กระทรวงอุตฯ อวดโฉมปั้นเชฟชุมชนดีพร้อม ตอกย้ำ Soft Power อาหารติดอาวุธวัตถุดิบท้องถิ่น รังสรรค์ 22 เมนูเด็ดชุมชนดีพร้อม
กรุงเทพฯ 13 กันยายน 2566 – กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม อวดโฉมการยกระดับวัตถุดิบท้องถิ่นด้วย Soft Power ด้านอาหาร ด้วยการต่อยอดวัตถุดิบพื้นถิ่นผสมผสาน ภูมิปัญญาท้องถิ่นผนวกกับความคิดสร้างสรรค์รังสรรค์กลายเป็นเมนูเด็ดชุมชนดีพร้อม 22 เมนู ที่มีคุณค่า และเกิดมูลค่าเพิ่มให้อาหารไทย พร้อมปั้นเชฟชุมชนดีพร้อม 22 ชุมชนทั่วประเทศ หวังต่อยอดโมเดลต้นแบบ พัฒนาชุมชนด้านอุตสาหกรรมอาหารทั่วประเทศ คาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 25 ล้านบาท
ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินงาน ภายใต้นโยบาย “MIND” ใช้ “หัว”และ“ใจ” ในการทำงานมุ่งสู่ความสำเร็จ 4 มิติ ประกอบด้วย ความสำเร็จ ทางธุรกิจ การดูแลสังคม การรักษาสิ่งแวดล้อม และการกระจายรายได้สู่ชุมชน เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมมีการปรับตัวเข้าสู่วิถีใหม่ได้อย่างสมดุลและยั่งยืน โดยเฉพาะในด้านการกระจายรายได้ให้กับประชาชนด้วยการมุ่งเน้น การสร้างงาน สร้างอาชีพ และพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมได้มี แนวทางการส่งเสริม พัฒนา และยกระดับเศรษฐกิจฐานรากอย่างเป็นระบบ โดยนำกระแส Soft Power ในปัจจุบันที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยผ่านหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งสะท้อนความสำเร็จนโยบายมุ่งส่งเสริมวัฒนธรรม 5F ของรัฐบาล ประกอบด้วย อาหาร (Food) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting) และเทศกาล (Festival) และเพื่อเป็นการตอกย้ำว่าประเทศไทยมีความโดดเด่นด้านอาหารและวัตถุดิบพื้นถิ่น กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เดินหน้าผลักดัน 1 ใน 5F คือ อาหาร (Food) ด้วยการส่งเสริมและพัฒนาภูมิปัญญาและอัตลักษณ์ของอาหารพื้นถิ่น เนื่องจากอาหารไทยเป็น 1 ในอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ และเป็น 1 ใน 15 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์บนฐานขององค์ความรู้ ทรัพย์สินทางปัญญา และการศึกษาวิจัย ซึ่งจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมต่าง ๆ รวมทั้งการผสมผสานต่อยอดการใช้ภูมิปัญญาพื้นถิ่น วัตถุดิบเด่นของพื้นที่มารังสรรค์ด้วยความพิถีพิถันตามวิถีชีวิตพื้นบ้านพัฒนาเป็นเมนูเด็ดที่มีอัตลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาคอันจะก่อให้เกิดการสร้างรายได้เข้าประเทศและเกิดการจ้างงาน ตลอดจนต่อยอดเป็นธุรกิจท่องเที่ยวเชิงคุณภาพในกลุ่มการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Food Tourism หรือ Gastronomy Tourism) อีกด้วย
นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม ได้ขานรับนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมดังกล่าว จึงมุ่งเน้นการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมชุมชนให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจฐานราก โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์มาผนวกกับอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อผลักดันเศรษฐกิจระดับชุมชนให้มีความเข้มแข็งผ่าน “โครงการยกระดับวัตถุดิบท้องถิ่นด้วย Soft Power ด้านอาหาร” หรือเมนูเด็ดชุมชนดีพร้อม เพื่อมุ่งเน้นส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการให้สามารถปรับตัว เพิ่มทักษะการประกอบการธุรกิจด้านอาหารและการเกษตรในการนำความรู้ และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาผสมผสานต่อยอดภูมิปัญญาดั้งเดิมและวัฒนธรรมพื้นถิ่นผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ รังสรรค์เป็น “เมนูเด็ดดีพร้อม” ที่มีคุณค่าและเพิ่มมูลค่าให้กับอาหารพื้นถิ่น โดยใช้แนวคิดเชิงสร้างสรรค์มาประยุกต์ให้เกิดเป็นเมนูที่โดดเด่น เกิดเป็นเชฟชุมชนดีพร้อม (DIPROM Local Chef) หรือผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร (Top Chef) รวมถึงการเรียนรู้เทรนด์ของผู้บริโภค แนวโน้มอาหารแห่งอนาคต การถอดอัตลักษณ์วัฒนธรรมและวัตถุดิบท้องถิ่น เปลี่ยนจุดแข็งมาเป็นจุดขายสร้างเป็นแนวคิดเมนูใหม่ พร้อมทั้งฝึกตกแต่งจานและฝึกเล่าเรื่องให้อาหารดูอร่อย น่าดึงดูด ตลอดจนการให้คำปรึกษาแนะนำด้วยกระบวนการที่เข้มข้นจาก เชฟชุมพล แจ้งไพร เชฟรางวัลมิชลินชื่อดังมาเป็นพี่เลี้ยงอย่างใกล้ชิด เพื่อรังสรรค์พัฒนาวัตถุดิบท้องถิ่นกลายเป็นเมนูเด็ดดีพร้อม 22 เมนู จาก 22 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ เช่น เมนูโสะเส้นดีพร้อม จากวิสาหกิจชุมชนชุมชนไตลื้อเมืองลวงเหนือ จ.เชียงใหม่ เมนูพล่าขลู่ทะเลดีพร้อม จากชุมชนบ้านเก่าริมน้ำประแส จ.ระยอง เมนูส้มมังคุดคัดพรหมโลกดีพร้อม จากชุมชนพรหมโลก จ.นครศรีธรรมราช เมนูเมี่ยงดอกฟ้าดีพร้อม จากร้านอีสานบ้านเฮาฟาร์ม ชุมชนบ้านดุง จ.อุดรธานี และเมนูโวยวายร่ายนมนต์ดีพร้อม จากชุมชนบ้านบางโรง จ.ภูเก็ต เป็นต้น
จากการดำเนินงานโครงการนี้ ดีพร้อมเชื่อว่าจะกระตุ้นให้ชุมชนสามารถปรับตัวและรองรับการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงสามารถยกระดับเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการแข่งขัน สามารถพึ่งพาตนเองได้ เกิดการยกระดับมาตรฐาน การครองชีพ และความเป็นอยู่ของประชาชนในชุมชนให้ดีขึ้น ตลอดจนสามารถนำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ไปถ่ายทอด ให้คนในชุมชนรุ่นต่อไปได้ เพื่อเกิดเป็นชุมชนต้นแบบและโมเดลในการพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมชุมชน ด้านอุตสาหกรรมอาหารและขยายผลไปยังชุมชนพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ขณะเดียวกัน ยังเป็นการสร้างจุดขาย ให้กับชุมชน เกิดกระแสความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ และเป็นแม่เหล็กสำคัญในการดึงดูดรายได้เข้าสู่ชุมชน อันจะสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้ชุมชน ส่งผลให้เศรษฐกิจฐานรากเกิดความแข็งแกร่งได้อย่างยั่งยืน โดยคาดว่าจะสามารถกระตุ้นมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นกว่า 25 ล้านบาท นายใบน้อย กล่าวทิ้งท้าย