ไขข้อสงสัย! เมื่อเจอแผ่นดินไหว ทำไมตึกเก่า ๆ ไม่ร้าวเลย แต่ตึกใหม่ ๆ กลับร้าว?

สงสัยไหมว่าเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ทำไมตึกเก่า ๆ ที่สร้างมานานกลับไม่มีรอยร้าว แต่ตึกใหม่ ๆ บางแห่งกลับแตกร้าวง่ายดาย? วันนี้เราคำตอบของเรื่องนี้!

โดยวันที่ 29 มีนาคม 2568 ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Curiosity Channel คนช่างสงสัย โพสต์ภาพ พร้อมข้อความระบุว่า…

เห็นหลายคนโพสว่า เมื่อเจอแผ่นดินไหว ทำไมตึกเก่า ๆ ไม่ร้าวเลย แต่ตึกใหม่ ๆ กลับร้าว ตึกใหม่ ๆ ไม่แข็งแรงหรือเปล่า

ไม่ใช่ครับ

TLDR สำหรับคนอยากอ่านสั้น ๆ มีคนสรุปมาให้

แผ่นดินไหวทำให้หลายคนสงสัยว่าทำไมตึกใหม่ๆ ร้าว แต่ตึกเก่า ๆ ไม่เป็นอะไร คำตอบคือ “มาตรฐานการออกแบบอาคารสมัยใหม่” ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา เน้นให้โครงสร้างมี “ความเหนียว” ซึ่งต่างจากตึกเก่าที่ออกแบบให้ “แข็งเกร็ง”

• อาคารแข็งเกร็ง (ตึกเก่า) → รับแรงได้น้อย ถ้าเกินขีดจำกัดจะ พังทันที ไม่มีการเตือนล่วงหน้า

• อาคารเหนียว (ตึกใหม่) → ออกแบบให้โก่งตัวและดูดซับแรงแผ่นดินไหวได้ เกิดรอยร้าวก่อนพัง ทำให้มีเวลาให้คนอพยพ

รอยร้าวไม่ได้แปลว่าอาคารอ่อนแอ แต่เป็น “สัญญาณเตือน” ว่ามีการเสียหายและควรให้วิศวกรตรวจสอบก่อนใช้งานต่อ ถ้าตึกใหม่ไม่ร้าวเลย อาจแปลได้ 2 อย่าง:

1. แข็งแรงมาก แรงแผ่นดินไหวยังไม่ถึงระดับที่ทำให้เกิดรอยร้าว

2. อาจไม่ได้ออกแบบให้มีความเหนียวตามมาตรฐาน

ดังนั้น ตึกที่ร้าวหลังแผ่นดินไหวเป็นเรื่องปกติของอาคารสมัยใหม่ เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้อาคาร แต่ต้องให้วิศวกรตรวจสอบความเสียหายก่อนกลับเข้าไปใช้งาน

ถ้าต้องการอ่านยาว ๆ ก็อ่านตรงนี้ครับ

มาตรฐานการออกแบบอาคารรับแผ่นดินไหวใหม่ๆ ตั้งแต่ช่วง 2550 เป็นต้นมา ได้กำหนดให้วิศวกรต้องออกแบบตึกให้มีความ “เหนียว” ในการรับแผ่นดินไหว

ก่อนจะไปพูดถึงความเหนียว เรามาพูดสิ่งที่ตรงข้ามกันก่อน ซึ่งก็คือ “ความแข็ง”

สิ่งที่แข็ง มันจะตามมาด้วยความเปราะเสมอ หรือก็คือ ถ้ามันพัง มันจะพังอย่างฉับพลัน ไม่มีการเตือนใด ๆ เหมือนกับเราพยามหักดินสอ ดินสอมันหักทันที ไม่มีการร้าวก่อน หรือที่วิดวะเรียกว่า “วิบัติแบบทันที” ซึ่งมันจะอันตรายมาก ไม่มีการเตือนก่อนใด ๆ จากตึกดี ๆ นิ่ง ๆ อยู่ ถ้ามันรับแรงไม่ไหว มันจะพังอย่างฉับพลัน ซึ่งทำให้ผู้อยู่อาศัย “หนีไม่ทัน”

แต่อาคารที่เหนียว ตามมาตรฐานการออกแบบสมัยใหม่ ถ้าเจอแรงแผ่นดินไหว มันจะโยกง่ายกว่า แอ่นตัวง่ายกว่า แต่จะยังไม่พังหักพับลงมา เหมือนเราจะพยายามบิดไม้บรรทัดพลาสติก ซึ่งนั่นทำให้เกิดรอยร้าวตามจุดต่าง ๆ ของอาคาร โดยเฉพาะผนัง ซึ่งรอยร้าวนี่แหละ คือสัญญาณเตือนให้ผู้อาศัยรับหลบหนีออกจากอาคาร นั่นเองครับ (และสลายพลังงานแผ่นดินไหว)

และการมีรอยร้าว ไม่ได้ทำให้ตึกอ่อนแอกว่าการไม่มีรอยร้าวนะครับ จริง ๆ แล้ว มันอาจแข็งแรงกว่าด้วยซ้ำ เพราะมันโยกไปโยกมาได้ มันจะสลายแรงแผ่นดินไหวให้กลายเป็นแรงในการโยกแทน ในขณะที่อาคารแบบแข็งเกร็ง จะสะสมแรงแผ่นดินไหวให้กลายเป็น Stress ในองค์อาคาร ถ้าสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทนไม่ไหว มันจะพังอย่างฉับพลันโดยไม่มีสัญญาณเตือนมาก่อน (นึกภาพต้นมะพร้าวเอนตามลม มันจะไม่หัก แต่ถ้ามันฝืนยืนแข็งทื่อ มันจะหักง่ายกว่าครับ)

ดังนั้น การมีรอยร้าวหลังเกิดแผ่นดินไหวนั้น “ดีแล้ว” ถูกแล้ว ตรงตามมาตรฐานการออกแบบอาคารรับแผ่นดินไหวครับ “ร้าวเพื่อไม่ให้ล้ม”

ถ้าไม่มีรอยร้าวเลยสิ น่าคิด โดยเฉพาะตึกเก่า ๆ ที่สร้างมานานแล้ว ส่วนใหญ่จะออกแบบให้เป็นแบบ “แข็งเกร็ง” ครับ

(ขอขยายความคำว่า “ถ้าไม่มีรอยร้าวเลยสิ น่าคิด” เห็นคนตีความกันผิด

คือการไม่ร้าว แค่แปลว่า มันไม่โยกตัว ไม่มีสัญญาณเตือน ไม่ได้แปลว่าไม่แข็งแรง ถ้ามันไม่พัง ก็คือแข็งแรงไง แต่ที่น่าคิด คือ ถ้าตึกสร้างหลังปี 2550 ไม่ร้าว ก็แปลได้ 2 แบบคือ แข็งแรงมาก ยังไม่ถึงจุดร้าวตามที่ออกแบบไว้ กับ ไม่ได้ออกแบบตามมาตรฐานที่ให้มีความเหนียว)

ทำไมแอดมินรู้เรื่องนี้? คือผมสามัญวิศวกรโยธา จบโทด้านอาคารรับแผ่นดินไหว แบบสายตรงเป๊ะกับเรื่องนี้เลยน่ะนะ และยังเป็นผู้ตรวจสอบอาคาร เลขที่ใบอนุญาต บ.2879/2560 , เป็นวิศวกรอาเซียนเลขที่ 2664/2022 , เป็นวิศวกรเอเปค เลขที่ THA-01-00029

(จริง ๆ ไม่อยากจะเล่าหรอกว่าเรามีตำแหน่งงานอะไร เพียงแต่พอมันแมส มันจะมีคนประเภท บอกว่าเอ็งเป็นใคร ไม่รู้จริงอย่ามามั่ว เลยต้องขอใส่เครดิตนิดหน่อย)

ปล. แต่ร้าว ไม่ได้แปลว่าไม่เสียหาย กลับเข้าไปนอนได้นะ ร้าวคือ “การแจ้งเตือน” ร้าวคือ “เสียหาย” นั่นแหละ แต่แค่ “ยัง” ไม่พังพับลงมา เป้าหมายในการทำให้ตึกร้าว คือ เตือนให้ผู้ใช้หนีเป็นเรื่องสำคัญ (และสลายแรง) เอาชีวิตคนมาก่อน ไม่ใช่แปลว่า ร้าว=ตึกปลอดภัยกลับเข้าไปอาศัยได้ ยังไงก็ต้องให้วิศวกรมาประเมินความเสียหายและซ่อมแซมอยู่ดี

ร้าวมาก ๆ ยังไงก็อันตรายอยู่ดี

และไม่มีรอยร้าว ไม่ได้แปลว่าไม่แข็งแรงนะครับ มันก็แข็งแรงแหละครับ แค่อาจไม่มีรอยร้าวเตือนก่อนเนิ่น ๆ เท่านั้นเอง หรือแข็งแรงมาก จนยังไม่ถึงจุดที่มันจะร้าวตามที่ออกแบบไว้ ถ้าจะร้าว แผ่นดินไหวต้องแรงกว่านี้อีก แผ่นดินไหวแค่นี้จิ๊บ ๆ ก็เป็นได้

ไม่มีรอยร้าว แค่ “อาจ” ไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้าไว แต่ไม่ได้แปลว่าไม่แข็งแรงครับ

ขอย้ำบรรทัดสุดท้ายว่า ถ้าออกแบบถูกต้อง ไม่ว่าตึกจะแข็งเกร็ง หรือเหนียว มันจะรับแรงแผ่นดินไหวได้ใกล้เคียงกัน เพียงแต่อันนึงจะร้าวช้า อีกอันจะร้าวไว. และกฏกระทรวงไทยปัจจุบัน ต้องการให้เหนียวครับ

ขอบคุณข้อมูล/ภาพ : เฟซบุ๊ก Curiosity Channel คนช่างสงสัย

About Author