“เจจู แอร์” ติดอันดับ 1 อุบัติเหตุ “การบิน” ร้ายแรงที่สุดในปี 67

เมื่อวันที่ 31 ธ.ค.67 สำนักข่าวรอยเตอร์ ได้รวบรวมข้อมูลอุบัตเหตุด้านการบินจากทั่วโลก ตลอดปี 2567 และได้จัดอันดับความรุนแรงของอุบัติเหตุด้านการบิน โดยพิจารณาจากจำนวนผู้เสียชีวิต ดังนี้


อันดับ 1. เกาหลีใต้

เมื่อช่วงเช้าของวันอาทิตย์ที่ 29 ธันวาคม เครื่องบินโบอิ้ง 737-800 ของสายการบินเจจูแอร์ (Jeju Air) เที่ยวบิน 7C2216 พร้อมผู้โดยสารและลูกเรือรวม 181 ราย เดินทางออกจากกรุงเทพฯ ในเวลา 01.30 น. และมีกำหนดลงจอดในเวลา 08.30 น. ที่สนามบินนานาชาติมูอันของเกาหลีใต้ แต่เครื่องบินประสบอุบัติเหตุไถลออกนอกรันเวย์ขณะลงจอด ก่อนที่เครื่องจะพุ่งชนแท่งคอนกรีตซึ่งเป็นแนวกั้นของสนามบินและเกิดไฟลุกท่วม ส่งผลให้มีผู้โดยสารและลูกเรือเสียชีวิตรวม 179 ราย รอดชีวิตเพียง 2 ราย

เหตุการณ์ดังกล่าวนับเป็นโศกนาฏกรรมด้านการบินที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดของเกาหลีใต้นับตั้งแต่ปี 2540 เมื่อเครื่องบินของสายการบินโคเรียนแอร์ (Korean Air) ตกในเกาะกวม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 225 ราย


อันดับ 2. บราซิล

เครื่องบิน ATR-72 ของสายการบิน Voepass ซึ่งเป็นสายการบินระดับภูมิภาคของบราซิล ประสบอุบัติเหตุตกในเขตที่พักอาศัยใกล้กับเมืองเซาเปาโลเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ส่งผลให้ผู้โดยสารและลูกเรือ 62 รายเสียชีวิตทั้งหมด

รายงานระบุว่า เครื่องบิน ATR-72 ซึ่งเป็นเครื่องบินใบพัด ได้หมุนคว้างบนอากาศแบบไร้การควบคุม ก่อนที่จะตกลงในเขตที่พักอาศัยในเมืองวินเฮโด ซึ่งอยู่ห่างจากเซาเปาโลไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 80 กิโลเมตร


อันดับ 3. คาซัคสถาน

เครื่องบินเอ็มบราเออร์ 190 ของสายการบินอาเซอร์ไบจาน แอร์ไลน์ เที่ยวบิน J2-8243 ซึ่งเดินทางจากกรุงบากู เมืองหลวงของอาเซอร์ไบจาน ไปยังเมืองกรอซนี ประเทศรัสเซีย ตกใกล้กับเมืองอักเตาของคาซัคสถาน เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 39 ราย และมีผู้รอดชีวิต 29 ราย


อันดับ 4. เนปาล

เครื่องบิน CRJ-200 ของเซาร์ยา แอร์ไลน์ (Saurya Airlines) ซึ่งเป็นสายการบินของเนปาล ประสบอุบัติเหตุตกที่สนามบินนานาชาติตริภูวัน ในกรุงกาฎมาณฑุ เมืองหลวงของเนปาล เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม หลังจากกัปตันนำเครื่องขึ้นจากสนามบินได้ไม่นาน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 18 ราย และมีผู้รอดชีวิต 1 รายคือกัปตัน

พยานผู้เห็นเหตุการณ์รายหนึ่งกล่าวว่า เครื่องบินลำดังกล่าวดิ่งลงกระแทกพื้น และได้ยินเสียงระเบิดดังถึงภายในสนามบิน


อันดับ 5. มาลาวี

เซาลอส เคลาส์ ชิลิมา รองประธานาธิบดีของประเทศมาลาวี และผู้โดยสารอีก 9 ราย รวมถึงอดีตสตรีหมายเลขหนึ่ง ชานิล ซิมบิรี เสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน จากอุบัติเหตุเครื่องบินทหารตกระหว่างเดินทางจากกรุงลิลองเวไปยังเมืองมูซู

รายงานระบุว่าเครื่องบินทหารลำดังกล่าวได้เดินทางออกจากกรุงลิลองเวในช่วงเช้าของวันที่ 10 มิถุนายน แต่เจ้าหน้าที่ควบคุมการบินไม่สามารถติดต่อกับเครื่องบินลำดังกล่าวหลังจากนั้น กระทั่งต่อมาเจ้าหน้าที่ได้พบซากชิ้นส่วนของเครื่องบินในบริเวณภูเขาทางตอนเหนือของประเทศ โดยไม่พบผู้รอดชีวิตแต่อย่างใด


อันดับ 6. ไทย

เครื่องบินเช่าเหมาลำ เที่ยวบินที่ TFT209 แบบเครื่อง Cessna Caravan C208B ของบริษัท ไทย ฟลายอิ้ง เซอร์วิส ซึ่งเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิและมีปลายทางที่เกาะไม้ซี้ จังหวัดตราด ประสบอุบัติเหตุตกลงบริเวณป่าชายเลน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ส่งผลให้ผู้โดยสารและลูกเรือเสียชีวิตทั้งหมด 9 ราย


อันดับ 7. อิหร่าน

ประธานาธิบดีอิบราฮิม ไรซี ผู้นำอิหร่าน พร้อมผู้โดยสารและลูกเรืออีก 6 คน เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ Bell 212 ตกในภูมิภาควาร์เซกัน ใกล้ชายแดนอาเซอร์ไบจาน เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม

แหล่งข่าวด้านความมั่นคงเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า สาเหตุของเฮลิคอปเตอร์ตกมี 2 ประการ คือ สภาพอากาศไม่เหมาะกับการบิน และเฮลิคอปเตอร์ไม่สามารถรับน้ำหนักได้ จึงตกลงบนภูเขา โดยการสอบสวนชี้ว่า เฮลิคอปเตอร์บรรทุกผู้โดยสารเกินความจุที่มาตรการรักษาความปลอดภัยกำหนด


อันดับ 8. แคนาดา

มีผู้โดยสาร 6 รายเสียชีวิตหลังจากเครื่องบินของนอร์ธเวสเทิร์น แอร์ (Northwestern Air) ซึ่งเป็นสายการบินของแคนาดาที่บรรทุกคนงานของบริษัทเหมืองแร่ริโอทินโต (Rio Tinto) ประสบอุบัติเหตุตกใกล้กับเมืองฟอร์ตสมิธ ในเขตนอร์ธเวสต์เทร์ริทอรีส์ของแคนาดา เมื่อวันที่ 23 มกราคม ผู้โดยสาร 4 รายและลูกเรือ 2 รายเสียชีวิต และมีผู้รอดชีวิต 1 ราย


อันดับ 9. ญี่ปุ่น

เครื่องบิน Airbus A350-941 ของสายการบินเจแปน แอร์ไลน์ (JAL) ชนเข้ากับเครื่องบินขนาดเล็กของหน่วยยามฝั่ง บนรันเวย์ของสนามบินฮาเนดะในกรุงโตเกียวเมื่อวันที่ 2 มกราคม ผู้โดยสาร 379 รายรอดชีวิตทั้งหมด แต่ลูกเรือของเครื่องบินหน่วยยามฝั่งเสียชีวิต 5 รายจากจำนวนลูกเรือบนเครื่อง 6 ราย


อันดับ 10. สิงคโปร์

มีผู้โดยสาร 1 รายเสียชีวิตจากอาการหัวใจวาย และอีก 30 รายได้รับบาดเจ็บ หลังจากเครื่องบินของสายการบินสิงคโปร์ แอร์ไลน์ เที่ยวบิน SQ321 ประสบเหตุตกหลุมอากาศเมื่อวันที่ 21 พ.ค.

เครื่องบินโบอิ้งรุ่น 777-300ER ของสายการบินสิงคโปร์ แอร์ไลน์ ซึ่งมีผู้โดยสารจำนวน 211 ราย และลูกเรือ 18 ราย ได้เดินทางออกจากสนามบินฮีทโธรว์ กรุงลอนดอน โดยมีปลายทางที่สิงคโปร์ แต่ได้เผชิญกับสภาพอากาศแปรปรวนอย่างรุนแรงและตกหลุมอากาศระหว่างเส้นทาง ทำให้เครื่องบินต้องเปลี่ยนเส้นทางลงจอดที่สนามบินสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 21 พ.ค.ตามเวลาไทย

About Author