สกสว. ดัน Big Data พลิกโฉมเมืองท่องเที่ยวไทยด้วยงานวิจัย

สกสว. เปิดมุมมอง ปั้นซัพพลายใหม่การท่องเที่ยวไทยด้วย Big Data ยกระดับเมืองน่าเที่ยวด้วยงานวิจัยและความร่วมมือของทุกภาคส่วน
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) – หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมกับ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการออกแบบเพื่อสังคม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. และ ทรู คอร์ปอเรชั่น จัดงาน “Routes to Roots Forum” เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 เพื่อเปิดมุมมองใหม่ของการออกแบบการท่องเที่ยวไทยผ่านการใช้ Big data เป็นเครื่องมือในการกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาพื้นที่อย่างแม่นยำ ซึ่งเป็นผลงานวิจัยจากโครงการ “การกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในเมืองรองผ่านการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบคลัสเตอร์จากการวิเคราะห์ข้อมูลบันทึกการใช้บริการโทรศัพท์มือถือ” งบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.)
เอกราช ปัญจวีณิน หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านดิจิทัล และ (รักษาการ) หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกลุ่มธุรกิจองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “Mobility Data เป็นกุญแจสำคัญในการวางยุทธศาสตร์ให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยก้าวข้ามความท้าทายที่เผชิญอยู่ พร้อมสร้างความยั่งยืนให้กับทั้งภาคการท่องเที่ยวและพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ข้อมูลนี้เปิดโอกาสให้เรายกระดับประสบการณ์การท่องเที่ยวได้ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความคล่องตัวในการเดินทาง การบริหารจัดการความหนาแน่นของผู้คนในสถานที่ท่องเที่ยว หรือแม้แต่การนำเสนอประสบการณ์ เส้นทาง หรือแคมเปญการท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่สะท้อนเรื่องราวจากวิถีชีวิตของผู้คนในแต่ละท้องที่ นำไปสู่การสร้างโอกาส กระจายรายได้สู่ผู้ประกอบการและชุมชนให้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น และสร้างความได้เปรียบใหม่ๆ ในการแข่งขันให้กับประเทศไทยบนเวทีโลก”

ศ.ดร.คมกฤต เล็กสกุล รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวเสริมถึงการขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศว่า “งานวิจัยที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเชิงลึกจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชี้ให้เห็นว่า การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่อย่างเป็นระบบสามารถนำไปสู่มุมมองใหม่ในการกำหนดนโยบายที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับคุณค่า ความยั่งยืน และการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ภายใต้วิสัยทัศน์ ‘SRI for All’ ขับเคลื่อนฉากทัศน์ใหม่ของ สกสว. เพื่อพลิกโฉมประเทศสู่อนาคต”

ภายในงาน ผศ.สรายุทธ ทรัพย์สุขและผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย คณะผู้วิจัยจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอความสำคัญของการพัฒนาการท่องเที่ยว โดยมองว่าวิกฤตโควิด 19 ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยจากที่เคยเป็นผู้นำ กลับสามารถฟื้นตัวได้ช้ากว่าหลายประเทศ จึงต้องปั้น ‘ซัพพลาย’ ใหม่ ผ่านการดึงศักยภาพจาก 55 เมืองน่าเที่ยว (เมืองรอง) เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ทั้งยังเป็นการกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวจากที่เคยกระจุกตัวในเมืองหลักไปยังเมืองน่าเที่ยวมากขึ้น กลยุทธ์การท่องเที่ยวแบบคลัสเตอร์ที่เน้นเชื่อมโยงการเดินทางและการสร้างเรื่องราวร่วมของแหล่งท่องเที่ยวจึงเป็นกลยุทธ์ที่ถูกนำมาใช้ และด้วยศักยภาพของการวิเคราะห์ข้อมูลการใช้โทรศัพท์มือถือ (Mobiltiy Data) ทำให้ทำบ่งชี้เครือข่ายการเดินทางของนักท่องเที่ยว ได้ผลลัพธ์เป็นคลัสเตอร์การท่องเที่ยวที่มีจังหวัดเมืองน่าเที่ยวเป็นสมาชิกจำนวน 21 คลัสเตอร์ โดยทำการคัดเลือกคลัสเตอร์ที่มีศักยภาพผ่านตัวชี้วัดทั้งด้านจำนวนและรายได้จากการท่องเที่ยว ระยะเวลาพำนักและระยะเวลาเยี่ยมเยือนเฉลี่ย รวมทั้งปริมาณการเดินทางภายในกลุ่มจังหวัด ทำให้ได้คลัสเตอร์ที่มีศักยภาพที่สุดของแต่ละภาค ได้แก่ ภาคเหนือ: กลุ่มจังหวัดเชียงใหม่-ลำปาง-ลำพูน ภาคกลาง: กลุ่มจังหวัดสุพรรณบุรี-ชัยนาท-อุทัยธานี ภาคอีสาน: บุรีรัมย์-สุรินทร์-ศรีสะเกษ ภาคตะวันออก: จันทบุรี-ตราด ภาคตะวันตก: เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์-สมุทรสาคร-สมุทรสงคราม ภาคใต้: นครศรีธรรมราช-พัทลุง
นอกจากนี้ Mobility Data ยังสามารถวิเคราะห์ลักษณะการท่องเที่ยวภายในคลัสเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม การกระจุกตัวของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่นในคลัสเตอร์นั้น ๆ บทบาทของจังหวัดในแต่ละคลัสเตอร์ การรับมือกับผลกระทบในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งการขยายโอกาสด้านการท่องเที่ยวสู่พื้นที่ใหม่ นอกจากนี้ ยังเกิดการต่อยอดผลการศึกษาผ่านแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวต่าง ๆ และการจัดแคมเปญ Routes to Roots: เส้นทางสำรวจรากวัฒนธรรมไทย เพื่อการเปิดประสบการณ์การท่องเที่ยวผ่านกิจกรรมและเรื่องเล่าจากคนในพื้นที่ด้วยความร่วมกับสื่อสร้างสรรค์อย่าง The Cloud ข้อสังเกตจากการดำเนินการไปบางส่วนพบว่า การพัฒนาเมืองน่าเที่ยวควรเป็นการทำให้เมืองมีความ ‘น่าจดจำ’ ผ่านการสร้างสรรค์และรักษาอัตลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยว มีความ ‘น่าอยู่’ ด้วยการยกระดับคุณภาพชีวิตในพื้นที่ และ ‘น่าค้นหา’ ผ่านการพัฒนากิจกรรม สินค้าและบริการ รวมทั้งการดึงดูดระยะยาวอย่างไม่รู้เบื่อ

ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. กล่าวว่า Mobility Data และ Big Data กำลังกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการออกแบบการท่องเที่ยวที่เข้าถึงได้จริงและเท่าเทียมสำหรับทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งมีข้อจำกัดเฉพาะด้าน Mobility Data สามารถสะท้อนข้อมูลการกระจุกตัวของกลุ่มผู้สูงอายุออกมาได้อย่างแม่นยำ ข้อมูลเหล่านี้จึงเป็นรากฐานในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน บริการ และระบบเดินทางที่ปลอดภัย เข้าถึงได้ และเป็นธรรม นอกจากนั้น “เรามั่นใจว่างานวิจัยชิ้นนี้จะมีส่วนช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้เมืองไทยบนเวทีโลกตามนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ และที่สำคัญที่สุด คือ การสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม” ผศ.สุภาวดีกล่าว

นางสาววัชรี ชูรักษา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ อพท. กล่าวถึงบทบาทของการใช้ข้อมูลเชิงลึกในการวางแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยมองว่า ผลการวิเคราะห์ Big Data ในครั้งนี้ช่วยส่งเสริมการออกแบบพื้นที่ท่องเที่ยวเพื่อสร้างประโยชน์ร่วมแก่ชุมชน ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยวอย่างครอบคลุม พร้อมเน้นย้ำว่าการพัฒนาอย่างเป็นระบบต้องอาศัยห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่เข้มแข็ง เพื่อถ่ายทอด “เสน่ห์ของพื้นที่” และ “อัตลักษณ์ของท้องถิ่น” เช่น อาหาร วิถีชีวิต และบริการในชุมชน ทั้งนี้ กลไกการเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาสังคมต้องทำงานประสานกันในรูปแบบของ Destination Management Organization (DMO) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาท่องเที่ยวที่มีความหมายและยั่งยืนในระยะยาว
ขณะที่ นายช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ The Cloud กล่าวเสริมว่าในฐานะผู้จัดแคมเปญและทริปการท่องเที่ยว Routes to Roots กล่าวเสริมว่า “Mobility Data ไม่ใช่เพียงตัวเลข แต่คือเครื่องมือที่ช่วยส่งเสริมการเล่าเรื่องราวทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของพื้นที่ได้อย่างมีชีวิต” พร้อมเสนอให้ภาคเอกชนใช้ข้อมูลเป็น “หัวเชื้อ” ในการออกแบบเส้นทางใหม่ ๆ และสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่กลับไปพัฒนาท้องถิ่น รวมถึงนำเสนอการออกแบบประสบการณ์การท่องเที่ยวจากผลการวิเคราะห์ผ่าน storytelling และการมีส่วนร่วมของชุมชน
สกสว. ไม่เพียงสนับสนุนการทำวิจัยเชิงลึก แต่ยังมุ่งเน้นให้เกิด การนำไปใช้จริงในพื้นที่ โดยการขยายผลจากเมืองต้นแบบสู่พื้นที่ใหม่ๆ ที่พร้อมเติบโตด้วยคุณภาพ ทั้งในด้านประสบการณ์ท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐาน การออกแบบเพื่อคนทุกกลุ่ม และการสร้างรายได้ที่กระจายทั่วถึงมากขึ้น
Routes to Roots Forum จึงไม่ใช่จุดสิ้นสุดของงานวิจัย แต่คือจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงจริง ที่จะยกระดับศักยภาพพื้นที่ไทยสู่เวทีโลก ด้วยพลังของวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม รวมถึงความร่วมมือของภาคีที่เกี่ยวข้อง
