“Whoscall” เผยบล็อกเบอร์มิจฉาชีพไปกว่า 168 ล้านสาย!! ในปี 67

วันนี้ (24 ก.พ.68) นายแมนวู จู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกโกลุก ประเทศไทย และผู้ให้บริการแอปพลิเคชันฮูส์คอลล์ (Whoscall) เปิดรายงานประจำปี 2567 วิเคราะห์สถานการณ์กลโกงของมิจฉาชีพในประเทศไทย โดยปี 2567 พบสายโทรศัพท์และข้อความหลอกลวงถึง 168 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นกว่า 112% จาก 79.2 ล้านครั้งในปี 2566 และถือเป็นยอดที่สูงสุดในรอบ 5 ปีของประเทศไทย
โดยแบ่งรูปแบบภัยออนไลน์ ดังนี้ 1.สายมิจฉาชีพ 38 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 20.8 ล้านครั้ง คิดเป็น 85% และ 2.SMS มิจฉาชีพ จำนวน 130 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 58 ล้านครั้ง คิดเป็น 123% ซึ่งใน 1 วัน ฮูส์คอลล์ สามารถปกป้องผู้ใช้จากการถูกหลอกลวงผ่านการโทรและข้อความ SMS ได้ถึง 460,000 ครั้ง
“อย่างไรก็ตาม การปิดกั้นเบอร์มิจฉาชีพของแอปฯ ยังไม่มีการแชร์ข้อมูลให้กับค่ายโทรศัพท์มือถือ รวมถึงหน่วยงานรัฐบาล เนื่องจากติดปัญหาด้านกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล แต่ยืนยันหากหน่วยงานติดต่อเพื่อขอข้อมูล พร้อมให้ความร่วมมือ” นายแมนวูกล่าว
นอกจากนี้ ยังพบว่าคนไทยเกือบครึ่งประเทศข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ 41% รั่วไหลไปยังที่ต่างๆ เช่น ดาร์กเว็บ (Dark Web) และดีพเว็บ (Deep Web) ในบรรดาข้อมูลส่วนตัวที่รั่วไหลพบว่า 97% เป็น อีเมล และ 88% เป็นเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งอาจมีข้อมูลเช่น วันเดือนปีเกิด ชื่อนามสกุล พาสเวิร์ด รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ หลุดร่วมไปด้วย
เพราะปัจจุบันมิจฉาชีพได้นำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการหลอกลวงอย่างแพร่หลาย ทำให้กลโกงมีความซับซ้อนมากขึ้นและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแนวโน้มการหลอกลวงที่ต้องจับตามอง
ได้แก่ การแอบอ้างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน การฉ้อโกงทางการเงินในหลากหลายรูปแบบ ทั้งผ่านการโทรศัพท์ ข้อความ SMS ลิงก์อันตราย รวมถึง การรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นอย่างน่ากังวล
ดังนั้น ฮูส์คอลล์ มุ่งพัฒนาแอปฯ ร่วมปกป้องผู้ใช้งานและธุรกิจอย่างครอบคลุม โดยนำเทคโนโลยี AI มาพัฒนาแอปฯ ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของกลโกงออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นในทุกรูปแบบ นอกจากนี้ประชาชนควรตื่นตัวและใช้มาตรการเชิงรุกเพื่อปกป้องตนเอง เช่น :
- ดาวน์โหลดแอป Whoscall : ฟีเจอร์ Caller ID จะยังเป็นแนวป้องกันแรกที่สามารถระบุตัวตนของหมายเลขที่ไม่รู้จักแบบเรียลไทม์ ช่วยเตือนภัยสายเรียกเข้าหลอกลวง และสายสแปมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล: ประชาชนควรใช้ความระมัดระวังเมื่อแชร์ข้อมูลส่วนตัวทางออนไลน์ และระวังลิงก์ หรือคำขอที่น่าสงสัย โดยสามารถทดลองใช้ฟีเจอร์ ID Security เพื่อตรวจสอบว่าข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลไปที่ไหนแล้วหรือไม่ เพื่อเพิ่มความระมัดระวังในการติดต่อผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น อีเมล เบอร์โทรศัพท์ และข้อความ SMS
- ตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งทางการ
- สำหรับผู้บริโภค: บริการ Auto Web Checker บนแอปพลิเคชัน Whoscall จะช่วยแจ้งเตือน เมื่อผู้ใช้งานคลิกลิงก์จากข้อความ SMS หรือเว็บบราวเซอร์ เข้าไปยังเว็บไซต์ที่อาจเป็นอันตราย
- สำหรับธุรกิจ: Whoscall Verified Business Number หรือ VBN จะช่วยยืนยันเบอร์โทรศัพท์ของธุรกิจ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจในความถูกต้องของสายโทรเข้า ธุรกิจสามารถใช้โซลูชันนี้เพื่อเสริมสร้างการสื่อสารกับลูกค้า ปกป้องภาพลักษณ์ของแบรนด์ และป้องกันความเสียหายต่อชื่อเสียงจากการถูกแอบอ้าง“
“เราพร้อมทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชนอย่างใกล้ชิดในการลดอัตราการหลอกลวงจากมิจฉาชีพ สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการหลอกลวงดิจิทัล เพื่อปกป้องทั้งผู้ใช้และองค์กรในทุกช่องทาง” นายแมนวู จู กล่าว