ถอดบทเรียน “หมอกระต่าย” ทางม้าลาย ต้องอีกกี่ราย? พยานเล่านาทีชน
ถอดบทเรียน “หมอกระต่าย” ทางม้าลาย ต้องอีกกี่ราย? พยานเล่านาทีชน เผยสถิติชวนอึ้ง 1 ปีพบผู้เสียชีวิต 500 คนเพราะเดินข้ามทางม้าลาย
กรณี “หมอกระต่าย” หรือ “พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล” แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจักษุวิทยา ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถูก “ส.ต.ต. นรวิชญ์ บัวดก” ผบ.หมู่ กองร้อยที่ 2 กองกำกับการ 1 กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน ขับรถบิ๊กไบค์ชนขณะเดินข้ามทางม้าลายจนเสียชีวิต ซึ่งกลายเป็นประเด็นเดือดในสังคม
รายการโหนกระแสวันที่ 24 ม.ค. 65 ดำเนินรายการโดย “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 สัมภาษณ์ พ.ต.อ.สุกิจ อรุณฤกษ์ถวิล รอง ผบก.จร., นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพี่อความปลอดภัยทางถนน มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย รวมทั้ง ตี๋ สมชาย (นามสมมติ) พยานที่อยู่ในที่เกิดเหตุ
ตี๋ยืนยันว่าคือคนที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้นที่หมอกระต่ายถูกรถชน?
ตี๋ : ใช่ครับ
คุณคือแกร็ปอยู่ซ้ายสุดในคลิป ตอนคุณขี่มา คุณเห็นคุณหมอเดินมามั้ย?
ตี๋ : เห็นครับ ก็ชะลอ เพราะเป็นทางม้าลาย ทุกครั้งที่เห็นทางม้าลายจะชะลอ เพราะไม่รู้จะเกิดเหตุตอนไหนถ้าคนข้ามมา
หลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้น?
ตี๋ : ได้ยินเสียงดังสนั่นด้านขวามือ รถชนคุณหมอครับ ผมก็เหลือบไปเห็นคุณหมอลอยกระแทกลงพื้น และไถลมาทางผม ตอนนั้นเลือดคุณหมอไหลออกมาทางศีรษะเยอะมาก แขนคุณหมอขยับอยู่ เหมือนขยับพลิกอะไรบางอย่าง มีเสียงฮัมที่คอเบาๆ ผมก็วิ่งไปดูคู่กรณีว่าเป็นยังไงบ้าง เห็นเขานอนคว่ำหน้า แต่ขากระดิกอยู่ ก็คิดว่าไม่เป็นไร ก็วิ่งมาดูคุณหมอ ทีนี้วินมอเตอร์ไซคกับอีกคนบอกให้ผมไปตามเก๋ง เขาบอกเก๋งชน ผมก็บอกว่าใช่เหรอ ทีนี้เก๋งไปจอดไฟแดงข้างหน้า ผมก็ตามไป แต่เก๋งบอกว่าเขาไม่ได้ชน ผมก็บอกว่าถ้าพี่ไม่ได้ชน พี่ช่วยวนกลับไปดูหน่อย เผื่อมีกล้องมีอะไร ถ้าไม่ผิดก็คือไม่ผิด
คนคิดว่ารถอีกคันชนด้วยซ้ำ เพราะเหตุการณ์เร็วมาก แต่ปลายตาคุณเชื่อว่ายังไงก็มอเตอร์ไซค์ชน?
ตี๋ : ใช่ครับ ผมเห็นชนตึ้ง มอเตอร์ไซค์กลิ้ง หมอลอยกระเด้งมาฟาดกับพื้น
ตอนที่คุณขี่ไป มอเตอร์ไซค์มาตามหลังคุณ คุณได้ยินมั้ยเขาบิดขนาดไหน?
ตี๋ : โหย บิดดังมากครับ สนั่นเลย
เขาพูดกันว่าตร.นายนี้บิดมาประมาณ 80 กิโลเมตรต่อชม. เป็นไปได้มั้ย?
ตี๋ : ผมไม่ทราบ แต่เสียงมันดังเข้ามาในหมวกผมเลย
เห็นว่าเหตุการณ์วันนั้นคุณตกใจมาก?
ตี๋ : กลัวเลือดครับ ไม่ชอบเลือด ผมเห็นคุณหมอร้อง ฮัมในลำคอ ไม่รู้จะทำยังไง พี่เขาก็บอกให้ไปตามรถเก๋งคันที่ชน เราก็ไม่อยากดูเพราะกลัวเลือดอยู่แล้วด้วย
รถมอเตอร์ไซค์ที่เขาปาดออกไป คุณว่ามากกว่า 80 กิโลเมตรต่อชม.มั้ย?
ตี๋ : ผมไม่ฟันธง แต่เขาขับมาเสียงดังมากจริงๆ ดังเข้ามาในหมวกกันน็อกที่ผมครอบอยู่ครึ่งหู
ประมาณการได้มั้ย?
พ.ต.อ.สุกิจ : เรื่องประมาณความเร็วอยากให้ผู้เชี่ยวชาญทางนี้มากกว่า เราสามารถดูได้จากหลายทาง เช่นกรณีกล้องจุดแรกถึงจุดที่เกิดเหตุใช้เวลาเท่าไหร่ ผู้เชี่ยวชาญเขาพอที่จะคำนวณได้ ความเร็วอีกส่วนจะปรากฏร่องรอยในที่เกิดเหตุ เช่นรถชน ลื่นไถลมีรอยกระเด็นไปไกลเท่าไหร่เป็นหลักการ ผู้เชี่ยวชาญเขาจะคำนวณได้
อาจารย์สัมภาษณ์ว่าน่าจะมีการแจ้งข้อหาหนักกว่านี้?
นพ.ธนะพงศ์ : เรื่องความเร็วเห็นด้วยกับท่านรองผู้การว่าควรหาหลักฐานแวดล้อม เช่นดูคลิปหลายๆ คลิป เทียบเคียงกับความเร็วกับระยะทาง บังเอิญเขาไม่มีรอยเบรก ถ้ามีรอยเบรกมันคำนวณความเร็วได้ ถ้ามีการชนเช่นชนรถยนต์ ก็คำนวณจากแรงปะทะ การยุบตัวของรถ แต่อันนี้ต้องไปดูคลิปการใช้ความเร็ว แต่ก็แอบคิดในใจ ตัวเลข 80 คือตัวเลขกฎหมาย ความเร็วกฎหมายไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชม. เพื่อเซฟ
ลักษณะการขับขี่ ตบออกขวาแล้วใช้ความเร็วตะบึงไปเลย ผิดกฎหมายมั้ย?
นพ.ธนะพงศ์ : อย่างที่เรียน อาจต้องเอาข้อมูลมาประกอบในสำนวน อาจต้องไล่กล้องตั้งแต่เขาออกจากบช.น. พูดง่ายๆว่าพฤติการณ์การขับขี่มาแนบในสำนวนฟ้อง ตรงนี้จะเป็นหลักฐานสำคัญ เฉพาะที่เราเห็น พอเลี้ยวแล้วตัดเข้าขวาแล้วขับด้วยความเร็ว พอไม่ชะลอ เมื่อถึงทางม้าลาย หรือเบี่ยงออกขวา ทั้งที่มีทางม้าลาย ก็เป็นลักษณะที่ไม่อยากใช้แค่คำว่าประมาท เป็นการขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย
ท่านรองมองเหมือนกันมั้ย?
พ.ต.อ.สุกิจ : อย่างที่คุณหมอแจ้ง ถ้าเราจะดำเนินคดีในเรื่องขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย เราต้องดูถึงพฤติการณ์ขับขี่ของผู้ขับขี่ด้วย แต่ที่แน่ ๆ ที่เราเห็นในภาพ การที่เขาออกโค้งแล้วตีขวาทันที มันค่อนข้างผิดกฎหมายอยู่แล้ว พนักงานสอบสวนมีการแจ้งข้อหาแล้ว ปกติรถจักรยานยนต์ต้องขับรถโดยไม่ชิดขอบด้านซ้าย อันนี้ภาพก็ฟ้องยู่แล้ว
โดนไป 7 ข้อหา ขับประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย , ขับไม่ชิดขอบทางด้านซ้าย, ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย, เอารถไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนมาใช้, รถที่มีส่วนควบไม่ครบ ไม่มีกระจกนำมามาใช้, นำรถไม่เสียภาษีมาใช้ , นำรถไม่มีพ.ร.บ.มาใช้ 7 ข้อหานี้ เขาเป็นตร.แน่ ๆ เหรอ?
พ.ต.อ.สุกิจ : ก็เป็นแน่ครับ อย่างที่หลักฐานปรากฎเราก็ต้องดำเนินคดีทุกข้อกล่าวหา แม้เขาเป็นตร.หรือประชาชนเมื่อเกิดเหตุขึ้นมา โดยนโยบายท่านผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กรณีอย่างเช่นรถไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ท่านเป็นมาตรการสำคัญเลย คุณหนุ่มคงทราบช่วงก่อความวุ่นวายที่แยกดินแดง ตำรวจก็จับอยู่ตลอด แม้แต่ตร.เองถูกดำเนินคดีก็มี ตรงนี้ขออนุญาตเรียนให้ทราบว่าไม่ว่าตร.ถ้าทำผิดเราก็ดำเนินคดี
นพ.ธนะพงศ์ : ใน 7 ข้อหา ลักษณะนี้เป็นความผิดกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบท พอขึ้นศาล ศาลก็จะพิจารณาในความผิดบทที่หนักที่สุดคือข้อแรก แต่จะว่าไปแล้ว ข้อ 2-7 ส่วนใหญ่เป็นโทษปรับ โทษหนักจริง ๆ ข้อเดียว แต่เผอิญเราอยากเห็นว่าต่อไปเกิดเหตุทางม้าลาย ต้องไม่ใช่เหตุปกติ ต้องไม่ใช่แค่ประมาท ถ้าเรื่องนี้ปรากฏเด่นชัดหรือเป็นตัวอย่างให้สังคมรับรู้ว่าคนบนทางม้าลายซีเรียสนะ ทางตร.เอาจริงนะ ผมคิดว่าอันนี้จะเป็นการส่งสัญญาณที่แรงให้สังคมรับรู้
กฎหมายทางม้าลายเขามีข้อจำเพาะอะไรบ้าง?
พ.ต.อ. สุกิจ : ตามพ.ร.บ.จราจรทางบก ระบุไว้ครบถ้วนหมดเลย ว่าหนึ่งผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติตามเครื่องหมายที่ปรากฎบนพื้นทาง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องหมายไฟแดง สัญญาณให้เลี้ยว สัญญาณระมัดระวังอะไรก็แล้วแต่ ซึ่งรวมทางม้าลายด้วย สองทางม้าลายกฎหมายระบุไว้เลยว่าผู้ขับขี่ต้องขับอย่างระมัดระวัง และให้สิทธิ์ผู้ข้ามทางไปก่อน ตรงนี้ชัดเจน ตัวบทกฎหมายระบุไว้ชัดเจน สำคัญอยู่ที่ผู้ขับขี่ปฏิบัติตามกฎจราจรหรือไม่
บางคนบอกตร.เองไม่จริงจัง มองยังไง?
พ.ต.อ. สุกิจ : ตอนนี้จับวันนึงจำนวนมากมาย ทุกความเร็ว ไม่ว่าไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน จักรยานยนต์ไม่ชิดขอบทางด้านซ้าย จับอยู่ตลอด จำเพาะเรื่องทางม้าลายไม่ค่อยเห็น
ถ้ามีทางม้าลาย มีคนข้าม แล้วรถมาปาดออกเลย?
พ.ต.อ.สุกิจ : ถ้ามีหลักฐานก็ต้องดำเนินคดีครับ ถ้ามีความผิด ถ้ามีคนจะข้ามแต่รถไม่ให้ข้ามถือว่าเป็นความผิด อัตราโทษปรับไม่เกิน 1 พันบาท
จะมีหน่วยงานไหนไปยืนจับก็ลำบาก?
พ.ต.อ.สุกิจ : เรียนตามข้อเท็จจริงว่าการบังคับใช้กฎหมาย ณ ขณะนี้ มีอุปสรรคบางประการ เนื่องจากเมื่อไม่กี่ปีมานี้ เวลาตร.ออกใบสั่ง ไม่มีการยึดใบขับขี่แล้ว ก็มีประชาชนจำนวนมากเก็บไว้อย่างที่เป็นข่าว บางคนโดน 10-20 ใบไม่ไปเสียค่าปรับ มันเป็นปัญหาแรก พอประชาชนไม่เคารพกฎหมาย พูดง่ายๆ ทำผิดก็ผิดไป ไม่ยอมเสียค่าปรับซะอย่าง การบังคับใช้กฎหมายก็อ่อนแอลงไป
เหมือนทางฝั่งประชาชนเองไม่เคารพกฎหมาย ท่านมองอย่างนี้มั้ย?
นพ.ธนะพงศ์ : คิดว่าเราต้องยกระดับเรื่องนี้ ถ้าจะส่งสัญญาณจริงจัง เราสามารถใช้การนำเทคโนโลยี คนในสังคมเริ่มเรียนรู้ ถ้าเขาทำพฤติกรรมนี้แล้วไม่รอด อาจมีกล้องหน้ารถ CCTV ผมว่าอย่างแรกต้องให้เขารับรู้เรื่องนี้ สองพอเขาถูกดำเนินคดี ต้องให้เขารู้สึกว่ามันไม่คุ้ม เช่น ทั้งค่าปรับ และส่งข้อมูลชุดนี้ให้สังคมรับรู้ว่าเขาได้ทำความผิดเรื่องนี้ หรือส่งให้ต้นสังกัดได้รับรู้ ถ้าเราทำอย่างนี้สม่ำเสมอ พฤติกรรมลักษณะนี้ก็จะเริ่มถูกพูดถึง พูดง่ายๆ คือตร.ก็มีคนมาช่วยจัดการเรื่องนี้ หลายๆ ประเทศ เขาอาจมีต้นทุนที่ดี มีวิถีสังคมที่ให้ความสำคัญกับทางม้าลาย ปลูกฝังกันมาตั้งแต่เด็ก แต่ของเราไม่มีต้นทุนแบบนั้น ของเราในการทำเรื่องนี้ ต้องมาเน้นเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย
ปีนึงคนใช้ถนนแล้วเดินข้ามทางม้าลาย ตายกี่คน?
นพ.ธนะพงศ์ : ปีนึงตัวเลข 6 เปอร์เซ็นต์ของคนเดินถนน เฉลี่ยต่อปีก็ประมาณ 2 หมื่น 6 เปอร์เซ็นต์ก็ประมาณ 1,200 ในจำนวนนี้ 1 ใน 3 ก็ตกประมาณ 400-500 คิดง่ายๆ คือ 500 ก็ได้ อาจวันละคนสองคน
เฉลี่ยปีนึงคนข้ามทางม้าลายแล้วตาย ปีนึง 500 คนประมาณนั้น ผมว่ามันมากกว่าวันละคนนะ เกือบ 2 คนต่อวัน?
นพ.ธนะพงศ์ : ก็คือทั้งประเทศ แล้วอีกอย่างเรื่องนี้จะว่าไปต้องขยับเป็นวาระให้มีการจัดการ แต่พอพูดถึงวาระ ก็อดคิดไม่ได้ว่าบ้านเรามีเรื่องแบบนี้ซ้ำๆ ถ้าจำได้ปี 62 มีเคสน้องลิ้นจี่ที่มาทำงานวันแรกแล้วถูกรถชนตาย บิ๊กไบค์ชนที่แยกผังเมือง ทำงานวันแรก หลังจากนั้นก็มีรองนายกฯ มาบอกว่าเรื่องนี้ต้องมีการจัดการอย่างจริงจัง สังคมเราก็แต่อย่างนี้ เน้นแต่เรื่องสั่งการ จะทำยังไงให้มีการลงมือทำและการติดตาม
อยู่ในสายกับ พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตอนนี้สังคมกำลังถามเรื่องศพคุณหมอ หลังเกิดเหตุหายไป 2 ชม. มันเกิดอะไรขึ้น?
พล.ต.ต.ยิ่งยศ : ก่อนอื่นขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขอแสดงความเสียใจกับคุณหมอด้วย คุณหมอมีคุณค่าและกำลังจะมาช่วยดูแลพวกเรา เรื่องนี้สะเทือนใจพวกเราหลายคน และขอโทษสังคมด้วยว่าคนของเรา เด็ก ๆ ของเราในฐานะผู้รักษากฎหมายมาทำผิดเสียเอง มาถึงประเด็นที่ถาม เวลาเกิดเหตุมันเวลา 15.00 น. เศษ ๆ หลังเกิดเหตุ พนักงานสอบสวนมาที่เกิดเหตุเวลาห่างกันสัก 10-15 นาที ตามหลักการ ทรัพย์สินของผู้เจ็บหรือผู้ตาย พนักงานสอบสวนต้องเก็บรวบรวมไปสถานีตำรวจเพื่อเก็บรักษาไว้เป็นทรัพย์สินผู้เกิดอุบัติเหตุ และเพื่อพิสูจน์ทราบว่าผู้เสียชีวิตหรือผู้บาดเจ็บเป็นใคร นี่คือกระบวนการทำงานปกติในการพิสูจน์ทราบคนบาดเจ็บหรือคนตาย ทีนี้เราก็พบแล้วว่าเอกสารผู้ตายเป็นใคร เราก็พยายามค้นหาหลักฐานข้อมูลต่าง ๆ เพื่อประสานงานญาติ ระยะเวลาที่เราตรวจสอบค้นหากินเวลา 20 นาทีเศษ ๆ ไม่เกินครึ่งชม. เราก็อยากโทรศัพท์จากมือถือเครื่องคุณหมอ แต่มันโทรไปไม่ได้ เพราะมันล็อกด้วยระบบ บังเอิญมีเพื่อนุคณหมอคนนึงโทรเข้ามา เราก็บอกว่าช่วยหน่อยเถอะ ช่วยแจ้งญาติหรือผู้เกี่ยวข้อง เราตรวจสอบหลักฐานเบอร์ต่าง ๆ แล้ว มันตรวจสอบไม่ได้ เพื่อนคุณหมอคนนี้ก็พยายามไปขวนขวายหาเบอร์มา สุดท้ายเขาก็หาไม่ได้ ไม่รู้จะติดต่อยังไง บังเอิญโชคดี เวลา 17.00 น. มีอาจารย์แพทย์ท่านนึงโทรเข้ามาพอดี เราเลยบอกท่านไปว่าเกิดเหตุนี้ขึ้นมา ให้ท่านช่วยประสานงานญาติหรือผู้เกี่ยวข้องที ก็ใช้เวลาประมาณ 10 นาที ก็ตกประมาณ 17.30 น. ก็ปรากฏว่าได้เบอร์มา เราเลยแจ้งญาติเขาไป ซึ่งก็สอดคล้องกับเวลาที่สังคมตั้งข้อสังเกตว่า 2 ชม. แปลว่าอะไร ผมยืนยันว่าไม่มีการปล่อยปละละเลยที่จะหาญาติหรือแจ้งผู้เกี่ยวข้อง แต่เราไม่รู้จะโทรหาใครได้ เพราะสอบถามผู้กำกับพญาไท เอาชื่อคุณหมอ คนเกี่ยวข้องที่ค้นพบมาหาในฐานะข้อมูลในระบบต่างๆ ก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเบอร์โทรประสานงานคือใคร แต่โชคดีที่คุณหมอท่านนั้นประสานงานเข้ามา
กำลังจะบอกว่าไม่ได้ละเลย มีการประสานตลอด?
พล.ต.ต.ยิ่งยศ : ไม่ได้ละเลย จากเวลาที่แจ้งคุณหนุ่มคิดว่ามันสมเหตุสมผลมั้ย ถ้าไม่สมเหตุสมผล ลองถามว่าอะไรคือข้อบกพร่องที่ตร.ละเลย ผมเรียนได้เลยว่าเรื่องนี้ไม่มีเหตุผลที่ต้องไปปิดบังอำพราง เราพยายามดำเนินการ ที่สำคัญหลังเกิดเหตุ ผู้ต้องหาไปทำแผลที่รพ.แล้วกลับมา ไม่ทันเท่าไหร่เราก็แจ้งข้อกล่าวหาเลย ไม่ได้ทำอะไรพิสดารไปกว่ากรณีอื่นเลย เราแจ้งข้อกล่าวหาในทันทีทันใน ไม่กี่ชม.นั้นเลย
ท่านอาจย้อนกลับไปเช็กประวัติการขับขี่ตร.นายนี้?
พล.ต.ต.ยิ่งยศ : ในเรื่องพฤติกรรมขับขี่ ความผิดอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เต็มอัตราอยู่แล้ว อย่างที่ท่านผู้บังคับบัญชาตำรวจแห่งชาติ ไม่ต้องสั่งเลย สน.พญาไทดำเนินการทุกข้อกล่าวหา ผบ.ตร.ท่านก็กำชับว่าเรื่องนี้ต้องพิสูจน์ให้สังคมเห็นถึงความเอาจริงเอาจังโดยเร็วที่สุด อาจเป็นข้อผิดพลาดของฝ่ายประชาสัมพันธ์ของผมเองที่ออกมาคุยให้สังคมฟังช้าไปนิดนึง อันนี้ผมยอมรับว่าอาจประชาสัมพันธ์ หรือมาบอกเล่าช้าไป เลยเกิดประเด็น ตั้งข้อสังเกตต่างๆ นานาไป แต่เท่าที่ผมเล่าให้ฟัง ผมคิดว่าพนักงานสอบสวนสน.พญาไทดำเนินการอย่างเต็มที่และไม่ได้ปล่อยปละละเลยอะไรเลย
มุมตร.ได้กำชับผู้ใต้บังคับบัญชามั้ยเรื่องการใช้รถมอเตอร์ไซค์ต้องใช้รถที่ถูกกฎหมาย?
พล.ต.ต.ยิ่งยศ : ตลอดเวลา มีหลายรายโดนดำเนินการเรื่องใช้รถผิดประเภท ผิดกฎหมาย ใช้รถผิดกฎจราจร มันมีเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ยกตัวอย่าง เด็กๆ คุณพ่อคุณแม่บอกอย่ากินเหล้าสูบบุหรี่แล้วทำไมถึงมีเด็กกินเหล้าสูบบุหรี่ ครูบาอาจารย์ก็สั่งสอนว่าอย่าเล่นการพนันนะ ทำไมบางท่านถึงเล่นการพนัน ก็เป็นเรื่องของมนุษย์ที่ฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร แต่เราดำเนินการเคร่งครัดอยู่แล้ว
แต่เดี๋ยวจะมีคนแย้ง ว่านี่คือตร. ไงครับ ผู้รักษากฎหมาย?
พล.ต.ต.ยิ่งยศ : ผมยอมรับว่าเป็นผู้รักษากฎหมายก็ต้องดำเนินการในทางวินัยเคร่งครัดหรือมากกว่าคนปกติ การเฆี่ยนตีต้องมากกว่าปกติอยู่แล้ว ผมยอมรับเลย มากกว่าการทำผิดของคนปกติ เรื่องนี้ผิดมากกว่าคนปกติด้วย ผมในฐานะผู้บังคับบัญชาก็ต้องขอโทษสังคม ว่าคนของเราผิด เราก็ต้องนำไปดำเนินการอย่างเด็ดขาด เคร่งครัดต่อไป
กรณีนี้โทษจะมีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มมั้ยนอกจาก 7 คดีนี้?
พล.ต.ต. ยิ่งยศ : ถ้าพบว่ามีอีก ก็ต้องดำเนินการอีก ผมคุยกับผู้กำกับพญาไท ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างสอบสวน ถ้าพบว่ามีอะไรเพิ่มเข้ามาอีก ก็แจ้งไปอีกได้เรี่อย ๆ ตอนนี้ก็เป็นโทษสูงสุดอยู่แล้ว อะไรจะพ่วงมาเป็นความผิดได้ก็ต้องดำเนินการอยู่แล้ว
มีอะไรอยากฝากตร.ใต้บังคับบัญชามั้ย บางคนถืออาวุธปืนไปไล่ยิงชาวบ้าน หรือขับรถโอนลอยมาไม่มีชื่อตัวเองไม่มีพ.ร.บ. ตร.เหล่านี้ท่านอยากบอกอะไรเขามั้ย?
พล.ต.ต. ยิ่งยศ : เหล่านี้เป็นเรื่องที่เราต้องดูแล รักษากฎหมาย ถ้าท่านทำผิดเสียเอง ก็เป็นความผิดร้ายแรงกว่าคนปกติทำ ขอร้องว่านอกจากจะโดนความผิดทั้งวินัยและอาญาแล้ว ยังเป็นเรื่องการเผาบ้านตัวเองทำลายองค์กรให้เสื่อมเสีย ขาดความเชื่อมั่นกับพี่น้องประชาชน ก็ขอร้องว่าทำอะไรให้รอบคอบ และคิดถึงวันแรกที่เราสมัครใจเข้ามา เราปฏิญาณตนว่าจะทำดียังไง คิดถึงคนรอบตัว ลูกหลาน พ่อแม่พี่น้องที่จะได้รับผลกระทบกับการกระทำของเราในวันนี้
นพ.ธนะพงศ์ : เป็นไปได้มั้ยว่าต่อไปการเกิดเหตุบนทางม้าลาย สำนักงานตร.แห่งชาติจะจริงจังในการเอาโทษความผิดที่ไม่ใช่แค่ความประมาทให้สังคมได้ปรากฎชัดว่าทางม้าลายต้องปลอดภัยครับ
พล.ต.ต. ยิ่งยศ : เป็นไปได้ครับ เมื่อกี้คุยกับผู้บัญชาการตร.นครบาล ก็กำลังคุยเรื่องนี้อยู่ว่าถ้าเรื่องนี้เราจะถือโอกาสเอามาเป็นบทเรียน และจะได้จริงจังเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้น และเพิ่มบทลงโทษ จับผู้กระทำความผิดให้จริงจังขึ้น ทางม้าลายตามพ.ร.บ.จรจาร ต้องหยุดให้คนข้าม หรือต้องชะลอรถไม่ว่าจะมีคนหรือไม่มีคน แต่ก็ทำกันจนเป็นมาตรฐานที่เสียหายว่าไม่มีรถคันไหนหยุดชะลอเลยต้องเคร่งครัดการใช้กฎหมายให้มากขึ้น
ท่านรู้สึกยังไง ที่ท่านผบ.ตร.บอกว่าตร.ไม่ดีเหมือนนิ้วที่ต้องตัดทิ้ง วันนี้คนบอกนิ้วจะเป็นโดราเอม่อนอยู่แล้ว?
พล.ต.ต.ยิ่งยศ : ก็แล้วแต่มุมมอง เป็นองค์กรเดียวที่แก้ผ้าให้สังคมพิสูจน์ทราบได้ตลอดเวลา เราอยู่ทุกมิติของสังคม โอกาสเจออะไรผิดพลาดมันมีแน่นอนอยู่แล้ว แต่ผมอยากบอกว่าคนที่รักษากฎระเบียบรักษากฎหมาย ทำตามหน้าที่ ต้องมีเยอะกว่า ไม่งั้นจะอยู่ไม่ได้ ดูข่าวหลายๆ ข่าว ผมมั่นใจว่าตร.ยังเป็นที่พึ่งได้
หลังฟังท่านโฆษกพูดคิดว่ายังไง?
นพ.ธนะพงศ์ : ก็ดีใจที่สำนักงานตร.แห่งชาติจะใช้โอกาสนี้ยกระดับให้ทางม้าลายเป็นจุดที่มีการบังคับใช้กฎหมายเข้มข้น แต่ถ้ามองอีกด้านนึงของคดีนี้ ผมคิดว่าอาจต้องเรียนทางรองผู้การ ให้ช่วยกันกระชับฝั่งพนักงานสอบสวน ผมคิดว่าตัวพฤติการณ์แวดล้อม โดยเฉพาะทำสำนวนแนบฟ้อง ถ้าอธิบายพฤติการณ์ได้ชัดก็จะเป็นดุลยพินิจของศาลชัดเจน คดีนี้โดยหลักๆ โทษที่แรงที่สุดคือข้อแรก ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาม โทษสูงสุดคือจำคุก 10 ปี แต่โดยเคสนี้ พอถึงชั้นศาล ตัดสินมายังไงพอรับสารภาพก็ลดลงมากึ่งนึง แล้วอยู่ในวิสัยที่รอลงอาญาได้ เพราะใน 5 ปีท่านก็รอลงอาญา ก็ไม่มีใครติดคุกข้อหานี้
คุณวัน อยู่บำรุง โพสต์ในเฟซบุ๊กเลยว่าแกมีเรื่องกองปราบให้จับติดคุก 1 คืน แต่พอตร.เอง ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน มันคืออะไร?
พ.ต.อ. สุกิจ : เรื่องปล่อยตัวชั่วคราวเป็นดุลยพินิจของพนักงานสอบสวน คดีนี้เป็นคดีขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ถ้าพนักงานสอบสวนมองแล้วว่าปล่อยตัวชั่วคราว หนึ่งไม่ได้ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ไม่ได้ไปคุกคาม พยาน ก็สามารถใช้ดุลยพินิจตรงนี้ได้ อีกประเด็นคือกรณีนี้ยังไม่ได้ออกหมายจับ หลังเกิดเหตุเขามามอบตัวทันที การปล่อยชั่วคราวก็ต้องมีการลงบันทึกประจำวันเป็นหลักฐานว่าถ้าเรียกมาเมื่อไหร่คุณต้องมาพบ
เรื่องรถมอเตอร์ไซค์ ชื่อไม่ได้เป็นของส.ต.ต.รายนั้นเป็นเจ้าของ เป็นชื่อคุณไพฑูรย์ อยู่เชียงราย เขาบอกว่าเขาขายรถคันนี้ไปนานแล้วเมื่อ 3 ปีก่อน ดูคาติที่ตร.คนนี้ขี่ไปชน เจ้าของเก่าบอกขายให้พ่อค้าไป แล้วเซ็นโอนลอยไปให้ ตร.ไปเอารถคันนี้มาจากไหน อย่างนี้จะมีความเชื่อมโยงยังไง พ.ร.บ.ไม่มี?
พ.ต.อ.สุกิจ : ก่อนมาก็ทำการบ้านมาเบื้องต้น สอบถามผู้บังคับบัญชาของเขา ได้ความมาว่าส.ต.ต.ซื้อรถมาเมื่อเดือนธ.ค. ปี 64 การซื้อขายรถ ประเทศไทยก็ทำแบบนี้เกือบทั้งนั้นคือโอนลอย ลองไปดูตามเต็นท์รถสิ ไม่มีใครโอนเป็นชื่อเจ้าของเต็นท์ เพราะมันมีประเด็นเรื่องเสียภาษี เสียค่าธรรมเนียมในการโอน ถึงแม้เราไปซื้อรถมือสอง ถ้าโอนหลายต่อก็มองแล้วว่าเป็นรถสภาพไม่ดี ขนาดผมซื้อรถมือสองก็ดูตรงนี้ พอโอนลอย อาจไปทอดที่หนึ่ง สอง สาม ไม่โอนกันซะที ก็ฝากประชาชนเวลาขายรถต้องโอนให้ขาด สัญญาซื้อขายต้องระบุให้ชัดเจน อย่างน้อยป้องกันตัวเองเวลาเกิดเหตุขึ้นมาไม่ต้องมารับผิดชอบ นี่เป็นประเด็น
นพ.ธนะพงศ์ : ในมุมความปลอดภัย มีอีกมิติ คือข้อกำหนดกรมการขนส่งทางบก รถมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ที่เกิน 400 ซีซี การจำหน่ายต้องมีการอบรมก่อนจำหน่าย อบรมด้านการขับขี่ปลอดภัย พูดง่ายๆ ต้องไปเรียนรู้ แต่พอโอนกันลักษณะแบบนี้ พูดง่ายๆ ก็ไม่ได้ไปอบรมกันแล้ว อย่างเมื่อกี้ที่เห็น เขาจะสอนว่าถ้ามาถึงทางม้าลายจะชะลอยังไง การคาดการณ์ที่ถูกต้อง เห็นรถข้างหน้าชะลอต้องคาดการณ์ได้ว่าน่าจะมีคนเดิน ต้องบเป็นพื้นฐานการสอนอยู่แล้ว ตรงนี้ผมไม่แน่ใจว่าได้ไปเรียนรู้มั้ย ผมอยากให้มีการมาเข้มกับตรงนี้ ของสิงคโปร์เขาปลูกฝังตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน หลักการข้ามถนนอย่างหนึ่งต้องเน้นย้ำคือต้องมีสติ ทีนี้การมีสติต้องทำให้เขาหันมาจดจ่อกับการข้าม เทคนิคคือการมองซ้ายมองขวา ยกมือ ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ต้องทำให้เกิดขึ้นในบ้านเราตั้งแต่เด็กเลย
แต่เขาไม่ค่อยมีรถเลย ของเราบางทีจอดเรียงกันมันแทรก?
นพ.ธนะพงศ์ : บ้านเราผู้ปกครองไม่กล้าให้มาเดินแบบนี้ เพราะกลัวว่าลูกจะไปไม่ถึงโรงเรียน บางทีรถก็ไม่จอด ตรงนี้มันพันกันอยู่ เรื่องการทำให้การเดินถนนต้องปลอดภัย พื้นที่ทางม้าลายต้องปลอดภัย เป็นเรื่องสำคัญ
ตี๋อยู่บนท้องถนนบ่อย เคยเห็นเหตุการณ์อะไรแบบนี้มั้ย?
ตี๋ : เมื่อปีที่แล้วก็เห็นอยู่ครับ มอเตอร์ไซค์ย้อนศรเพื่อกลับรถ แล้วผู้เสียหายเขามาถูกทางแต่ถูกชนกระเด็นออกมาทางผม ผมก็โยกหลบ แต่คันหลังเขาหลบไม่ทัน ชนหนักมาก กระดูกแขนโผล่ออกมาเลย แต่ไม่ใช่ทางม้าลาย
ตี๋ต้องไปให้การด้วยมั้ย?
พ.ต.อ.สุกิจ : ถูกต้องครับ
เขามาเร็วและแรงมาก?
ตี๋ : เสียงมันดังมาก ดังเข้ามาในหมวกผม ถ้าดังมาในหูแสดงว่าต้องบิดมาแรงอยู่แล้ว
หลังชนคุณหมอไปอยู่ที่พื้น อีกนานมั้ยกว่าจะมีคนมาช่วยไปรพ.?
ตี๋ : ตอนนั้นผมขับรถไปตามเก๋งให้เขาหยุด เพราะมีคนบอกว่าเก๋งชน แต่ทีนี้ผมมีงานต้องส่งให้ลูกค้าด้วย ผมบอกพี่วินว่าช่วยบอกเขาว่าถ้าไม่ผิดก็ให้วนกลับมาดูหน่อยเผื่อมีกล้อง เพราะเขาเห็นว่าพี่เป็นคนชน ผมก็ไปทำหน้าที่ต่อไป ตอนนั้นตัวคุณหมอพยายามกระดิกแขนข้างขวา แต่พลิกไม่ได้ มีเสียงฮัมออกมาจากคอเบา ๆ
มีคลิปเหตุการณ์รถมอเตอร์ไซค์ชนคนบนทางม้าลาย ไม่ใช่คุณหมอ แต่เหตุการณ์เหมือนกันเลย ซัดเต็มๆ เหมือนกัน?
นพ.ธนะพงศ์ : เคสนี้ก็เสียชีวิต เพราะลักษณะการชนของคนเรา ถ้ามีแรงเหวี่ยงเมื่อไหร่ศีรษะจะไปก่อน ศีรษะจะฟาดพื้น พอพูดถึงความเร็ว ถ้าเป็นไปได้ ประสานดร.เอ้ อาจารย์ได้โพสต์เรื่องนี้ และผมคิดว่าได้ข้อคิดสำคัญ เวลาเกิดเหตุบ้านเรา เราต้องการระบบสอบสวนอิสระ เช่นอาจารย์เป็นนายกวิศวกรรมสถาน ให้เขามาพิสูจน์ได้เลยว่าใช้ความเร็วได้เท่าไหร่ ผมคิดว่าน่าจะเรียนเชิญอาจารย์มาช่วยวิเคราะห์เรื่องความเร็ว แกก็ให้มุมมองเรื่องกายภาพการเรียนรู้ด้วย
กรณีทางม้าลายเขามีป้าย มีไฟ แต่จุดคุณหมอถูกชน ไฟเสีย ใครต้องซ่อม?
นพ.ธนะพงศ์ : พื้นที่ของกทม. น่าจะเป็นโจยท์ทีมกทม. ส่วนใหญ่ครึ่งนึงในการเกิดเหตุในบ้านเราน่าจะอยู่เมืองใหญ่ ประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมืองใหญ่มีหลายช่องทาง รถจะเร็ว เหตุก็มักเกิดจากจุดบังสายตา ซึ่งยิ่งหลายช่องทางจะยิ่งมีจุดบังสายตาเยอะ
เวลาตี๋เห็นทางม้าลายมักชะลอ?
ตี๋ : ใช่ครับ เพราะไม่รู้คนจะออกมาตอนไหนครับ
เคยอยู่ดี ๆ โผล่มามีมั้ย?
ตี๋ : มีครับ เป็นเด็กครับ
สถิติน่ากลัวนะ ตายปีนึงบนทางม้าลาย เฉลี่ย 500 คน เกือบ 2 คนต่อวัน?
นพ.ธนะพงศ์ : เป็นสถิติก่อนช่วงโควิดครับ ผมว่าเป็นสัญญาณที่เราต้องทำอะไรกับเรื่องความปลอดภัย อาจต้องหันกลับมาทำทั้งระบบก่อน ทั้งการบังคับใช้ เรื่องกายภาพ ความเสี่ยงจะเกิดชัดเจนเมื่อไหร่ก็ตามต้องข้ามถนนมากกว่า 2 ช่องจราจร หนึ่งช่องยังอยู่ในวิสัยที่คนเดิน ของคุณหมอข้างละ 3 ช่อง เป็น 6 แต่มันมีจุดพักที่เกาะกลางเมื่อไหร่ก็ตามเกิน 2 ก็ถือว่าอันตรายแล้ว บางทีเราอยากได้ไฟเคาท์ดาวน์ แต่ต้องระวังเหมือนกัน อย่างเคสเกิดที่อโศกมนตรี เขาเปิดสัญญาณไฟสั้น เคสน้องนักข่าวที่แกรมมี่ อันนั้นเฟสไฟมันสั้น เขาเห็นตัวเองได้ไฟเขียวก็รีบก้าวออกไป เลนซ้ายหยุด แต่เลนขวาไม่หยุด ก็เสียชีวิตเหมือนกัน สัก 2-3 ปีเหมือนกัน
ในมุมจราจร จะบูรณาการหรือทำอะไรยังไง?
พ.ต.อ. สุกิจ : ขออนุญาตพูดในมุมมองตร. เรื่องอุบัติเหตุทั้งหลายแหล่ การป้องกันและปราบปราม ปลูกฝังให้ประชาชนเคารพกฎจราจรนี่คือประเด็นแรก ดูอย่างต่างประเทศเขาทำตั้งแต่เด็ก แต่ของไทยเรายังน้อยอยู่ สองผมว่าตรงนี้เป็นประเด็นหลักคือเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ณ ขณะนี้เนื่องจากมีการเปลี่ยนระเบียบใหม่ เมื่อเจ้าพนักงานตร.ออกใบสั่ง เราไม่สามารถยึดใบขับขี่ได้ แจกใบสั่งแทน แล้วแต่การกระทำความผิด ใบสั่งครบ 1 ปีก็ขาดอายุความ ผมเชื่อว่าเดี๋ยวนี้ประชาชนไม่กลัวแล้ว เรื่องนี้สำนักงานตร.แห่งชาติและขนส่ง ผมเห็นว่าพยายามทำมาหลายปี ในการออกมาตรการ หนึ่งถ้าถูกออกใบสั่งแล้วไม่ไปชำระ เวลาไปต่อภาษีจะไม่ได้ป้ายสีเหลี่ยมที่แสดงหลักฐานเสียภาษี คุณต้องไปจ่ายค่าปรับก่อน ถึงมารับใบจริง การบังคับใช้กฎหมายต้องบูรณาการทุกหน่วยงาน ไม่ใช่ตร.จับปรับอย่างเดียว
วันนี้ออกใบสั่ง ทำความผิดครบ 1 ปี ขาดอายุความ แล้วก็เริ่มต้นใหม่ แล้วระบบที่เมื่อก่อนที่มีการลิงก์กันระหว่างขนส่งและตร. ใครมี่ใบสั่ง ตร.จะลงข้อมูลคีย์ไว้ เวลาไปต่อใบขับขี่คุณจะเสียแต้มหรือถูกปรับ มันไม่มีจริง?
พ.ต.อ. สุกิจ : มี แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ร้อยเปอร์เซ็นต์
เพราะอะไร?
นพ.ธนะพงศ์ : ผมคิดว่าเรื่องนี้สำนักงานตร.แห่งชาติต้องให้สังคมรู้ว่าไปค้างที่ไหน ในทางปฏิบัติคนลงนามเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งไม่อยากบอกว่าค้างมาเป็นปีแล้ว ไม่แน่ใจว่าท่านรออะไร แต่สิ่งที่ตามมา คือคนรู้สึกว่าใบสั่งไม่ศักดิ์สิทธิ์ บางคนใบสั่งมีเป็น 10-20-30 หรือเคยมีตร.ทางหลวงเคยบุกไปจับ มีใบสั่งค้างอยู่ 96 ใบ ถ้าปล่อยไว้อย่างนี้ พอคนไม่เกรงกลัว เราก็จะเจอแต่คนหน้าเดิมที่เห็นกล้องก็เฉย ๆ ชิล ๆ ผมว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่อันตราย
ท่านรมต.ไม่เซ็นอะไร?
นพ.ธนะพงศ์ : เป็นความร่วมมือกันระหว่างสำนักงานตร.แห่งชาติและกระทรวงคมนาคม ที่จะเชื่อมโยงในลิงก์ข้อมูล เพราะคนออกใบสั่งเป็นตร. พอไปถึงการต่อทะเบียน สมมติคุณหนุ่มเจอ 3 ใบสั่งในปีนี้ พอไปต่อทะเบียน ขนส่งก็ให้ต่อเลย แต่ปกติไม่ควรได้ ควรให้ไปชำระค่าปรับให้เรียบร้อย
เพราะไม่มีการลิงก์กันระหว่างขนส่งและตร.?
นพ.ธนะพงศ์ : ระบบที่คุยกันออกสื่อก็คุยกันมาตั้งนานแล้ว เรารับรู้ว่ามีการจะเชื่อมระบบตั้งนานแล้ว แต่ไม่ขยับกันซะที ก็อย่างที่เรียน อยากให้ท่านรองช่วยสะท้อนเรื่องนี้ให้สังคมช่วยกันรับรู้ ช่วยกันตั้งคำถาม ผมขอถามไปเลยว่าทางคมนานคม ติดว่าจะพร้อมให้เกิดการเชื่อมโยง และบังคับใช้เรื่องนี้อย่างครบวงจรได้ภายในเมื่อไหร่ หรือดีเดย์ไว้เลยว่าก่อนสงกรานต์นี้เราจะมีระบบนี้เกิดขึ้น ทางตร.เองจะได้สบายใจ เพราะตอนนี้ระบบตร. กว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์เป็นระบบอัตโนมัติ เป็นกล้องตรวจจับครับ
โดนมั้ยเรา?
ตี๋ : ไม่มีครับ ไม่เคยกระทำผิดครับ
พ.ต.อ. สุกิจ : ต้องบูรณาการทุกหน่วยงาน ทั้งสำนักงานตร.แห่งชาติ ขนส่ง คมนาคม แล้วก็อยากฝากบอกประชาชนที่รับฟังตรงนี้อยู่ ท่านรองผบ.ตร. ที่รับผิดชอบงานจราจร ท่านก็ไม่ได้นั่งรออย่างเดียว ตอนนี้เรากำลังตรวจสอบ ใครค้างอยู่ 10-20-30 ใบ เดี๋ยวจะขอมอบของขวัญให้คนที่ไม่ยอมมาเสียค่าปรับ ต้องมีการสอบสวนขอศาลออกหมายเรียก ออกหมายจับ แต่กระบวนการตรงนี้ใช้เวลา
นพ.ธนะพงศ์ : สังคมอาจพุ่งเป้าไปที่คนเสียชีวิต แต่จริง ๆ ปีนึงมีคนพิการ บาดเจ็บ ไม่อยากเรียกว่าเป็นภาระ แต่ทำให้ครอบครัวนั้นเขาไปต่อลำบากมาก
ตร.คนนี้มีโอกาสออกจากราชการมั้ย?
พ.ต.อ.สุกิจ : ต้องรอผลสอบทางวินัย ถ้าเป็นการกระทำผิดวินัยร้ายแรง โอกาสออกจากราชการก็มี