ส.เด็ก กรมการแพทย์ แนะแนวทางให้เด็กและผู้ปกครองป้องกันภัยจาก ฝุ่น PM 2.5
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ แนะแนวทางให้เด็กและผู้ปกครองป้องกันภัยจาก ฝุ่น PM 2.5
กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ชี้ ค่าฝุ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพของทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กและเด็กที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ หากมีอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์ทันที
นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ฝุ่นละออง PM 2.5 คือฝุ่นมีขนาดเล็กกว่าเส้นผมมนุษย์ถึง 25 เท่า ทำให้สูดเข้าไปในร่างกายได้โดยตรง ความรุนแรงของฝุ่น PM 2.5 นี้มีอันตรายต่อเด็กเพราะสามารถแทรกซึมเข้าสู่ร่างกาย และทำลายระบบต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะเด็กเล็กเป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ เด็กที่สัมผัสกับมลพิษทางอากาศในระดับสูงอาจมีความเสี่ยงต่อปอดของเด็ก เนื่องจากยังพัฒนาไม่เต็มที่ มีอัตราหายใจที่ถี่กว่าผู้ใหญ่และสูดอากาศที่มีมลพิษเข้าไปมากกว่าผู้ใหญ่ ยิ่งเด็ก อายุน้อยเท่าไรอัตราการหายใจเข้าต่อนาทีก็ยิ่งถี่มากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรดูแลเด็กทั้งกลุ่มปกติทั่วไปและเด็กที่มีโรคประจำตัวโดยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด