“เจมส์ จิ” – “มีน พีรวิชญ์” พลิกบทสุดขั้ว สู้ผีใน “ท่าแร่” 7 ส.ค.นี้!

พลิกบทบาทสุดขั้ว ท้าทายการแสดงสุดขีด “เจมส์ จิรายุ” สวดส่งผีลงนรก “มีน พีรวิชญ์” แต่งหญิงสาปผีไม่มีถอย สองความเชื่อ เพื่อปราบสิ่งเดียวใน “ท่าแร่” 7 สิงหาคมนี้ ในโรงภาพยนตร์
ถือเป็นสองนักแสดงชายมากความสามารถของวงการที่ผ่านมาแล้วหลากหลายบทบาททั้ง “เจมส์-จิรายุ ตั้งศรีสุข” (Timeline จดหมาย ความทรงจำ, อโยธยา มหาละลวย) และ “มีน-พีรวิชญ์ อรรถชิตสถาพร” (วอน(เธอ), มอนโด, ธี่หยด 2) ล่าสุดพลิกคาแร็กเตอร์ขั้นสุดโคจรมาปะทะฝีมือกันในบท “คนปราบผี” ที่แตกต่างกันทั้งเรื่องศรัทธา ความเชื่อ และพิธีกรรมในภาพยนตร์สยองขวัญแห่งปีเรื่อง “ท่าแร่” ผลงานกำกับเรื่องใหม่ของสุดยอดผู้กำกับแห่งยุค “คุ้ย-ทวีวัฒน์ วันทา” (ธี่หยด 1-2)
โดยครั้งนี้ “เจมส์ จิรายุ” จะเผชิญหน้าความสยองขวัญครั้งแรกกับบท “บาทหลวงเปาโล” ตัวแทนของ “โลกที่นับถือพระเจ้า” ผู้ถูกเลือกจากดินแดนศักดิ์สิทธิ์ให้มาปราบปีศาจร้ายที่เกินกว่าใครจะรับมือได้ และ “มีน พีรวิชญ์” จะสวมบทบาทที่ยากที่สุดในชีวิตกับบท “แม่เมืองโสภา” หรือ “หมอเหยา” ตัวแทนของ “โลกที่นับถือผี” ผู้ถูกกำหนดจากผีปู่ผีย่าให้รักษาผู้คนด้วยการสื่อสารกับภูตผีเพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย ซึ่งทั้งสองบทบาทต่างก็ต้องทำหน้าที่ปราบผีร้ายตัวฉกาจที่กำลังอาละวาดอยู่ใน “ท่าแร่” ชุมชนอีสานที่มีวัฒนธรรมและความเชื่อที่แตกต่างกันสุดขั้วแห่งหนึ่งของเมืองไทย
งานนี้นักแสดงทั้งคู่ต้องทำการบ้านกันอย่างหนักเพราะล้วนเป็นบทที่ไกลตัวมาก ๆ โดยก่อนจะเริ่มถ่ายทำทั้งสองคนต่างไปเวิร์กช็อปการแสดงและรูปแบบการปราบผีที่ต่างขั้วศาสนาของแต่ละคน ซึ่ง “เจมส์ จิรายุ” ได้เรียนรู้เพิ่มเติมกับบาทหลวงของทางคริสตจักรเพื่อศึกษาวิธีการ ท่าทาง บทสวด รวมไปถึงการสวมชุดยูนิฟอร์ม และการใช้อุปกรณ์ปราบปีศาจตามความเชื่อของศาสนาคริสต์อย่างเข้มข้นเพื่อให้ทุกอย่างออกมาถูกต้องสมบูรณ์แบบที่สุด

“เรื่องนี้เป็นหนังสยองเรื่องแรกของผมเลยครับ ก็หนักพอสมควร ความยากมันอยู่ตรงที่ศาสนาที่เราไม่คุ้นชิน แล้วไม่รู้ว่าเราเล่นอะไรได้บ้างกับการสวมบทเป็น ‘บาทหลวง’ และการปราบผีแบบศาสนาคริสต์มีลักษณะแบบไหน แต่ผมโชคดีที่ได้มีโอกาสเวิร์กชอปกับ ‘คุณพ่ออนุชา ไชยเดช’ (ผู้อำนวยการสื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย) ท่านมีเมตตามาก ให้ข้อมูลทุกอย่างทั้งท่าทางการหยิบจับอุปกรณ์ต่าง ๆ ในพิธีกรรมแบบคริสต์อย่างพระคัมภีร์ ไม้กางเขน น้ำเสกต้องทำยังไง ต้องจับด้วยความมั่นใจ แต่หัวใจหลักคือคำสอนและบทสวดซึ่งมีหลายบทแตกต่างกันไปแต่ละแบบ แต่สิ่งสำคัญคือต้องเชื่อมั่นในศรัทธาของเรา พอได้แกนของอารมณ์หลักแล้วก็ค่อย ๆ พัฒนาคาแร็กเตอร์ภายนอกขึ้นมาอีกทีหนึ่ง ทุกอย่างที่ออกมาทั้งทีมงานและผมก็ศึกษารีเซิร์ชมาพอสมควร และพยายามทำให้เกิดความสมจริงที่สุด ซึ่งแต่ละอย่างมีกฎระเบียบแบบแผน คุณพ่อก็ช่วยดูความถูกต้องและให้คำแนะนำตลอด

และผมก็ได้ทราบข้อเท็จจริงด้วยว่าบาทหลวงที่จะมาทำหน้าที่ปราบปีศาจได้จะต้องไปศึกษาและเรียนรู้อย่างจริงจังกว่าจะได้รับอนุญาตในการทำหน้าที่นี้ แล้วในไทยก็มีบาทหลวงที่ทำหน้าที่ปราบได้ไม่กี่คน มีการประกาศแต่งตั้งเป็นทางการเลยครับ เซอร์ไพรส์มาก ไม่เคยรู้ข้อมูลตรงนี้มาก่อนเลย”
ด้าน “มีน พีรวิชญ์” ก็ต้องสลัดลุคคนเมืองสายแฟชั่นมาเป็นหมอเหยามือฉมัง โดยเปลี่ยนลุคใหม่ตั้งแต่หัวจรดเท้า ใส่ผ้าพื้นเมืองแบบผู้หญิง แต่งหน้าขาว ทาแก้ม ทาปาก นุ่งผ้าถุง ทัดดอกไม้ ออกท่าร่ายรำร้องเพลงและพูดภาษาภูไทร่วมกับหมอแคน ซึ่งกว่าจะสวมบทบาทนี้ได้เขาต้องไปทำเวิร์กช็อปกับหมอเหยาตัวจริงถึงท่าแร่ จังหวัดสกลนคร กับ “แม่หมอโอปอ” หมอเหยาชื่อดังทายาทผู้สืบทอดพิธีกรรมเหล่านี้มาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย และ “ครูคิม-นิติ ไชยวงศ์คต” ผู้ให้คำปรึกษากองถ่ายด้านเครื่องแต่งกาย ภาษา และทำนองเหยาอีกด้วย

“ผมทำการบ้านกับเรื่องนี้หนักมาก เมื่อเทียบกับงานที่รับมาในชีวิต บท ‘หมอเหยา’ คือไกลตัวมาก ไม่มีความรู้ ความเชื่อ ความเข้าใจเลย แต่อยากลองทำอะไรที่มันชาเลนจ์ตัวเอง เราอาจจะคุ้นกับคำว่าหมอผี หมอธรรม อาจารย์ต่าง ๆ หรือพระ พอเรารีเซิร์ชกับทีมงานก็ไปเจอหมอเหยาที่ชื่อ ‘แม่หมอโอปอ’ มันไม่เหมือนภาพจำของคำว่าหมอผีที่เคยได้ยินมา ผมพยายามดูคลิปเขา ยึดแม่หมอเป็นแกนเริ่ม แล้วปรับคาแร็กเตอร์ของแม่หมอกับของเราผสมให้มันพอดี
สิ่งที่ผมค่อนข้างซีเรียสก็คือการทำพิธี เพราะเราอยากให้คลาสสิก อยากให้ถูกตามธรรมเนียมตามประเพณี ผมไปหาแม่หมอที่สกลนคร ไปคุยว่าในพิธีแต่ละซีนแต่ละฉากต้องมีอะไรบ้าง ขอให้เขาจัดให้ดู ต้องมีร้อง มีรำ ภาษาภูไทที่ยากมาก มีหลายซีนที่เล่นแล้วอัดเสียงให้พี่ผู้ช่วยส่งให้แม่หมอดู ส่งไปให้คนเขียนบทดูว่าผ่านหรือไม่ผ่าน ก็ถือว่าได้รับการแอปพรูฟจากเจ้าตัวมาประมาณหนึ่ง ก็พยายามเรียนรู้และฝึกซ้อมให้มากที่สุดเพื่อเข้าถึงจิตวิญญาณความเป็นหมอเหยา

อีกเรื่องก็คือการแต่งตัว การจะเป็นหมอเหยาต้องมีการแต่งกายแบบดั้งเดิม เราต้องแต่งแบบหญิงตามผีบรรพบุรุษของเรา ผ้าถุงต้องแบบนี้ ลายผ้า คาดหัว ในวันที่ไปเจอแม่หมอโอปอ แม่หมอก็แนะนำหลายอย่าง มีให้ลองสวมผ้า สวมสร้อยที่เก่าแก่ผ่านงานพิธีมาแล้วก็มี… เรื่องนี้ฉีกลุคใหม่มากๆ สำหรับผม ทีมงานทุกคนช่วยกันสุด ๆ มันสนุกทุกขั้นตอนจริง ๆ แล้วเราก็เชื่อว่าตัวละครนี้และหนังเรื่องนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับอะไรใหม่ ๆ ได้เจอความสนุกและความหลอนแบบใหม่ ๆ ครับ”
เรียกได้ว่าทั้งสองคาแร็กเตอร์นี้เป็นภาพแปลกใหม่สำหรับวงการภาพยนตร์ไทย เพราะยังไม่มีเรื่องไหนถ่ายทอดเรื่องราวการปราบผีในรูปแบบนี้มาก่อน โดยทั้ง “เจมส์” และ “มีน” ต่างมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำให้ทุกอย่างออกมาสมบูรณ์และสมจริงที่สุด ที่สำคัญคือให้ความเคารพในศาสนา ศรัทธา และความเชื่อของคนอีสานอย่างแท้จริง
เตรียมเผชิญหน้าความสยองเกินคาดและการแสดงสุดท้าทายที่จะเปิดโลกของการปราบผีสุดสะพรึงใน “ท่าแร่” 7 สิงหาคมนี้ ในโรงภาพยนตร์
ตัวอย่างเต็ม:
สกู๊ปเปิด 4 คาแร็กเตอร์สุดหลอน: https://youtu.be/yMgsQKbqf4Q