มจพ. ส่งดาวเทียมแนคแซท 2 แก่สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) พร้อมปล่อยเข้าสู่วงโคจร ปี’67
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) จัดแถลงข่าวดาวเทียมแนคแซท 2 (KNACKSAT-2) ที่ได้พัฒนาเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยจะนำส่งมอบแก่องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) เพื่อส่งที่สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) พร้อมส่งดาวเทียมแนคแซทขึ้นสู่วงโคจรภายในปีต้นปี 2567
ศ.ดร.สมฤกษ์ จันทรอัมพร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เป็นประธานงานแถลงข่าวพิธีส่งดาวเทียมแนคแซท 2 (KNACKSAT-2) ผศ.ปรีชา อ่องอารี ผู้อำนวยการอุทยานเทคโนโลยี พร้อมด้วยหน่วยงานร่วมวิจัยของเพย์โหลด (Mission Payload) 7 แห่ง คณะผู้บริหาร คณาจารย์ นักศึกษา และ ดร.พงศธร สายสุจริต หัวหน้าโครงการรายงานความเป็นมาการดำเนินโครงดาวเทียมแนคแซท 2 (KNACKSAT-2) สร้างโดย ทีมวิจัย อาจารย์ มจพ. ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อใช้ประโยชน์จากห้วงอวกาศ สามารถเข้าถึงง่ายใช้ทรัพยากรที่จำกัดอย่างมีประสิทธิภาพ แถลงข่าววันพุธที่ 11 ตุลาคม 2566 เวลา 12.00 – 13.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคารบัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน มจพ.
KNACKSAT-2 เป็นโครงการดาวเทียม CubeSat ขนาด 3U (30 x 10 x 10 ซม.) พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งเป็นดาวเทียมที่มีรูปแบบเป็น Ride Sharing Platform Satellite บรรจุเพย์โหลด (Mission Payload) หรืออุปกรณ์เพื่อพันธกิจทั้งหมด 7 ระบบ โดยแต่ละเพย์โหลดเป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง มจพ. กับหน่วยงานภายนอก 7 แห่ง ได้แก่ 1. บริษัท แอดวานซ์ จำกัด (มหาชน ) 2. สถาบันวิจัยดาราศาตร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) 3. มหาวิทยาลัยพะเยา 4. มหาวิทยาลัย Universiti Teknologi MARA (UiTM) ประเทศมาเลเซีย 5. มหาวิทยาลัย University of Perpetual Help System Dalta (UPHSD) ประเทศฟิลิปินส์ 6. โรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ มจพ. และ 7. ศูนย์วิจัยระบบราง มจพ. ทั้งนี้เพย์โหลดที่พัฒนาเพื่อวัตถุประสงค์ ดังนี้ การสาธิตการทำงาน IoT Gateway และภารกิจ Store and Forword การสาธิตการติดตามตำแหน่งและความเร็วรถไฟทางดาวเทียม การทดสอบการถ่ายถาพความละเอียดสูงของอวกาศ การทดสอบเทคโนโลยีการป้องกันรังสีจากอวกาศที่ผลกระทบต่อระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการทดสอบวัสดุและอุปกรณ์ Commercial off-the-shelf