CEA เปิดช่วงที่ 2 “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2568” ชูย่านพระนคร, บางลำพู – ข้าวสาร       

CEA ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และมหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดช่วงที่ 2 “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2568” ชูย่านพระนคร, บางลำพู – ข้าวสาร ผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อ ‘กรุงเทพฯ’ ที่ดีกว่า                        

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และมหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดงานช่วงที่ 2 “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2568” หรือ “Bangkok Design Week 2025” (BKKDW2025) ภายใต้แนวคิด “Design Up+Rising: ออกแบบพร้อมบวก+” ระหว่างวันที่ 15 – 23 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งเป็นกิจกรรมงานเปิดย่านพระนครและบางลำพู – ข้าวสาร ผ่านการนำเสนอเสน่ห์ของย่านเมืองเก่าที่ผสมผสานความเป็นเอกลักษณ์และความทันสมัย เพื่อสร้างพลังของการออกแบบที่สะท้อนโอกาสใหม่ ๆ ให้กับกรุงเทพฯ พร้อมโปรแกรมส่งเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่ระดับโลก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง CEA ร่วมกับพันธมิตร เปิดเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 68 รวมพลังออกแบบกรุงเทพฯ ให้ดีกว่าเดิม

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2568 ถือเป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่เชื่อมโยงนักออกแบบ นักสร้างสรรค์ ชุมชน ภาคธุรกิจ ภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาเข้าด้วยกัน เพื่อสร้าง “ระบบนิเวศสร้างสรรค์” ที่แข็งแกร่งสำหรับเมือง พร้อมสนับสนุนและขับเคลื่อนกรุงเทพฯ ในฐานะเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก ด้านการออกแบบ โดยปีนี้ ย่านพระนครและข้าวสารยังคงร่วมเป็นพื้นที่หลักของเทศกาลฯ เช่นเคย พร้อมกับย่านข้าวสาร ที่เข้าร่วมเป็นย่านน้องใหม่ ทั้งย่านพระนครและบางลำพู – ข้าวสาร เปี่ยมไปด้วยประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ความหลากหลาย และอัตลักษณ์ที่โดดเด่น รวมถึงมีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นย่านสร้างสรรค์ที่เติบโตอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต”

“ทั้ง 2 ย่านนี้นำเสนอโปรแกรมน่าสนใจมากมาย เช่น MEGA MAT โดย CEA, สถานทูตเนเธอร์แลนด์, PTT Global Chemicals และ MVRDV Architects ซึ่งเป็นเสื่อพลาสติกรีไซเคิลขนาดใหญ่จากพลาสติกรีไซเคิล ให้ทุกคนสามารถแวะเข้ามานั่งพักผ่อน เป็นเสมือน ‘ห้องนั่งเล่นของเมือง’, Boundless Pleasure งานออกแบบ Projection Mapping ฉายบนศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร หนึ่งในอาคารและพื้นที่สาธารณะสำคัญของย่านพระนคร ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญของนักสร้างสรรค์ที่ทุกคนจะได้เห็นศักยภาพของอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ ด้านการออกแบบ และ บางลำพู’s Art & Craft Market สะท้อนถึงการเชื่อมโยงระหว่างนักสร้างสรรค์ ชุมชน และภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเมือง นอกจากนี้ ยังมีการทดลองแนวคิดใหม่ ๆ อย่างการปรับพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้งานให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนในย่าน ซึ่งช่วยสร้างต้นแบบสำคัญสำหรับการพัฒนาเมืองในอนาคต กรุงเทพมหานครพร้อมนำแนวคิดเหล่านี้ไปต่อยอดและประยุกต์ใช้จริง เพื่อขับเคลื่อนกรุงเทพฯ ให้กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์ที่น่าอยู่ เต็มไปด้วยโอกาส และแรงบันดาลใจสำหรับผู้คนทุกกลุ่ม เพราะเราเชื่อว่าออกแบบดี กรุงเทพฯ ดี”

ศาสตราจารย์ ดร. ธนะเศรษฐ์ ง้าวหิรัญพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร

ด้านศาสตราจารย์ ดร. ธนะเศรษฐ์ ง้าวหิรัญพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า “ปีนี้มหาวิทยาลัยศิลปากรร่วมจัดงานเทศกาลฯ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ในย่านพระนคร โดยกลุ่มมิตรเมือง (Urban Ally) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และเครือข่ายชุมชนในพื้นที่ นอกจากนี้ยังเพิ่มย่านบางลำพู – ข้าวสารในปีนี้ที่ได้พาร์ทเนอร์ใหม่ขับเคลื่อนพื้นที่ให้ผสมผสานประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตัวอย่างโปรแกรม ได้แก่ Little Local Beyond Ordinary ที่เปิดโอกาสให้ศิลปินศึกษาถ่ายทอดอัตลักษณ์ของชุมชน ผ่านมุมมองสร้างสรรค์ที่ผสานอดีตเข้ากับปัจจุบันอย่างลงตัว และ MinutePocket_UrbanBed ที่ทดลองเปลี่ยนพื้นที่ว่างให้เป็นพื้นที่พักผ่อน ส่วนย่านบางลำพู-ข้าวสาร มีโปรแกรมเช่น บางลำพู’s RUNWAY กับงานออกแบบที่สะท้อนรากเหง้าของบางลำพูและ Banglamphu’s Story ที่ใช้ Projection Mapping ถ่ายทอดวิวัฒนาการของย่าน มหาวิทยาลัยศิลปากรเชื่อว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยพัฒนาเมืองให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกและสิ่งแวดล้อม ที่ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ ควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อเมืองที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน”

ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มสำคัญที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมสนับสนุนบทบาทของกรุงเทพฯ ในฐานะเครือข่ายสมาชิกเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก ด้านการออกแบบ  (UCCN – Bangkok City of Design) ซึ่งได้รับการประกาศมาตั้งแต่ปี 2562 โดยเทศกาลฯ มุ่งประยุกต์ใช้ความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ เพื่อเสริมศักยภาพการแข่งขันทั้งในระดับประเทศและสากล ตลอดจนสร้างระบบนิเวศสร้างสรรค์ที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืน”

“สำหรับช่วงที่ 2 ของเทศกาลฯ จัดขึ้นที่ย่านพระนคร และย่านบางลำพู – ข้าวสาร โดยปีนี้มีกิจกรรมที่น่าสนใจมากกว่า 46 โปรแกรมในย่านพระนคร และอีก 42 โปรแกรมในย่านบางลำพู – ข้าวสาร ทั้งหมดนี้จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจและแสดงให้เห็นศักยภาพของงานออกแบบในการขับเคลื่อนกรุงเทพฯ ให้ก้าวสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ระดับโลก ที่เต็มไปด้วยโอกาสและพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์อย่างแท้จริง”

เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2568 จัดงานในกว่า 7 ย่านทั่วกรุงเทพฯ รวมถึงจุดจัดกิจกรรมมากกว่า 180 แห่ง โดยย่านสำคัญในช่วงที่ 2 ได้แก่ ย่านพระนคร, บางลำพู – ข้าวสาร และพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 23 กุมภาพันธ์ 2568 เชิญทุกคนมาสำรวจการผสมผสานระหว่างงานดีไซน์กับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของย่านเมืองเก่า ที่สะท้อนพลังบวกของงานออกแบบในฐานะเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหา สร้างโอกาส และยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมือง นอกจากนี้ ในวันเสาร์และอาทิตย์ที่ 15 – 16 และ 22 – 23 กุมภาพันธ์ 2568 ยังมีย่านหัวลำโพง และบางโพ มาร่วมจัดโปรแกรมสร้างสรรค์ เติมพลังบวกและสร้างแรงบันดาลใจผ่านงานออกแบบในเทศกาลฯ อีกด้วย

ตามเก็บโปรแกรมต่าง ๆ ของเทศกาลฯ ให้ครบทุกพื้นที่จัดงานทั่วกรุงเทพฯ แล้วมาดูกันว่าพลังของงานดีไซน์ จะบวกความเปลี่ยนแปลงได้มากแค่ไหน? มาร่วมขับเคลื่อนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่ทุกคนอยากอยู่ไปพร้อมกัน!

ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ Website: www.bangkokdesignweek.com

About Author