กรมชลฯ ขับเคลื่อน โครงการชลประทานอัจฉริยะ บริหารจัดการน้ำแบบองค์รวม โครงการส่งน้ำฯ มูลบน
กรมชลฯ ขับเคลื่อน โครงการชลประทานอัจฉริยะ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ การบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวม (Smart Irrigation) โครงการส่งน้ำฯ มูลบน
วันที่ 8 ธันวาคม 2566 ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลบน จังหวัดนครราชสีมา นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมและรับฟังข้อมูลการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำและบริหารจัดการน้ำ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลบน จังหวัดนครราชสีมา
นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ได้กำหนดนโยบายมุ่งเน้นการยกระดับประสิทธิภาพของพื้นที่ชลประทาน โดยการปรับปรุงระบบชลประทานเดิม พร้อมประยุกต์ใช้ เทคโนโลยีดิจิทัลและการบริหารจัดการน้ำด้วยระบบโทรมาตรและระบบ Internet of Things (IoT) สร้างระบบบริหารจัดการน้ำอัจฉริยะ (Smart Irrigation) ที่สามารถส่งน้ำตามความต้องการใช้น้ำของพืช ควบคุมการเปิดปิดบานประตูน้ำและติดตามรายงานผลการส่งน้ำโดยอัตโนมัติ ทำให้ลดการสูญเสียน้ำ และนำน้ำไปใช้ประโยชน์เพิ่มมูลค่าได้อีก ตลอดจนแนะนำการเพาะปลูกพืชมูลค่าสูง การจัดรูปแปลงและระบบจัดการการเพาะปลูกแบบอัจฉริยะสำหรับแปลงเกษตรกรรมรายย่อยที่ควบคุมการให้น้ำและปุ๋ยทำให้เกิดการประหยัดน้ำและลดค่าใช้จ่าย ส่งเสริมการทำนาเปียกสลับแห้ง ปรับเปลี่ยนการทำเกษตรแบบเดิมที่ “ผลิตมาก แต่สร้างรายได้น้อย” ไปสู่เกษตรสมัยใหม่ที่“ผลิตน้อย แต่สร้างรายได้มาก” สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริมเพิ่มรายได้”
โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลบน ตั้งอยู่ที่ตำบลจระเข้หิน อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ได้เริ่มดำเนินการส่งน้ำตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 (อายุ 25 ปี) มีแหล่งเก็บกักน้ำเขื่อนมูลบนความจุเก็บกัก 141 ล้าน ลบ.ม. สามารถส่งน้ำพื้นที่ชลประทาน 45,798 ไร่ ในพื้นที่โครงการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยการปลูกข้าวเจ้า ร้อยละ 95 % ของพื้นที่ สัดส่วนพื้นที่ปลูกเฉลี่ย 23 ไร่ต่อครัวเรือน ในส่วนที่เหลือมีการปลูกอ้อย ข้าวโพดและมันสำปะหลัง ซึ่งแนวทางการปรับปรุงโครงการมีทั้งแบบมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง อาทิเช่น การประยุกต์ใช้ระบบ Internet of Things (IoT) การจัดทำฐานข้อมูลระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยในการตัดสินใจเรื่องการบริหารจัดการน้ำ สร้างแพลตฟอร์มโดยใช้ Application “RID มีสุข” ที่ให้ข้อมูลที่จำเป็นแก่เกษตรกร เช่น แนะนำการให้น้ำตามสภาพภูมิอากาศ การเตือนภัยโรคและแมลง เป็นต้น รวมทั้งเป็นแพลตฟอร์มเชื่อมโยงเกษตรกรกับผู้ซื้อผลผลิต ทำให้ผลิตได้ตรงตามความต้องการของตลาด การขยายผลระบบการจัดการเพาะปลูกอัจฉริยะ (Smart farm) และแบบมาตรการใช้สิ่งก่อสร้าง อาทิเช่น ปรับปรุงซ่อมแซมดาดคอนกรีตคลองส่งน้ำ ปรับปรุงและเพิ่มอาคารชลประทาน เพื่อช่วยในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่
“ช่วงแรกที่ริเริ่มโครงการ กรมชลประทาน ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้เกษตรกรมีผลผลิตต่อไร่ที่สูงขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ลดความขัดแย้งการใช้น้ำในกลุ่มเกษตรกร สามารถทำสัญญาซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าได้ (Contract Farming) ทำให้เกษตรกรสามารถขายสินค้าได้มากขึ้น รวมทั้งขายสินค้าให้กับต่างประเทศ และสร้างโอกาสการขายคาร์บอนเครดิต จึงเป็นการเพิ่มรายได้สร้างความมั่นคงให้เกษตรกรไทยแบบยั่งยืน ขณะที่กรมชลประทานเองก็สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำของโครงการให้สูงขึ้น โดยระยะต่อไปมีแผนที่จะขยายผลการดำเนินงานไปทุกพื้นที่ชลประทานเพื่อสร้างความมั่นคงของน้ำในภาคการเกษตร ที่สอดรับกับเป้าหมายของกรมชลประทานที่มุ่งเป็นองค์กรอัจฉริยะที่มุ่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำ (Water Security) เพื่อเพิ่มคุณค่าการบริการ ภายในปี 2580” นายวิทยากล่าว
กรมชลประทานมีแผนงานที่จะขยายผลการดำเนินงานไปทุกพื้นที่ชลประทานเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำของโครงการชลประทานเดิม โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และระบบ (IoT) เพื่อช่วยในการควบคุมปริมาณน้ำส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้น้ำตั้งแต่อาคารหัวงานจนถึงแปลงเพาะปลูกของเกษตรกรเพื่อสร้างความมั่นคงของน้ำในภาคการเกษตรต่อไปในอนาคต