เปิดประวัติ-ความสำคัญ “วันวิสาขบูชา 2567”

วันวิสาขบูชา เป็นวันที่สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ซึ่งเกิดขึ้นในวันและเดือนเดียวกัน คือ ในวันเพ็ญ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือเดือนเวสาขะ พระจันทร์เสวยวิสาขฤกษ์ 

ชาวพุทธจึงถือว่าเป็นวันที่รวมการเกิดเหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์ยิ่ง และเรียกการบูชาในวันนี้ว่า วิสาขบูชา ย่อมาจาก วิสาขปุรณมีบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะนั่นเอง

และเป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นในพระพุทธศาสนา 3 เหตุการณ์ด้วยกัน คือเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ คือเกิด ได้ตรัสรู้ คือสำเร็จ ได้ปรินิพพาน คือ ดับ เกิดขึ้นตรงกันทั้ง 3 เหตุการณ์ โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. ประสูติ เป็นวันประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ณ ลุมพินีสถาน เมื่อวันเพ็ญเดือน 6 ตรงกับวันศุกร์ขึ้น 15 ค่ำ ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี เมื่อพระนางสิริมหามายา พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงพระครรภ์แก่จวนจะประสูติ พระนางได้รับพระบรมราชานุญาต จากพระสวามี ให้แปรพระราชฐานไปประทับ ณ กรุงเทวทหะ ซึ่งเป็นพระนครเดิมของพระนาง เพื่อประสูติในตระกูลของพระนางตามประเพณีนิยมในสมัยนั้น ขณะเสด็จแวะพักผ่อนพระอิริยาบถใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินีวัน พระนางก็ได้ประสูติพระโอรส ณ ใต้ต้นสาละนั้น ครั้นพระกุมารประสูติได้ 5 วัน ก็ได้รับการถวายพระนามว่า “สิทธัตถะ” ซึ่งต่อมาพระองค์ได้ออกบวช จนบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ (ญาณอันประเสริฐสูงสุด) สำเร็จเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า จึงถือว่าวันนี้เป็นวันประสูติของพระพุทธเจ้า
  2. ตรัสรู้ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ อนุตตรสัมโพธิญาณ ณ ร่มพระศรีมหาโพธิบัลลังก์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เมื่อวันเพ็ญเดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 45 ปี การตรัสอริยสัจสี่ คือของจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ของพระพุทธเจ้า เป็นการตรัสรู้อันยอดเยี่ยม ไม่มีผู้เสมอเหมือน วันตรัสของพระพุทธเจ้า จึงจัดเป็นวันสำคัญ เพราะเป็นวันที่ให้เกิดมีพระพุทธเจ้าขึ้นในโลกชาวพุทธทั่วไป จึงเรียกวันวิสาขบูชาว่า วันพระพุทธ(เจ้า) อันมีประวัติว่า พระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญเพียรต่อไป ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้น ทรงเริ่มบำเพ็ญสมาธิให้เกิดในพระทัย เรียกว่าการเข้า “ฌาน” เพื่อให้บรรลุ “ญาณ” จนเวลาผ่านไปจนถึง …

* ยามต้น : ทรงบรรลุ “ปุพเพนิวาสานุติญาณ” คือทรงระลึกชาติในอดีตทั้งของตนเองและผู้อื่น
* ยามสอง : ทรงบรรลุ “จุตูปปาตญาณ” คือการรู้แจ้งการเกิดและดับของสรรพสัตว์ทั้งหลาย
* ยามสาม : ทรงบรรลุ “อาสวักขญาณ” คือรู้วิธีกำจัดกิเลสด้วย อริยสัจสี่ ( ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ) ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในคืนวันเพ็ญเดือน ๖ ซึ่งขณะนั้น พระพุทธองค์มีพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา

ธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ (อริยสัจ 4) หรือ ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ได้แก่

1. ทุกข์ คือ ความลำบาก ความไม่สบายกายไม่สบายใจ
2. สมุทัย คือ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
3. นิโรธ คือ ความดับทุกข์ และ
4. มรรค คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งทุกข์

ทั้ง 4 ข้อนี้ถือเป็นสัจธรรม เรียกว่า อริยสัจ เพราะเป็นสิ่งที่พระอริยเจ้าทรงค้นพบ เป็นสัจธรรมชั้นสูง ประเสริฐกว่าสัจธรรมสามัญทั่วไป

  • 3. ปรินิพพาน เป็นวันปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ร่มไม้รัง (ต้นสาละ) คู่ ในสาลวโนทยานของมัลลกษัตริย์ ใกล้เมืองกุสินารา เมื่อวันเพ็ญเดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 1 ปี วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน (ดับสังขารไม่กลับมาเกิดสร้างชาติ สร้างภพอีกต่อไป)

ประวัติความเป็นมาของวันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา นี้ ปรากฏตามหลักฐานว่า ได้มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งสันนิษฐานว่า คงจะได้แบบอย่าง มาจากลังกา กล่าวคือ เมื่อประมาณ พ.ศ. 420 พระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาอย่าง มโหฬาร เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา กษัตริย์ลังกาในรัชกาลต่อ ๆ มา ก็ทรงดำเนินรอยตาม แม้ปัจจุบันก็ยังถือปฏิบัติอยู่ สมัยสุโขทัยนั้น ประเทศไทยกับประเทศลังกามีความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนาใกล้ชิดกันมากเพราะ พระสงฆ์ชาวลังกา ได้เดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา และเชื่อว่าได้นำการประกอบพิธีวิสาขบูชามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย

ความสำคัญของวันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพระพุทธศาสนาและพุทธศาสนิกชนทั่วโลก เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และ เสด็จดับขันธปรินิพพาน 

พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จดับขันธปรินิพพานเวียนมาบรรจบในวันและเดือนเดียวกัน คือ วันเพ็ญเดือนวิสาขะ จึงถือว่าเป็นวันที่สำคัญของพระพุทธเจ้า หลักธรรมอันเกี่ยวเนื่องจากการประสูติ ตรัสรู้และเสด็จดับขันธปรินิพพาน คือ ความกตัญญู อริยสัจ 4 และความไม่ประมาท ประวัติความเป็นมา

ส่วนที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนา เนื่องจากมีเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๓ อย่าง เกิดขึ้นในวันเดียวกันคือ ประสูติ ตรัสรู้ธรรม และปรินิพพาน วันวิสาขบูชาตรงกับวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖

กิจกรรมวันวิสาขบูชา

ปัจจุบันหลายประเทศกำหนดให้เป็นวันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญทางศาสนา รวมทั้งเป็นวันหยุดราชการ เช่น ไทย อินเดีย ศรีลังกา สิงคโปร์ พม่า (เมียนมา) บังกลาเทศ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เป็นต้น

กิจกรรมวันวิสาขบูชาที่ชาวพุทธนิยมปฏิบัติเพื่อรำลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ที่มีต่อชีวิตของเราและสังคมโดยรวม ตัวอย่างกิจกรรมที่นิยมปฏิบัติในวันวิสาขบูชา ได้แก่

  • ทำบุญตักบาตร
  • ฟังเทศน์ฟังธรรม
  • รักษาศีล
  • เข้าวัดเวียนเทียนรอบอุโบสถ โดยเวียนขวาสามรอบ รอบแรกจะสวดบทสรรเสริญพระพุทธคุณ รอบที่ 2 จะสวดบทสรรเสริญพระธรรมคุณ และรอบที่ 3 สวดบทสรรเสริญพระสังฆคุณ เมื่อเวียนเทียนครบสามรอบแล้ว ให้นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปบูชาพระธาตุเจดีย์ หรือพระพุทธรูปในพระอุโบสถ ณ ที่บูชา

About Author