กรมพัฒนาธุรกิจฯ ปั้น 233 ผู้ประกอบการชุมชน สร้างมูลค่าการค้าทะลุ 100 ล้านบาท!

กรมพัฒนาธุรกิจฯ โชว์ผลสัมฤทธิ์ ‘SMART Local ME-D’ ปั้น 233 ผู้ประกอบการชุมชน สร้างมูลค่าการค้าทะลุ 100 ล้านบาท พร้อมมอบประกาศเชิดชู 60 ราย ต่อยอดแรงบันดาลใจทางธุรกิจ
‘SMART Local ME-D’ จุดพลังความสำเร็จธุรกิจชุมชนไทย เมื่อ ‘ของดี’ ในชุมชนถูกปั้นอย่างมีกลยุทธ์กลายเป็น ‘ของเด่น’ ในตลาดยุคใหม่ สอดรับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจตุพร บุรุษพัฒน์) ‘ไทยทำ ไทยใช้ ไทยช่วยไทย’ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้า และเปิดพื้นที่ให้สินค้าไทย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประกาศความสำเร็จการปั้นธุรกิจชุมชนสู่แบรนด์ไทยคุณภาพที่พร้อมแข่งขันในตลาด ผ่านโครงการ SMART Local ME-D พัฒนา 233 ราย ขับเคลื่อนสู่เวทีการค้าที่ยั่งยืน พร้อมดึงศักยภาพตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชนมีดีในเส้นทาง L-U-C-K ยกของดีจากลำพูน อุดรธานี ชุมพร และกาฬสินธุ์ เพราะ ‘ความมีดี’ ไม่ควรอยู่แค่ในท้องถิ่น คาดสร้างมูลค่าการค้าทะลุ 100 ล้านบาท ส่งผลลัพธ์ต่อเนื่องให้เศรษฐกิจชุมชนสามารถเติบโตได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีแถลงผลสำเร็จ ผู้ประกอบการชุมชนมีดี : SMART Local ME-D ณ ห้องบุรฉัตรไชยากร ชั้น 4 กระทรวงพาณิชย์ ว่า งานในวันนี้ (14 ก.ค.68) เป็นความภาคภูมิใจของกรมฯ ที่ได้ส่งเสริมผู้ประกอบการชุมชนรวมทั้งสิ้น 233 ราย ผ่านโครงการ SMART Local ME-D เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าและเปิดพื้นที่ให้สินค้าไทย สอดรับกับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจตุพร บุรุษพัฒน์) ‘ไทยทำ ไทยใช้ ไทยช่วยไทย’ โดยตั้งเป้าว่าจะสร้างมูลค่าการค้าได้มากกว่า 100 ล้านบาท โครงการนี้ช่วยให้เศรษฐกิจชุมชนมีความเข้มแข็งขึ้นจากการสร้างโอกาสทางการตลาดและพัฒนาศักยภาพให้กับสินค้าชุมชน นำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ และมีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน โดยเส้นทางความสำเร็จของผู้ประกอบการชุมชนมีดี (SMART Local ME-D) กรมฯ เริ่มต้นจากเปลี่ยนแนวคิดให้เป็นโอกาส วางรากฐานธุรกิจให้เติบโตได้จริง และเปิดเส้นทางสู่การเติบโตที่ยั่งยืนผ่าน 4 ขั้นตอน
อธิบดีอรมน กล่าวต่อว่า “ขั้นตอนที่ 1) SMART Local Clinic ให้คำปรึกษาด้านธุรกิจโดยผู้เชี่ยวชาญ โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมหลักสูตรนี้ 123 ราย เริ่มจากการปรับพื้นฐานพร้อมเปิดมุมมองการทำธุรกิจที่ดี ควบคู่ไปกับการตรวจสุขภาพธุรกิจโดยผู้เชี่ยวชาญที่ช่วยให้คำปรึกษาแบบ one on one coaching โดยได้ลงพื้นที่ไปเปิดคลินิกให้คำปรึกษาด้านธุรกิจใน 4 จังหวัด 4 ภูมิภาค ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา เชียงราย พัทลุง และนครพนม


2) SMART Local Camp ค่ายบ่มเพาะธุรกิจ มีผู้ประกอบการผ่านหลักสูตรนี้ 40 ราย เป็นหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพทักษะการค้าเชิงลึกอย่างเข้มข้น (3 วัน 2 คืน) ใน 5 ทักษะธุรกิจที่เป็นหัวใจสำคัญ อาทิ การสร้างแบรนด์ (Branding & Marketing), การนำเสนอธุรกิจและการเจรจาธุรกิจ (Pitching & Negotiation) และการวางโครงสร้างธุรกิจ (Business Structure) โดยเมื่อวันที่ 11-13 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา กรมฯ ได้นำธุรกิจกลุ่มนี้เข้าร่วมจัดแสดงและจำหน่ายสินค้า ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พระราม 9 คาดว่าจะเกิดมูลค่าการค้ากว่า 20 ล้านบาท
3) SMART Local Connect เชื่อมโยงธุรกิจชุมชนสู่ตลาด ผ่าน 2 กิจกรรม ได้แก่ 1) กิจกรรม SMART Local Matrix-D เชื่อมทุกมิติธุรกิจ สู่คลัสเตอร์แห่งอนาคต นำผู้ประกอบการมีดี 2 รุ่น รวม 50 ราย ต่อยอดเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจในรูปแบบคลัสเตอร์ ช่วยจุดประกายแนวคิดการสร้างเครือข่ายธุรกิจที่หลากหลายและเข้มแข็ง และ 2) กิจกรรม SMART Local ME-D Connect มีธุรกิจชุมชนเข้าร่วม 40 แบรนด์ เป็นการเชื่อมต่อธุรกิจชุมชนสู่ตลาดยุคใหม่ พร้อมเปิดสนามการค้าจริงให้ผู้ประกอบการชุมชนได้นำทักษะทางธุรกิจมาใช้ปฏิบัติจริง แสดงศักยภาพของผลิตภัณฑ์ชุมชนไทยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในกลุ่มผู้บริโภค พร้อมเจรจาจับคู่ธุรกิจกับพันธมิตรทางการค้า


และสุดท้าย 4) SMART Local Communication ลงพื้นที่แหล่งผลิตเพื่อยกระดับภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ชุมชน ดึงความมีดีสร้างจุดขาย และเชื่อมโยงกับเส้านทางการท่องเที่ยว ภายใต้ชื่อเส้นทาง ‘L-U-C-K’ ที่ชูเอกลักษณ์ของ 4 จังหวัด 4 เส้นทาง ใน 20 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ (L) ลำพูน มีดี (U) อุดรธานี มีดี (C) ชุมพร มีดี และ (K) กาฬสินธุ์ มีดี เริ่มจากเส้นทางแรก (L) ลำพูน มีดี ประกอบด้วย 6 ผลิตภัณฑ์ คือ กาละแมลำไยต้าจ๊าง อำเภอเวียงหนองล่อง, ผงเครื่องเทศ ตรา มะเขือพวง อำเภอเมืองลำพูน, ผ้าทอกะเหรี่ยงลายโบราณ บ้านห้วยต้ม by TAKI’ อำเภอลี้, ผ้าฝ้ายทอมือบ้านก้อทุ่ง KT Cotton Studio อำเภอลี้, ชวนหลงเซรามิก อำเภอเมืองลำพูน และปั้นซะป๊ะดงหลวง อำเภอเวียงหนองล่อง เส้นทางที่ 2 (U) อุดรธานี มีดี ประกอบด้วย 5 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ไทหอม ข้าวตอกคั่วกะทิ อำเภอเมืองอุดรธานี, กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก อำเภอเมืองอุดรธานี, Hattra หัตราผ้าไทย อำเภอเมืองอุดรธานี, กลุ่มปั้นหม้อเขียนสี บ้านเชียง และกุญณภัทร สปานาเกลือบ้านดุง อำเภอบ้านดุง เส้นทางที่ 3 (C) ชุมพร มีดี ประกอบด้วย 4 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กาแฟบ้านถ้ำสิงห์ อำเภอเมืองชุมพร, กล้วยเล็บมือนางชุมพรอบแห้ง (ปุณิกา) อำเภอปะทิว, ฮ๊อม หอม กล้วยหอมทองกรอบแก้ว อำเภอสวี และบาติกผาแดงครูอนงค์ อำเภอเมืองชุมพร และเส้นทางที่ 4 (K) กาฬสินธุ์ มีดี ประกอบด้วย 5 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ น้ำปลาร้าแม่บุญล้ำ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์, ขนมข้าวพองอบกรอบ ฮั่งมี อำเภอกุฉินารายณ์, ผ้าไหมแพรวา บ้านโพน อำเภอคำม่วง, มาลัยไม้ไผ่ บ้านกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ และภูไทฝ้ายงาม อำเภอเขาวง
โอกาสนี้ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้มอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ประกอบการชุมชนมีดี (SMART Local ME-D) ที่ผ่านการพัฒนาศักยภาพทักษะการค้า จำนวน 40 ราย และผู้ประกอบการชุมชนในเส้นทาง L-U-C-K จำนวน 20 ราย เพื่อเชิดชูเกียรติและจุดประกายแรงบันดาลใจในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง พร้อมจัดแสดงบูธผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการชุมชนมีดี และเส้นทางตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชนมีดี ‘L-U-C-K’ ที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ ภูมิปัญญา และความคิดสร้างสรรค์สู่การเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพโดดเด่นพร้อมแข่งขันในตลาดจริง


กรมพัฒนาธุรกิจการค้ามุ่งมั่นขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนอย่างต่อเนื่อง ผ่านการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการชุมชนในทุกมิติ ทั้งด้านการบริหารจัดการ การตลาด และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ เพื่อเสริมความเข้มแข็งให้กับธุรกิจชุมชน ซึ่งถือเป็นฐานรากสำคัญของเศรษฐกิจไทยที่พร้อมเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียด หรือ ติดตามกิจกรรมเกี่ยวกับธุรกิจชุมชน ได้ที่ กองธุรกิจภูมิภาคและชุมชน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทรศัพท์ 0 2547 5950 สายด่วน 1570 และ www.dbd.go.th” อธิบดีอรมน กล่าวทิ้งท้าย