กรมหม่อนไหม เดินหน้าผลักดัน “ตรานกยูงพระราชทาน” เครื่องหมายแห่งคุณภาพผ้าไหมไทย

“ตรานกยูงพระราชทาน” คือ เครื่องหมายรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานให้ไว้เป็นสัญลักษณ์รับรองคุณภาพผ้าไหมไทย เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาและอัตลักษณ์ของผ้าไหมไทย พร้อมทั้งรักษามาตรฐาน ยกระดับคุณภาพ และส่งเสริมให้ผ้าไหมไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับสากล
กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินหน้านโยบายส่งเสริมการใช้ “ตรานกยูงพระราชทาน” อย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าไหมให้มีความน่าเชื่อถือ เป็นที่รู้จักในระดับสากล และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ผลิตและเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน
นายนวนิตย์ พลเคน อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า การมีตรานกยูงพระราชทาน ติดอยู่บนผลิตภัณฑ์ผ้าไหมเป็นการรับรองว่า ผ้าผืนนั้นผ่านกระบวนการตรวจสอบคุณภาพอย่างเข้มงวด โดยกรมหม่อนไหม ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการกำหนดมาตรฐานผ้าไหมในประเทศไทย จุดเด่นสำคัญของเครื่องหมายรับรองนี้คือการสร้างมาตรฐานกลางเพื่อควบคุมคุณภาพของผ้าไหมไทย ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ พร้อมทั้งกระตุ้นให้ผู้ผลิตใส่ใจในวัตถุดิบและกระบวนการผลิตอย่างจริงจัง
ตรานกยูงพระราชทาน แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ตามกระบวนการผลิตและลักษณะวัตถุดิบ ได้แก่

ตรานกยูงพระราชทานสีทอง (Royal Thai Silk) เป็นผ้าใหม่ที่ผลิตโดยใช้เส้นไหม วัตถุดิบ และกระบวนการผลิตที่เป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้านตั้งเดิมของไทยอย่างแท้จริง
มาตรฐานการผลิตประกอบด้วย
– ใช้เส้นไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านเป็นทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืน
– เส้นไหมต้องสาวด้วยมือลงภาชนะ
– ทอด้วยกี่ทอมือแบบพื้นบ้านชนิดพุ่งกระสวยด้วยมือ
– อาจตกแต่งด้วยเส้นเงิน หรือเส้นทองที่ได้มาตรฐานได้ไม่เกินร้อยละ 20 ในกรณีผ้ายก ผ้าจก ผ้าขิด
ตกแต่งด้วยเส้นเงิน หรือเส้นทองที่ได้มาตรฐานได้ไม่เกินร้อยละ 50
– ย้อมด้วยสีธรรมชาติหรือสีเคมีที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม
– มีความสม่ำเสมอของสี ลวดลายและเนื้อผ้า
– ผลิตในประเทศไทยเท่านั้น

ตรานกยูงพระราชทานสีเงิน (Classic Thai Silk) เป็นผ้าไหมที่ผลิตโดยยังคงอนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้านผสมผสานกับการประยุกต์ใช้เครื่องมือและกระบวนการผลิตในบางขั้นตอน
มาตรฐานการผลิตประกอบด้วย
– ใช้เส้นไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้าน หรือพันธุ์ไทยปรับปรุงเป็นเส้นพุ่ง และ/หรือเส้นยืน
– เส้นไหมสาวด้วยมือหรือเครื่องจักรที่มีกำลังไม่เกิน 5 แรงม้า
– ทอด้วยกี่ทอมือชนิดพุ่งกระสวยด้วยมือ หรือกี่กระตุก
– อาจตกแต่งด้วยเส้นเงิน หรือเส้นทองที่ได้มาตรฐานได้ไม่เกินร้อยละ 20 ในกรณีผ้ายก ผ้าจก ผ้าชิด
ตกแต่งด้วยเส้นเงิน หรือเส้นทองที่ได้มาตรฐานได้ไม่เกินร้อยละ 50
– ย่อมด้วยสีธรรมชาติหรือสีเคมีที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม
– มีความสม่ำเสมอของสี ลวดลายและเนื้อผ้า
– ผลิตในประเทศไทยเท่านั้น

ตรานกยูงพระราชทานสีน้ำเงิน (Thai Silk) เป็นผ้าไหมที่ผลิตด้วยภูมิปัญญาของไทยแบบประยุกต์ ใช้เทคโนโลยีการผลิตเข้ากับสมัยนิยมและเชิงธุรกิจ
มาตรฐานการผลิตประกอบด้วย
– ใช้เส้นไหมแท้เป็นทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืน
– ไม่กำหนดวิธีการสาวและวิธีการทอ
– อาจตกแต่งด้วยเส้นเงิน หรือเส้นทองที่ได้มาตรฐานได้ไม่เกินร้อยละ 20 ในกรณีผ้ายก ผ้าจก ผ้าชิด
ตกแต่งด้วยเส้นเงิน หรือเส้นทองที่ได้มาตรฐานได้ไม่เกินร้อยละ 50
– ย้อมด้วยสีธรรมชาติหรือสีเคมีที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม
– มีความสม่ำเสมอของสี ลวดลายและเนื้อผ้า
– ผลิตในประเทศไทยเท่านั้น

ตรานกยูงพระราชทานสีเขียว (Thai Silk Blend) เป็นผ้าไหมที่ผลิตด้วยกระบวนการผลิตและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ผสมผสานกับภูมิปัญญาไทยในด้านลวดลายและสีสันระหว่างเส้นใยไหมแท้กับเส้นใยอื่นที่มาจากธรรมชาติ หรือเส้นใยสังเคราะห์รูปแบบต่างๆ ตามวัตถุประสงค์การใช้งาม
มาตรฐานการผลิตประกอบด้วย
– ใช้เส้นไหมแท้เป็นส่วนประกอบหลัก มีเส้นใยชนิดอื่นเป็นส่วนประกอบรอง
– ระบุส่วนประกอบของเส้นไหมแท้และเส้นโยชนิดอื่นเป็นร้อยละให้ชัดเจน
– อาจมีการตกแต่งด้วยวัสดุอื่น
– ไม่กำหนดวิธีการผลิต
– ย้อมด้วยสีธรรมชาติหรือสีเคมีที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม
– มีความสม่ำเสมอของสี ลวดลายและเนื้อผ้า
– ผลิตในประเทศไทยเท่านั้น
แม้แต่ละประเภทจะมีเกณฑ์แตกต่างกัน แต่ล้วนมีบทบาทในการส่งเสริมผ้าไหมไทยทั้งด้านการอนุรักษ์และนวัตกรรม เพื่อให้ผ้าไหมไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนในตลาดโลก โดยผ้าไหมที่จะได้รับการรับรองตรานกยูงพระราชทาน ต้องผ่านการตรวจสอบอย่างละเอียดในด้านต่าง ๆ เช่น
• ความเป็นไหมแท้ : ใช้เส้นไหมที่ได้จากหนอนไหมที่กินใบหม่อน ผ่านการทดสอบด้วยวิธีการเผา
• คุณภาพการย้อมสี : สีต้องไม่ตกเมื่อนำไปซัก และต้องปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม
• ความสม่ำเสมอของสี ลวดลาย และเนื้อผ้า : ไม่มีตำหนิ สีไม่ด่าง ลายไม่ขาด
• แหล่งผลิต : ต้องผลิตภายในประเทศไทยเท่านั้น เพื่อยืนยันความเป็นผ้าไหมไทยแท้
กระบวนการตรวจสอบของกรมหม่อนไหมมีทั้งหมด 5 ขั้นตอน ได้แก่ ตรวจสถานที่ผลิตและอุปกรณ์ ตรวจวัตถุดิบ ตรวจกระบวนการผลิต ตรวจคุณภาพผ้าไหม และการรับรองด้วยการติดดวงตราพร้อม 2D Barcode ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้

ตรานกยูงพระราชทาน ยังมีบทบาทสำคัญในด้านการตลาด โดยกรมหม่อนไหม ได้จดทะเบียนเป็นเครื่องหมายรับรองในต่างประเทศแล้วกว่า 35 ประเทศ ครอบคลุมตลาดสำคัญ อาทิ ประเทศสหภาพยุโรป จีน นอร์เวย์ มาเลเซีย สหรัฐอมริกา สิงคโปร์ อังกฤษ อินเดีย ฮ่องกงและญี่ปุ่น เพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ และสร้างโอกาสทางการส่งออกในอนาคต แม้ในปัจจุบันผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน จะยังไม่ได้ส่งออกในปริมาณมาก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นผ้าผืนที่ยังไม่ตัดเย็บสำเร็จ แต่ในประเทศกลับมีแนวโน้มที่ดี โดยข้อมูลจากผู้ผลิตพบว่าผ้าไหมที่ได้รับตรานกยูงพระราชทาน สามารถเพิ่มมูลค่าได้เฉลี่ยมากกว่า 20% และเป็นที่ต้องการของตลาดสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน มีเกษตรกรและผู้ผลิตผ้าไหมกว่า 5,000 รายในประเทศไทยได้รับตรานกยูงพระราชทานสีน้ำเงิน รองลงมาคือสีทอง สีเงิน และสีเขียว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่หาได้และคำสั่งซื้อจากลูกค้า

เพื่อส่งเสริมการใช้ตรานกยูงพระราชทานอย่างแพร่หลาย กรมหม่อนไหมได้ดำเนินโครงการ “ธนาคารเส้นไหม” โดยสนับสนุนงบประมาณกลางจำนวน 3 ล้านบาท เพื่อจัดหาวัตถุดิบคุณภาพให้กับกลุ่มเกษตรกรในเกือบ 100 กลุ่มทั่วประเทศ มีเกษตรกรเข้าร่วมแล้วกว่า 1,873 ราย โดยสามารถยืมเส้นไหมไปใช้ในการผลิตผ้าตามมาตรฐานที่กำหนด

จากการดำเนินงานที่ครอบคลุมทุกมิติ กรมหม่อนไหม มุ่งหวังให้เกษตรกรและผู้ประกอบการหันมาใช้มาตรฐานตรานกยูงพระราชทานอย่างกว้างขวาง เพื่อสร้างคุณภาพที่ยั่งยืนให้กับผ้าไหมไทย ไม่เพียงแค่อนุรักษ์ภูมิปัญญาดั้งเดิม แต่ยังเปิดประตูสู่โอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจและความภาคภูมิใจในความเป็นไทยอย่างแท้จริง

