“ดีพร้อม” ดันแฟชั่นไทยสู่สากล ปั้นดีไซเนอร์-หัตถกรรมท้องถิ่น เสริม Soft Power

batch_กิจกรรมการพัฒนาหัตถกรรมสิ่งทอไทยระหว่าง_0

“ดีพร้อม”ผลักดัน Soft Power แฟชั่นไทย ปั้นดีไซเนอร์ สานฝันหัตถกรรมสิ่งทอไทย พัฒนาสินค้าชุมชนต้นแบบสู่สากล


กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM) หรือ ดีพร้อม ผลักดันซอฟพาวเวอร์อุตสาหกรรมแฟชั่น เดินหน้าเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้แฟชั่นและหัตถกรรมสิ่งทอระหว่างนักออกแบบไทยและนักออกแบบต่างประเทศ เพื่อพัฒนาสินค้าและยกระดับหัตถกรรมสิ่งทอไทย ตามนโยบาย ดีพร้อมคอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้ มุ่งให้ทักษะ พัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมแฟชั่นให้รู้รับปรับตัว (Resilience) ต่อความท้าทายใหม่ ดึงนักออกแบบทั้งไทยและต่างประเทศร่วมสร้างผลงานร่วมสมัยจากทุนทางวัฒนธรรม เสริมศักยภาพวิสาหกิจชุมชน สู่การเป็นชุมชนต้นแบบในการผลิตสินค้าหัตถกรรมสิ่งทอคุณภาพสูง คาดเพิ่มรายได้เพิ่มยอดขาย ดันสินค้าหัตถกรรมสิ่งทอไทยขายโอกาสสู่ตลาดโลกอย่างยั่งยืน

นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม เดินหน้าขับเคลื่อน Soft Power ของประเทศไทยผ่านกิจกรรมการพัฒนาหัตถกรรมสิ่งทอไทยระหว่างนักออกแบบไทยและนักออกแบบต่างประเทศ ตามนโยบาย ดีพร้อม คอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้ โดยมีเป้าหมายหลักในการเสริมสร้างขีดความสามารถและเพิ่มทักษะนักออกแบบอุตสาหกรรมแฟชั่น เพื่อให้สามารถปรับตัวและแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพในระดับโลก โดยงานหัตถกรรมผ้าไทยมีมูลค่าการส่งออกในปี 2567 จำนวนกว่า 4,606 ล้านบาท ลดลงจากปี 2566 ร้อยละ 8.23 ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เพื่อหวังกระตุ้นการพัฒนาและยกระดับสินค้ากลุ่มหัตถกรรมสิ่งทอ เช่น ผ้าผืนและเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ทอจากฝ้าย ไหม กัญชง หรือใยธรรมชาติอื่น ๆ ที่ทอมือ

กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การนำของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของนักออกแบบในอุตสาหกรรมแฟชั่น โดยมุ่งเน้นทั้งด้านองค์ความรู้ ทักษะ นวัตกรรม และความเข้าใจตลาดโลก ซึ่งไม่เพียงช่วยยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์และบริการเท่านั้น แต่ยังเป็นการต่อยอด Soft Power ของไทย ผ่านการนำเสนออัตลักษณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และคุณค่าทางวัฒนธรรมเชื่อมโยงนักออกแบบสู่การพัฒนาหัตถกรรมสิ่งทอไทยให้มีมูลค่า มีความสวยงาม มีนวัตกรรมใหม่ๆที่ทันสมัย ส่งออกความเป็นไทย ผ่านหัตถกรรมสิ่งทอไทยที่มีความประณีต งดงาม มีมูลค่าไม่แพ้ชาติใดในโลก จึงมอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) ดำเนินการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ไทยในอุตสาหกรรมแฟชั่น เพื่อผลักดันให้ไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำในการผลิตหัตถกรรมสิ่งทอคุณภาพสูงสู่ตลาดสากล

นางดวงดาว กล่าวต่อว่า ดีพร้อม ได้ขานรับนโยบายดังกล่าว ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ไทยด้านอุตสาหกรรมแฟชั่น ผ่านกิจกรรมการพัฒนาหัตถกรรมสิ่งทอไทยระหว่างนักออกแบบไทยและนักออกแบบต่างประเทศ ภายใต้โครงการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้แฟชั่นและหัตถกรรมสิ่งทอระหว่างประเทศ (Reinvented Roots, Resilient Futures) เพื่อพัฒนาเสริมทักษะและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักออกแบบในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ มุ่งหวังผลักดันผลิตภัณฑ์หัตถกรรมสิ่งทอไทยในชุมชน ให้สามารถพัฒนาเป็นสินค้าแฟชั่นที่มีมูลค่าสูง และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการสร้าง Soft Power DNA ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่เน้นการผสมผสานอัตลักษณ์กับความคิดสร้างสรรค์ พร้อมเผยแพร่ผลงานผ่านเวทีระดับนานาชาติ มุ่งหวังสร้างเครือข่ายและเชื่อมโยงระหว่างนักออกแบบไทยและนักออกแบบจากต่างประเทศ

กิจกรรมนี้ได้จัดให้มีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการระหว่างนักออกแบบไทยและต่างประเทศ พร้อมจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการในพื้นที่ชุมชนต้นแบบ เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักออกแบบรุ่นใหม่ได้เข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้อย่างเข้มข้น เพื่อพัฒนาสนับสนุนชุมชน และร่วมกันตีความทุนวัฒนธรรมไทยในมิติใหม่ ผ่านการออกแบบที่ร่วมสมัย สร้างผลิตภัณฑ์คอลเลกชันใหม่ให้ชุมชนต้นแบบที่ตอบโจทย์ตลาดสากล เป้าหมายคาดว่าจะสามารถพัฒนาศักยภาพของนักออกแบบในสาขาอุตสาหกรรมแฟชั่นไม่น้อยกว่า 100  คน สามารถต่อยอดทุนวัฒนธรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าในชุมชนต้นแบบได้ไม่น้อยกว่า 4 ชุมชน พัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอชุมชน รวม 12 คอลเลกชันและส่งเสริม Soft Power แฟชั่นไทยผ่านหัตถกรรมสิ่งทอไทยสู่ระดับสากล กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เชื่อมั่นว่ากิจกรรมนี้จะเป็นเวทีสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจ สร้างเครือข่าย และนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่ ๆ ในวงการหัตถกรรมสิ่งทอไทย เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่มีเอกลักษณ์ และสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดโลกได้

กิจกรรมที่น่าสนใจภายในงานประกอบด้วย Keynote Speaker หัวข้อ “Elevating Thai Soft Power on the world platform” โดย Jayne Simone Esteve Curé ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจแฟชั่น จากฝรั่งเศส และการเสวนา “มุมมองของนักออกแบบไทยในการต่อยอดทุนวัฒนธรรมไทยสู่สากล” โดยนักออกแบบไทย คุณวิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ (แบรนด์ WISHULADA) คุณเฉลิมเกียรติ คติเกษมเลิศ (แบรนด์ WONDER ANATOMIE) และคุณสินชัย เอื้ออัครวงษ์ (แบรนด์ IRIS MONTINI & SPACE ME)   เพื่อแบ่งปันประสบการณ์และมุมมอง สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาหัตถกรรมสิ่งทอไทยระหว่างนักออกแบบไทยและนักออกแบบต่างประเทศ อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไป นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวทิ้งท้าย

กองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม www.facebook.com/dipromindustry

About Author