ครั้งที่ 4 จะจัดขึ้นในวันที่ 29 มิถุนายน 2567 ที่ C asean SAMYAN CO-OP ชั้น 2 สามย่านมิตรทาวน์ ส่วนจะเป็นหัวข้อใด ติดตามข่าวสารและกิจกรรมดี ๆ ได้ที่ www.sustainabilityexpo.com, Facebook : Sustainability Expo และแอปพลิเคชัน SX

About Author