“วิทยาลัยนานาชาติ PIM ตั้งเป้าใช้ไข่ไก่ Cage-Free 100% ทั่วโลกภายในปี 2028”

วิทยาลัยนานาชาติ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ได้รับคำชื่นชมจากการตั้งเป้าหมายใช้ไข่ไก่จากฟาร์มเลี้ยงแบบไม่ใช้กรง (Cage-Free Eggs) 100% ทั่วโลกภายในปี 2028
กรุงเทพฯ — วิทยาลัยนานาชาติ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ผนึกกำลังกับ IC International Startup Academy (IC I-SA) เดินหน้าสร้าง “นักนวัตกรผู้ประกอบการแห่งอนาคต” หรือ Future Inno-preneurs ที่สามารถขยายผลงานนวัตกรรมสีเขียวสู่ธุรกิจที่ยั่งยืนระดับโลก ล่าสุด วิทยาลัยฯ ได้รับเสียงชื่นชมจาก Lever Foundation องค์กรพัฒนาเอกชนระดับนานาชาติ จากการตั้งเป้าหมายใช้ไข่ไก่จากฟาร์มเลี้ยงแบบไม่ใช้กรง (Cage-Free Eggs) 100% ครอบคลุมทุกการดำเนินงานภายในปี 2028
ด้วยการเป็นชุมชนการศึกษาระดับนานาชาติที่แท้จริง ซึ่งมีนักศึกษาจากกว่า 23 ประเทศ วิทยาลัยนานาชาติแห่งนี้จึงสะท้อนความมุ่งมั่นในการส่งเสริมมาตรฐานด้านความปลอดภัยทางอาหาร ความยั่งยืน และแนวปฏิบัติในการจัดหาอาหารอย่างมีจริยธรรมในแวดวงการศึกษาของไทย
วิทยาลัยฯ ก่อตั้งขึ้นในปี 2556 ภายใต้สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ มหาวิทยาลัยองค์กรแห่งแรกของประเทศไทยในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (C.P. Group) โดยมุ่งพัฒนาผู้ประกอบการที่สามารถขับเคลื่อนธุรกิจยุคใหม่ในระดับนานาชาติ ผ่านกลไกของ IC I-SA ซึ่งเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญในภาคอุตสาหกรรม พัฒนาต้นแบบธุรกิจจริง และนำเสนอผลงานผ่านเครือข่ายระดับสากล ทั้งยังส่งเสริมทักษะผู้ประกอบการ และสนับสนุนการเข้าร่วมเวทีการแข่งขันธุรกิจระดับนานาชาติ
ด้วยแนวทางการเรียนรู้แบบองค์รวม วิทยาลัยนานาชาติของ PIM จึงยึดถือหลักปรัชญาแห่งการสร้างสมดุลระหว่างมิติทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม เพื่อร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทั้งระดับชาติและระดับโลก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วีริสา โชติยะปุตตะ คณบดี วิทยาลัยนานาชาติ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เปิดเผยว่า “ในฐานะมหาวิทยาลัยองค์กรของประเทศไทย เราตระหนักดีถึงบทบาทและความรับผิดชอบในการขับเคลื่อนนโยบายด้านความยั่งยืนให้สอดคล้องกับมาตรฐานระดับสากล การสนับสนุนเป้าหมายการใช้ไข่ไก่จากฟาร์มเลี้ยงแบบไม่ใช้กรง (Cage-Free Eggs) 100% ภายในปี 2028 เป็นภาพสะท้อนของคุณค่าที่เรายึดถือในเรื่องภาวะผู้นำอย่างมีความรับผิดชอบ และแนวปฏิบัติด้านธุรกิจที่โปร่งใส ซึ่งเราตั้งใจปลูกฝังให้นักศึกษาทุกคน”
ทางด้าน คุณภูฬิฎา ศยาวอรานนท์ ผู้จัดการโครงการด้านความยั่งยืนจาก Lever Foundation ซึ่งทำงานร่วมกับทางวิทยาลัยฯ ในการกำหนดนโยบาย กล่าวว่า “เราขอชื่นชม วิทยาลัยนานาชาติ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ที่เป็นผู้นำในการริเริ่มแนวทางการจัดหาอาหารอย่างมีมนุษยธรรมในแวดวงการศึกษาระดับอุดมศึกษาของไทย การสนับสนุนไข่ไก่จากฟาร์มเลี้ยงแบบไม่ใช้กรง (Cage-Free Eggs) 100% ในครั้งนี้ถือเป็นข้อความสำคัญที่ส่งต่อถึงนักศึกษาหลายพันคนว่าการบริหารจัดการซัพพลายเชนอย่างมีจริยธรรมคือหัวใจของธุรกิจยุคใหม่”
การผลิตไข่ไก่จากฟาร์มเลี้ยงแบบไม่ใช้กรง (Cage-Free Eggs) 100% ซึ่งเปิดโอกาสให้แม่ไก่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระภายในโรงเรือนระบบเปิด เป็นหนึ่งในแนวทางที่ยกระดับสวัสดิภาพสัตว์และลดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางอาหารอย่างมีนัยสำคัญ โดยงานวิจัยจากหน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority) ระบุว่า ฟาร์มไข่ไก่จากฟาร์มเลี้ยงแบบไม่ใช้กรงมีโอกาสปนเปื้อนเชื้อซัลโมเนลลาต่ำกว่าฟาร์มที่ใช้กรงถึง 25 เท่า
ปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลก รวมถึงสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร แคนาดา นิวซีแลนด์ ภูฏาน และบางพื้นที่ของอินเดีย ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาตรการยกเลิกการผลิตไข่ไก่ในระบบกรง ขณะที่ผู้บริโภคทั่วโลกจำนวนมากก็หันมาเลือกหลีกเลี่ยงการบริโภคไข่ เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนสวัสดิภาพสัตว์
เกี่ยวกับ Lever Foundation
Lever Foundation เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรระดับนานาชาติ ซึ่งมีเครือข่ายเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานครอบคลุมทั้งเอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้ โดยมีพันธกิจหลักในการร่วมมือกับภาคธุรกิจชั้นนำทั่วโลก เพื่อยกระดับมาตรฐานการจัดหาอาหารให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งผลักดันระบบอาหารที่ให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพสัตว์และความยั่งยืน ผ่านการสนับสนุนโปรตีนทางเลือกจากพืช และแนวทางการจัดหาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม