ฉลาดทิ้งบุกปุณณวิถี! นวัตกรรมจัดการขยะอัจฉริยะ โดย NIA-ทรู-สจล.

เอ็นไอเอ – ทรู – สจล. ส่ง 5 นวัตกรรมไขปัญหาจัดการขยะในเมืองด้วย ”ฉลาดทิ้ง: สถานีจัดการขยะอัจฉริยะ” นำร่องย่านปุณณวิถี – ย่านนวัตกรรมของเมืองกรุง!! จุดประกายเมืองน่าอยู่และการลงทุนธุรกิจสีเขียว
เมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับภาคีเครือข่ายสถาบันการศึกษา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ภาคเอกชน กลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดตัว ‘ฉลาดทิ้ง: สถานีจัดการขยะอัจฉริยะ’ (Waste Wise Station) พร้อมผลักดันการใช้ 5 นวัตกรรมจัดการขยะอย่างอัจฉริยะ ได้แก่ True E-Waste, Oklin, Circular, Refun และ Recycoex เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาขยะล้นเมืองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ลดปริมาณขยะ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสร้างสังคมรีไซเคิลที่ยั่งยืนระดับเมือง ตลอดจนช่วยสร้างโอกาสให้กับกลุ่มธุรกิจนวัตกรรมการจัดการขยะของผู้ประกอบการไทยให้สามารถขยายโมเดลธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า NIA ในฐานะหน่วยงานขับเคลื่อนนวัตกรรมของประเทศภายใต้บทบาท “ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม (Focal Conductor)” พร้อมที่จะเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรและกลไกการทำงานระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนและใช้ประโยชน์จากระบบนวัตกรรมของประเทศ ผ่านการรวมกลุ่มธุรกิจและสร้างอัตลักษณ์เชิงพื้นที่ ดังเช่นการดำเนินงานใน ‘ย่านนวัตกรรมปุณณวิถี’ เพื่อส่งเสริมความเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจนวัตกรรมสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้นและพื้นที่เรียนรู้พัฒนานวัตกรรมสำหรับคนเมือง ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เกิดการลงทุนทางด้านนวัตกรรมแล้ว ยังช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ บ่มเพาะ สร้างสรรค์ธุรกิจ สินค้าและบริการใหม่ ให้สอดรับกับโจทย์ความท้าทายที่ NIA และภาคีเครือข่ายย่านนวัตกรรมปุณณวิถีกำหนดขึ้น เพื่อร่วมแก้ปัญหาเมือง โดยหนึ่งในโจทย์ท้าทายสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขคือ ‘การจัดการขยะภายในเมือง’ ซึ่งกรุงเทพมหานครเป็นแหล่งกำเนิดขยะมากที่สุดในประเทศ แต่ละปีภาครัฐต้องใช้งบประมาณบริหารจัดการขยะในกรุงเทพมหานครมากกว่า 7,000 ล้านบาท ขณะที่ภาคเอกชนต่างมีต้นทุนในการบริหารจัดการของเสียจากกระบวนการผลิตเพิ่มขึ้นทุกปี
“ปัจจุบันประเทศไทยยังขาดโครงสร้างพื้นฐานเมืองที่ช่วยรองรับการทิ้งขยะคัดแยกจากครัวเรือน NIA จึงร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร Punnawithi Tech On Ground สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และศูนย์การทดลองเมืองกรุงเทพฯ (Bangkok City Lab) ออกแบบ ‘ฉลาดทิ้ง: สถานีจัดการขยะอัจฉริยะ’ ในพื้นที่ของทรู ดิจิทัล พาร์ค ซึ่งเป็นศูนย์กลางย่านนวัตกรรมปุณณวิถี เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบการทดลองใช้ 5 นวัตกรรมตู้รับขยะอัจฉริยะ สำหรับขยะ 5 ประเภท ได้แก่ ขยะประเภท E-Waste ขยะประเภทเศษอาหารหรือย่อยอาหารเป็นปุ๋ย ขยะประเภทเสื้อผ้า ขยะประเภทขวดพลาสติก และขยะประเภทน้ำมันเก่า เพื่อช่วยบริหารจัดการขยะภายในเมือง เพิ่มพื้นที่คัดแยกขยะอันเป็นโครงสร้างพื้นฐานเมืองให้กับประชาชน และเพิ่มโอกาสในการพัฒนาธุรกิจในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงโอกาสการขยายธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทย เพราะ Punnawithi Tech On Ground ไม่เพียงเป็นเวทีแสดงนวัตกรรม แต่ยังเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจ นักลงทุน และผู้ประกอบการที่สนใจลงทุนในธุรกิจ ESG & Circular Economy ได้พบปะและสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อขยายตลาดและหาพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งจะช่วยผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับประเทศต่อไป” ดร. กริชผกา กล่าวเพิ่มเติม
นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ทรู คอร์ปอเรชั่น ตระหนักในหน้าที่ของเทคคอมปานีไทยที่ดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ บนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยหนึ่งในเป้าหมายสำคัญในมิติสิ่งแวดล้อม คือ การลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ฝังกลบให้เป็นศูนย์ (Zero e-Waste to landfill) ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านกรุงเทพมหานครสู่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) โดยได้พัฒนาตู้รับขยะอัจฉริยะ True e-Waste Vending Machine ที่ช่วยอำนวยความสะดวกด้วยระบบรับคืน e-Waste อัตโนมัติ พร้อมทั้งแสดงค่าคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าที่ลดลงจากการนำไปรีไซเคิล และมีระบบการรายงานผลการทิ้งแบบ real-time เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ นำไปสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี 100% ตลอดจนสนับสนุนพื้นที่ติดตั้ง ‘ฉลาดทิ้ง: สถานีจัดการขยะอัจฉริยะ’ ในอาคารทรู ดิจิทัล พาร์ค ซึ่งเป็นศูนย์กลางย่านนวัตกรรมปุณณวิถี เพื่อสนับสนุนให้แยกขยะแต่ละประเภทและทิ้งให้ถูกที่ โดยเฉพาะขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างเหมาะสม เป็นไปตามมาตรฐานสากล”
รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยมีความมุ่งมั่นเป็น The World Master of Innovation ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างองค์ความรู้ งานวิจัยด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี แต่ยังเสริมสร้างผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายด้านเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศและการช่วยเหลือสังคม สำหรับการดำเนินงานในโครงการนี้สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของสถาบันในการเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและการวิจัยที่มุ่งเน้นการสร้างผลกระทบเชิงบวก ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ โดยเรามุ่งมั่นที่จะใช้ความรู้และเทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในด้านการจัดการขยะที่กำลังเป็นปัญหาท้าทายในปัจจุบัน โครงการนี้ไม่เพียงแค่ช่วยลดปริมาณขยะ แต่ยังเป็นการส่งเสริมพฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การร่วมมือกับ NIA ในครั้งนี้ ทำให้สถาบันสามารถนำเสนอการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากขยะในเมืองใหญ่และส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่ 13 ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้นในระดับประเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังยังคงมุ่งมั่นในการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมที่ยั่งยืนและสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาสังคมในระยะยาว พร้อมกับการเสริมสร้างองค์ความรู้และผู้เชี่ยวชาญที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม”

ฉลาดทิ้ง: สถานีจัดการขยะอัจฉริยะ ประกอบด้วย 5 นวัตกรรมเครื่องรับขยะอัจฉริยะจากผู้ประกอบการไทย
1) TRUE: E-Waste – ระบบการรายงานผลการทิ้งแบบเรียลไทม์ ชั่งน้ำหนักขยะอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมคำนวณการลดคาร์บอน มุ่งสู่เป้าหมาย Zero Landfill
2) OKLIN: Food Waste เทคโนโลยีชีวภาพกำจัดขยะเศษอาหาร ลดปริมาณขยะได้ถึงร้อยละ 90 และแปรรูปเป็นปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง
3) CIRCULAR: Used Clothes นวัตกรรมรีไซเคิลเสื้อผ้าเก่าเป็นวัสดุใหม่โดยไม่ผ่านการฟอกย้อม ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
4) REFUN: Plastic Waste ตู้รับคืนขวดพลาสติก PET อัตโนมัติ
5) RECYCOEX: Waste Cooking Oil ระบบรับซื้อน้ำมันพืชใช้แล้วเพื่อนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel; SAF) สนับสนุนอุตสาหกรรมการบินที่ยั่งยืน




